Knowledge

COVID-19 กับการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ

COVID-19 กับการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ

 3 years ago 5613

เรียบเรียง: ภรณี ลัคนาภิเศรษฐ์
แปล: ธนิสรา สุทธานันต์
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

          ในช่วงที่ครูส่วนมากกำลังวุ่นอยู่กับการเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนรู้ออนไลน์สำหรับช่วงเปิดเทอมที่จะมาถึง ยังมีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่เราไม่ค่อยได้พูดถึงกันสักเท่าไรในสถานการณ์นี้ คือกลุ่มเด็กที่มีความต้องการพิเศษ (Special Needs) ในช่วงสถานการณ์ปกติ เด็กกลุ่มนี้คือเด็กที่ครูควรให้ความสนใจ และตอบสนองต่อความต้องการพิเศษที่เฉพาะของเขาอยู่แล้ว ยิ่งในสถานการณ์ COVID-19 ที่การจัดการเรียนการสอนไม่สามารถทำได้เหมือนปกติ ครูยิ่งต้องเพิ่มความใส่ใจ และให้ความช่วยเหลือพวกเขามากขึ้น หัวใจสำคัญคือ ครูจะต้องทำงานร่วมกับ “พ่อแม่” และ “นักบำบัด” ในการจัดการเรียนรู้ และช่วยพัฒนาทักษะต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับพวกเขา

          สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ได้แบ่งประเภทของเด็กที่มีความต้องการพิเศษไว้ 9 ประเภทคือ 1) เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา 2) เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน 3) เด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็น 4) เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ 5) เด็กที่มีความบกพร่องทางการพูดและภาษา 6) เด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรมและอารมณ์ 7)เด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ 8) เด็กพิการซ้อน และ 9) เด็กออทิสติก

          เด็กเหล่านี้ล้วนต้องการครูการศึกษาพิเศษ รวมถึงครูประจำชั้นที่มีเข้าใจถึงธรรมชาติที่แตกต่างกันของพวกเขา New Normal ในช่วงเปิดเทอมของเด็กกลุ่มนี้จะเป็นอย่างไร เมื่อการศึกษาไม่ได้ถูกจำกัดเพียงแค่ในห้องเรียนหรือในโรงเรียนอีกต่อไป แม้ในบ้านเราส่วนใหญ่เราจะเห็นการเตรียมความพร้อมสำหรับเด็กทั่วไป แต่สำหรับในต่างประเทศ ครูที่นั่นมีการเตรียมตัวหรือปรับรูปแบบการจัดการเรียนรู้อย่างไรบ้างสำหรับเด็กกลุ่มนี้

          ในสหรัฐอเมริกา แต่ละเขตพื้นที่การศึกษาจะมีอำนาจในการจัดการศึกษาเอง ในรัฐโคโลลาโดให้ทางเลือกในการจัดการเรียนรู้แบบทางไกลสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษไว้ 3 แบบคือ
1. ครูสอนโดยใช้หลักสูตรที่ได้จากจากเขตพื้นที่การศึกษา
2. ให้ครูที่มีประสบการณ์มาแล้วออกแบบการเรียนรู้แบบออนไลน์เองได้เลย
3. ครูมอบหมายงานให้นักเรียนแบบง่ายๆ โดยใช้เพียงอุปกรณ์พื้นฐาน เช่น กระดาษ ดินสอ อุปกรณ์ที่มีอยู่ที่บ้าน

          สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องมาก ไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้เป็นระยะเวลานานๆ ครูควรโทรศัพท์ให้คำแนะนำพ่อแม่ในการช่วยเหลือเด็กๆ

          แม้ว่าครูอเมริกันหลายคนจะมีประสบการณ์การสอนมาแล้ว แต่ก็ยังคงรู้สึกกังวลไม่ต่างจากครูไทยเมื่อต้องจัดการเรียนรู้ทางไกลให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษ เพราะพระราชบัญญัติว่าด้วยการศึกษาของผู้ด้อยความสามารถ (Individuals with Disabilities Education Act-IDEA) ที่ทำให้ครูไม่เพียงต้องจัดการศึกษาในแง่วิชาการให้เด็กเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของการบำบัด เพื่อเพิ่มเติมทักษะที่เด็กต้องได้รับการพัฒนา ซึ่งทางโรงเรียนต้องจัดเตรียมให้กับเด็กๆ ด้วย เช่น กิจกรรมบำบัด กายภาพบำบัด และอรรถบำบัด

          ไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แม้ว่าเหตุการณ์ไวรัสระบาดจะเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับเปลี่ยนกิจกรรมต่างๆ ให้อยู่ในรูปแบบออนไลน์มากขึ้น แต่ที่สหรัฐอเมริกาเอง นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เด็กที่มีบกพร่องได้รับการบำบัดทางไกลจากนักบำบัด

          Kristin Martinez ผู้อำนวยการด้านการทดลองจาก Presence Learning มีหลักสูตรการศึกษาพิเศษแบบออนไลน์ โดยจะคอยจัดหานักอรรถบำบัดที่ได้รับใบอนุญาต นักกิจกรรมบำบัดและผู้ดูแลด้านพฤติกรรมและสุขภาพจิตต่างๆ ให้กับโรงเรียนหลายร้อยแห่งทั่วสหรัฐอเมริกา ใน 10 กว่าปีที่ผ่านมา บริษัทนี้ให้การบำบัดทางไกลมามากกว่า 2.5 ล้านครั้งแล้ว

          ช่วงก่อนที่จะเกิดโรคระบาด โรงเรียนต่างๆ ทำสัญญาร่วมกับ Presence Learning ให้จัดหาบริการที่เกี่ยวกับการศึกษาพิเศษต่างๆ อยู่แล้ว เด็กจะได้รับการฝึกฝนทักษะต่างๆ จากนักอรรถบำบัดและนักกิจกรรมบำบัดผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งการช่วยเหลือเด็กแต่ละคนก็จะแตกต่างกันไปตามความต้องการ แม้ว่าการบำบัดผ่านข่องทางออนไลน์อาจไม่ได้มีคุณภาพเท่ากับการบำบัดแบบตัวต่อตัว แต่สำหรับสถานการณ์เช่นนี้ก็ถือว่าวิธีนี้ยังคงช่วยรักษาความต่อเนื่องของการฝึกฝนทักษะในเด็กที่มีความต้องการพิเศษได้อยู่ เพราะหากเราปล่อยให้เด็กสูญเสียทักษะสำคัญเหล่านี้ไปแล้ว พวกเขาจะต้องเริ่มต้นเรียนรู้กันใหม่ทั้งหมดอีกครั้ง ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเด็กกลุ่มนี้เลย

          องค์กรด้านการศึกษา Springs Charter Schools ก็ได้เริ่มจัดการเรียนการสอนแบบวิดีโอกับเด็กกลุ่มนี้ โดยใช้แบบฝึกหัดและกิจกรรมที่เด็กๆ ทำเป็นปกติเวลาที่ได้เจอหน้ากัน นักกิจกรรมบำบัดจะช่วยเหลือเด็กๆ ในการฝึกทักษะที่ต้องใช้กล้ามเนื้อ และทักษะชีวิตอื่นๆ เช่น การผูกเชือกรองเท้า บางครั้งก็เตรียมวิดีโอไว้ให้ผู้ปกครองใช้ฝึกทักษะเด็กๆ ที่บ้าน ซึ่งหากผู้ปกครองคนไหนไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ นักกิจกรรมบำบัดก็จะให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์แทน ซึ่งแน่นอนว่าการฝึกฝนทักษะต่างๆ ให้เด็กจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่มีผู้ปกครองเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อและให้ความช่วยเหลือเด็กๆ ที่บ้าน

          Paul Foster ผู้อำนวยการบริหาร Exceptional Student Services ที่ Corolado Department of Education เห็นว่าการจัดการศึกษาให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษควรใช้แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (Individualized Education Program) ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ได้รับความร่วมมือจากพ่อแม่ ครู บุคลากรในโรงเรียน รวมถึงตัวเด็กเอง เขามองว่าความบกพร่องของเด็กแต่ละคนก็มีผลต่อความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของเด็กๆ ด้วยเช่นกัน สำหรับหน่วยงานของเขาเอง สามารถให้คำแนะนำได้เพียงกว้างๆ ถึงวิธีการจัดการเรียนการสอนทางไกลสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เช่น ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่พ่อแม่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องทำให้เด็กๆ มีโอกาสทางการศึกษา ซึ่งโอกาสเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องอยู่บนออนไลน์อย่างเดียว

          ฝ่ายพ่อแม่ที่มีลูกเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษก็กังวลถึงการเรียนการสอนทางไกลสำหรับเด็กๆ ของพวกเขาเช่นกัน Turner คุณแม่ชาวอเมริกันที่มีลูกอยู่ชั้น ป.4 เข้าใจว่าตอนนี้ครูต่างก็พยายามกันอย่างเต็มที่ตามที่ได้รับการอบรมมา แต่การจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์สำหรับเด็กทั่วไปอาจไม่ได้เหมาะกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เหมาะกับการทำตามแผนและกิจวัตรประจำที่เตรียมไว้แล้วมากกว่า

          สำหรับในบ้านเราเอง การจัดการเรียนรู้ทางไกลในช่วงโควิดระบาดสำหรับเด็กกลุ่มนี้นับว่าเป็นงานที่ท้าทายอีกขั้นสำหรับครู พ่อแม่และนักบำบัด แต่หัวใจสำคัญของการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กทุกคนก็ยังคงอยู่บนพื้นฐานเดียวกันคือ ความเข้าใจธรรมชาติที่แตกต่างกันของพวกเขา เมื่อไรที่ครูเข้าใจเด็กๆ อย่างแท้จริง ครูย่อมมองเห็นโอกาสในการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละคนมากยิ่งขึ้น

 

อ้างอิง:
Mathewson, T. G. (2020, April 9). Teletherapy has been powering virtual special education for years. Retrieved April 27, 2020, from https://hechingerreport.org/teletherapy-has-been-powering-virtual-special-education-possible-for-years/

Breunlin. E. (2020, April 20). As Colorado kids with disabilities study remotely, some are lacking critical support services. (2020, April 20). Retrieved May 12, 2020, from https://coloradosun.com/2020/04/20/colorado-students-disability-schools-online-learning-remote-coronavirus-covid-19/

Tugend. A. (2020, April 23). Teachers of Special-Needs Students Struggle With Feelings of Helplessness. Retrieved May 12, 2020, from https://www.nytimes.com/2020/04/23/education/learning/coronavirus-teachers-special-needs-students.html

การจัดการศึกษาพิเศษในประเทศไทยและในต่างประเทศ. Retrieved May 12, 2020, from http://elearning.psru.ac.th/courses/232/L3.pdf

การจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ. Retrieved May 12, 2020, from https://th.rajanukul.go.th/_admin/file-download/D0000071.pdf


TAG: #การศึกษาพิเศษ #การจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กพิเศษ