Knowledge

การปฏิรูปการศึกษา ตามแนวทางโรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ (SLC)

การปฏิรูปการศึกษา ตามแนวทางโรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ (SLC)

 4 years ago 13058

เรียบเรียงโดย ทีมงาน EDUCA
บรรณาธิการกิจ โดย ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภาพปก และภาพประกอบ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

          โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย ประมาณ 300 โรง ที่ใช้แนวทางของ SLC - School as Learning Community และมีการขยายเครือข่ายไปสู่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือ อาทิ เกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม ไทย อินเดีย เม็กซิโก จนเกิดเป็นเครือข่ายนานาชาติในนาม The International Network for School as Learning Community แล้ว SLC คืออะไร 

          SLC ไม่ใช่สูตรสำเร็จ SLC จะต้องมี 3 องค์ประกอบกันดังนี้

          1. วิสัยทัศน์ (vision)
          วิสัยทัศน์เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการปฏิรูปการศึกษา เราจะพัฒนาโรงเรียนและห้องเรียนให้เป็นแบบใด จะจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการใด หากไม่กำหนดวิสัยทัศน์เอาไว้ให้ชัดเจนจะเปล่าประโยชน์ แล้วผู้สอนเองก็ต้องรับบทหนัก มีความยากลำบากในการสอนมากขึ้น วิสัยทัศน์ของ โรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ (SLC) สำหรับเด็กๆ คือโรงเรียนที่ช่วยสนับสนุนให้พวกเขาได้เรียนรู้อย่างมีคุณภาพ และสำหรับครู โรงเรียนคือที่ที่ครูได้เรียนรู้จากชั้นเรียนของตนเองและเพื่อนครูด้วยกันจนเป็นผู้เชี่ยวชาญในงานการศึกษา สำหรับผู้ปกครองและคนในชุมชนท้องถิ่น โรงเรียน คือ ที่ตนได้มีส่วนร่วมและให้ความร่วมมือในการปฏิรูปโรงเรียน
          วิสัยทัศน์ของโรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ จะช่วยสนับสนุนให้ เด็กทุกคนได้รับสิทธิในการเรียนรู้ และเข้าถึงคุณภาพการเรียนรู้ที่สูงขึ้น ตามแนวทางของการปกครองในระบอบสังคมประชาธิปไตย (Social Democracy)

          2. ปรัชญา (Philosophy) ของ SLC มี 3 ประการ คือ
         ปรัชญาว่าด้วยความเป็นสาธารณะ (Public Philosophy) ห้องเรียนและโรงเรียนคือพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้ร่วมกันของทุกคน ไม่มีใครเป็นเจ้าของเพียงลำพัง การเรียนรู้เป็นไปเพื่อประโยชน์ร่วมกัน เปิดกว้างในการมีส่วนรวม
          ปรัชญาว่าด้วยประชาธิปไตย (Democracy Philosophy) การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างเคารพ เข้าอกเข้าใจ รับฟังเสียงทุกเสียงจากทุกคน ทุกคนต้องได้รับการยอมรับ เพื่อจะทำให้ระบอบประชาธิปไตยในโรงเรียนและห้องเรียนเกิดขึ้นได้ระหว่างเด็กกับเด็ก เด็กกับครู ครูกับครู ต้องสร้าง “ความสัมพันธ์ในการรับฟังซึ่งกันและกัน” (Listening Relationship)
          ปรัชญาว่าด้วยความเป็นเลิศ (Excellence Philosophy) ความเป็นเลิศ ไม่ได้หมายถึงความยอดเยี่ยมจากการเปรียบเทียบกับคนอื่น เด็กทุกคนมีความแตกต่าง และมีสิทธิที่จะพัฒนาเต็มที่ตามศักยภาพของเขา ความเป็นเลิศจึงไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน แต่จำเป็นต้องมองให้ไกล เพื่อพัฒนาศักยภาพแห่งการเรียนรู้ให้ยอดเยี่ยมที่สุดของทั้งครูและผู้เรียนเอง

          3. ระบบกิจกรรม (Active System)
          ระบบกิจกรรมของ SLC ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อนำทฤษฎีไปปฏิบัติจริง และช่วยฝึกฝนครูและนักเรียน ให้มีปรัชญาทั้ง 3 (ปรัชญาสำหรับส่วนรวมและความเป็นสาธารณะ ปรัชญาของระบอบประชาธิปไตย และปรัชญาของความเป็นเลิศ) อย่างเป็นธรรมชาติ มีโครงสร้างทั้งหมด 3 ส่วน
          3.1 การเรียนรู้แบบร่วมมือร่วมพลังในห้องเรียน (Collaborative Learning) คือแก่นของการเรียนรู้ เกิดขึ้นจากการร่วมมือและการสื่อสารแบบพูดจาปฏิสัมพันธ์ ช่วยกระตุ้นและบังคับให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้มากกว่าการเรียนรูปแบบอื่นๆ ช่วยฟื้นฟูความสามารถทางการเรียนของเด็กเรียนช้าได้ สำหรับนักเรียนที่มีความสามารถทางการเรียนที่สูงอยู่แล้วยิ่งสูงเพิ่มขึ้น โดยมีการออกแบบการเรียนรู้แบบร่วมมือรวมพลังในห้องเรียน ครูเพียงสนับสนุนให้เด็กๆ เรียนรู้ซึ่งกันและกันแบบกลุ่มเล็กๆ ที่มีจำนวนไม่เกิน 4 คน สร้างการเรียนรู้แบบก้าวกระโดด ผ่าน Sharing Task และ Jumping Task
ข้อควรระวัง การพูดคุยกัน กับ การเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ในห้องเรียนเราใช้เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดการเรียนรู้เพื่อแยกความต่าง

 

เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดการเรียนรู้
เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดการเรียนรู้

          3.2 การสร้างความเป็นเพื่อนร่วมงาน (Collegiality) และชุมชนแห่งการเรียนรู้เชิงวิชาชีพ (Professional Learning Community) การสร้างโรงเรียนที่ทำให้ครูทุกคนเติบโตขึ้นได้ในฐานะผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งการเติบโตของครูจะมี 2 ด้าน คือ การเติบโตในฐานะช่างฝีมือ (Craftsmanship) คือ การได้รับเทคนิค และสไตล์ ผ่านการลอกเลียนแบบ และการเติบโตในฐานะผู้เชี่ยวชาญ (Professional Development) คือการบูรณาการทฤษฎีกับการปฏิบัติจริง ผ่านกรณีศึกษา ในการวิจัยในชั้นเรียน หรือการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน ชุมชนแห่งการเรียนรู้เชิงวิชาชีพ จะสนับสนุนงานวิจัยของครูแต่ละคนให้มีคุณภาพที่สูงขึ้น
          ครูทุกคนจะต้องมีการนำเสนอชั้นเรียนแก่เพื่อนร่วมงาน ผ่านการเปิดห้องเรียน (Open Classroom) เพื่อเปิดชั้นเรียนให้คุณครู เพื่อนร่วมงาน หรือคนที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของเด็ก ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชั้นเรียนและ สังเกตการชั้นเรียนของเขา เป็นการสร้างความสัมพันธ์แบบเรียนรู้ซึ่งกันและกันกับเพื่อนร่วมงานภายในโรงเรียน

          การเปิดห้องเรียน (Open Classroom)
          ครูผู้เปิดห้องเรียน ได้พัฒนาทักษะเรียนรู้ในเชิงความคิด ความรู้สึก อย่างต่อเนื่อง เรียนรู้ในการใช้ชีวิตและความอ่อนไหวกับความรู้สึกของตนเองและผู้อื่น เพื่อที่จะรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นกับความรู้สึกของตนเองและผู้อื่นด้วย
          ครูผู้สังเกตห้องเรียน ได้ฝึกการคิดอย่างลึกซึ้งจากคำตอบหรือว่าแบบฝึกหัดของนักเรียน ผ่านการสังเกต การเปิดชั้นเรียนทำให้ครูได้สังเกตข้อเท็จจริงจากการเรียนรู้ของเด็กในห้องเรียน ที่ไม่ใช่ “การให้คำปรึกษา” และ “การประเมิน” การสอน แต่เป็นการสะท้อน (Reflection) การเรียนรู้ของเด็กเป็นหลัก วิจารณ์เชิงสร้างสรรค์

หัวใจในการเรียนรู้ของครู

หัวใจในการเรียนรู้ของครู

          3.3 การเข้าร่วมเรียนรู้เพื่อการปฏิรูปของผู้ปกครองและคนในชุมชนท้องถิ่น เงื่อนไขที่จำเป็น ต้องสร้างความสัมพันธ์ในการเรียนรู้ซึ่งกันและกันกับผู้ปกครอง จนโรงเรียนกับผู้ปกครองมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน หากไม่ผลักดันการปฏิรูปโรงเรียนไปพร้อมกับการสร้างความสัมพันธ์ในความร่วมมือกับคณะกรรมการการศึกษาในพื้นที่ จะทำให้ยากต่อการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าโรงเรียนจะทำการปฏิรูปจากภายใน แต่ถ้าไม่มีการสนับสนุนจากภายนอกแล้ว การปฏิรูปอย่างต่อเนื่องก็ไม่สามารถเป็นไปได้
          การทำให้ระบบกิจกรรมทำหน้าที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ต้องเตรียมสิ่งหนึ่งเอาไว้ นั่นคือ การสื่อสารแบบปฏิสัมพันธ์ (Interactive Communication) โดยการสร้างความสัมพันธ์ที่รับฟังซึ่งกันและกัน ทั้งในห้องเรียน ห้องพักครู รวมถึงระหว่างโรงเรียนกับท้องถิ่น เมื่อมีความสัมพันธ์ที่รับฟังซึ่งกันและกัน จะทำให้การสื่อสารแบบปฏิสัมพันธ์เกิดขึ้น ครูและเด็กเกิดการเรียนรู้ การรับฟังเสียงของผู้อื่น เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ และเป็นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย


EDUCA ESD

อ้างอิง
- หนังสือเพื่อครู “การปฎิรูปโรงเรียน แนวความคิด “ชุมชนแห่งการเรียนรู้” กับการนำทฤษฎีมาปฏิบัติจริง ซาโต มานาบุ
- บรรยายสาธารณะ เรื่อง เรียนรู้ร่วมกันตามแนวทางโรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ (SLC) : ปรัชญาความเป็นสาธารณะ ประชาธิปไตย และความเป็นเลิศในการจัดการศึกษา โดย Prof.Manabu Sato, Ph D. วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2562
- บรรยายสาธารณะ เรื่อง “Promoting School as Learning Community (SLC) in School” โดย โดย Eisuke Saito, Ph D. วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2562
- บทความจากเพจ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ครุฯ จุฬาฯ โดย ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

TAG: #Schoolaslearningcommunity #โรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ #การปฏิรูปการศึกษา #SLC #SLCคืออะไร #SLC คืออะไร