Knowledge

Scaffolding บันไดสู่ความสำเร็จในการเรียนรู้ของนักเรียน

Scaffolding บันไดสู่ความสำเร็จในการเรียนรู้ของนักเรียน

 3 years ago 4842

ผู้เขียน: ครูฐาปนีย์ ดวงฉายจรัสไชย ครูจากโครงการ Teach for Thailand
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

ตั้งใจสอนแล้วนักเรียนก็ไม่เข้าใจ
ตั้งใจสอนแล้วนักเรียนก็หลุด ไม่มีสมาธิจดจ่อ
ตั้งใจสอนแล้วนักเรียนก็ทำโจทย์ไม่ได้

          นี่คงเป็นปัญหาที่คุณครูหลายคนพบในห้องเรียน ซึ่งก็เป็นปัญหาที่ครูมิกก็เจอในคาบสอนวิชาคณิตศาสตร์ ให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เช่นกัน

          ในเทอมแรกของการสอนในฐานะคุณครูของมูลนิธิ Teach for Thailand ในโรงเรียนขยายโอกาสแห่งหนึ่งนั้น ครูพยายามเป็นอย่างมากเพื่อสอนให้นักเรียนเข้าใจในบทเรียน ให้นักเรียนทุกคนได้มีส่วนร่วมในการคิด และร่วมกันทำโจทย์ต่างๆ แต่สุดท้ายแล้วผลลัพธ์ คือ นักเรียนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจในหลักการ นักเรียนส่วนใหญ่ยังทำโจทย์ไม่ได้ ทำให้ผลคะแนนในการสอบของนักเรียนหลายคนไม่ผ่านเกณฑ์ ฉันจึงได้มานั่งทบทวนว่าสาเหตุเป็นเพราะว่าอะไรนักเรียนถึงเรียนรู้ได้ไม่ถึงเป้าหมายที่ฉันได้ตั้งไว้ จนได้คำตอบๆว่า เป็นเพราะฉันอัดเนื้อหาใน 1 คาบเรียนแน่นจนเกินไป จนนักเรียนเขาไม่มีสมาธิที่จะจดจ่อกับเราตลอดทั้งการสอนในคาบนั้นๆ และส่งผลให้นักเรียนไม่เข้าใจ ทำไม่ได้

          ครูมิกนึกถึงหลักการหนึ่งที่มีชื่อเรียกว่า Scaffolding โดยมีหนึ่งวิธีสำคัญ คือ การย่อยเนื้อหาใหญ่หนึ่งเนื้อหาออกมาเป็นหลายๆ ส่วน เพื่อให้นักเรียนค่อยๆ ไต่ระดับความเข้าใจจากบันไดขั้นแรก ขึ้นขันไดขั้นถัดไป ถัดไปเรื่อยๆ จนถึงบันไดขึ้นสุดท้าย เหมือนเป็นการให้นักเรียนเก็บเลเวลไล่จากเลเวล 1 ผ่านไปจนถึงเลเวลสูงสุดของเกมส์ๆ หนึ่งได้ และคอยให้นักเรียนได้ทบทวนบันไดขั้นที่นักเรียนก้าวผ่านมาแล้วอยู่อย่างสม่ำเสมอ ด้วยวิธีนี้ นักเรียนจะสามารถจดจ่อ และซึมซับเนื้อหาได้มากขึ้น เพราะใน 1 คาบเรียน คุณครูจะใส่เนื้อหาย่อยลงไปแทนเนื้อหาทั้งหมด ทำให้ใช้เวลาในการอธิบายน้อยลง นักเรียนมีเวลาในการฝึกฝนมากขึ้น สุดท้ายแล้วจากที่นักเรียนสับสน ไม่เข้าใจในหลักการ นักเรียนจะสามารถทำโจทย์ที่เราให้ฝึกในคาบได้ เพราะนักเรียนเข้าใจในหลักการของเนื้อหานั้นๆ มากขึ้นแล้วนั่นเอง

ยกตัวอย่างในคาบคณิตศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เรื่อง การแก้อสมการ
เป้าหมายสูงสุดที่นักเรียนทุกคนจะต้องไต่ขึ้นไปถึง คือ นักเรียนอย่างน้อย 80% สามารถแก้อสมการทั้ง 3 รูปแบบได้
(1) แบบที่มีตัวแปรฝั่งเดียว
(2) แบบที่มีตัวแปรอยู่ทั้ง 2 ฝั่งของอสมการ
(3) แบบที่มีเครื่องหมายอสมการ 2 ตัว โดยที่นักเรียนนำข้อจำกัดในการแก้อสมการมาปรับใช้อย่างถูกต้อง และจากทฤษฎี Scaffolding นี้เอง จึงย่อยเนื้อหาออกเป็นชั้นลำดับ ดังนี้

คาบที่ 1:
นักเรียนสามารถกำจัดตัวเลขให้เหลือแค่ตัวแปรได้อย่างถูกต้อง ผ่านการเล่นเกม ‘ทอยลูกเต๋าฆ่าตัวเลข’ โดยจะเป็นโจทย์ง่ายๆ เช่น
x + 3 < 12
6 - x > 26
4x ≥ 48

คาบที่ 2:
นักเรียนสามารถนำข้อจำกัดไปใช้ในการแก้อสมการได้อย่างถูกต้อง โดยการสอนผ่านกิจกรรม "สเปคในการกลับใจ" (เนื่องจากการแก้อสมการมีข้อจำกัดอยู่ว่า ‘หากนำจำนวนที่ติดลบ มาคูณหรือมาหาร จะต้องกลับเครื่องหมายของอสมการให้เป็นตรงกันข้าม’ คุณครูจึงปรับวิธีการอธิบายให้นักเรียนจำได้ง่าย โดยการให้นักเรียนจำลองสถานการณ์ว่า หากมีใครคนหนึ่งเข้ามาในชีวิตเรา แล้วเราจะ’กลับ’ใจไปชอบเขา เปรียบได้กับการกลับเครื่องหมายนั่นเอง เขาคนนั้นจะต้องมีสเปคตรงตามสองข้อนี้ คือ [1] เป็นคนที่มีเครื่องหมายติดลบ [2] เป็นคนที่เข้ามา คูณหรือหาร กับเรา)
 
คาบที่ 3:
นักเรียนสามารถแก้อสมการในรูปแบบที่มีสัมประสิทธิ์กำลังคูณกับตัวแปร และมีตัวเลขกำลังบวก/ลบอยู่ด้วย ได้อย่างถูกต้อง ผ่านการทำแบบฝึกหัด และคุณครูคอยช่วยเหลือ

คาบที่ 4:
นักเรียนสามารถแก้อสมการในรูปแบบที่มีตัวแปรอยู่ทั้งสองฝั่งของอสมการได้อย่างถูกต้อง ผ่านการทำแบบฝึกหัด และคุณครูคอยช่วยเหลือ

คาบที่ 5:
นักเรียนสามารถแก้อสมการในรูปแบบที่มีเครื่องหมายอสมการสองตัวได้อย่างถูกต้อง ผ่านการทำแบบฝึกหัด และคุณครูคอยช่วยเหลือ

          โดยในช่วงท้ายของแต่ละคาบ คุณครูจะใส่วิธีการประเมินความเข้าใจของนักเรียนในรูปแบบต่างๆ ไป เพื่อความมั่นใจว่านักเรียนสามารถทำได้ด้วยตัวเองแล้วจริงๆ และพร้อมที่จะเดินก้าวขึ้นไปสู่บันไดขั้นถัดไป ซึ่งพอจบทั้งกระบวนการใน 5 คาบนี้ จะทำให้นักเรียนไปถึงเป้าหมายสูงสุดที่คุณครูตั้งไว้ได้

อ้างอิง:
บทความ Scaffolding จาก https://www.edglossary.org/scaffolding/


TAG: #การจัดการเรียนรู้ #Scaffolding #เทคนิคจัดการเรียนการสอน