Knowledge

เมื่อห้องเรียนไม่มีสติ๊กเกอร์ ขนม และของรางวัล แต่เต็มไปด้วยความกระตือรือร้น

เมื่อห้องเรียนไม่มีสติ๊กเกอร์ ขนม และของรางวัล แต่เต็มไปด้วยความกระตือรือร้น

 3 years ago 3727

แปลและเรียบเรียง: จิราเจต วิเศษดอนหวาย

          วิธีล่าสุดที่คุณครูใช้กระตุ้นให้นักเรียนแสดงพฤติกรรมที่พึงประสงค์คือวิธีไหน คุณครูหลายคนอาจนึกถึงการเสริมแรง (Reinforcement) ด้วยของรางวัล สติ๊กเกอร์ หรือเงิน แนวทางเหล่านี้ไม่ว่าใช้กี่ครั้งนักเรียนก็ตอบสนองตามที่เราต้องการทุกครั้งไป แต่ผลการวิจัยจากนักเศรษฐศาสตร์แห่งมหาลัยฮาร์วาร์ดเมื่อปี 2007 กลับบอกว่าการสร้างแรงจูงใจจากครูโดยเฉพาะสิ่งของนั้น ดูจะขัดขวางความสำเร็จของนักเรียนเสียด้วยซ้ำ ในบทความความนี้จะชวนทุกคนไปหาคำตอบว่าเพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

          โรแลนด์ ฟรายเออร์ (Roland Fryer) ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ทำการทดลองเรื่องแรงจูงใจในการเรียนรู้ของนักเรียนในโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในเขตยากจนของเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา เขาตั้งสมมุติฐานว่ายิ่งให้สิ่งของเป็นรางวัลมากเท่าไร นักเรียนจะมีคะแนนสอบหรือพัฒนาทักษะต่าง ๆ ได้มากขึ้น เขาจึงแจกทั้งเงินสดให้กับนักเรียนกลุ่มทดลองเพื่อเป็นแรงจูงใจในการเรียน แต่ผลการทดลองกับไม่เป็นไปตามที่เขาวางสมมุติฐานไว้ ในช่วงเริ่มต้นการทดลองนักเรียนแสดงพฤติกรรมเพื่อตอบสนองต่อสิ่งจูงใจแล้วค่อย ลดน้อยลงตามลำดับ แม้นักเรียนจะแสดงพฤติกรรมที่เขาต้องการ แต่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลับไม่เพิ่มตามไปด้วย เราจะเห็นได้ว่าพฤติกรรมของมนุษย์นั้นมีความซับซ้อน และละเอียดอ่อนเกิดกว่าจะปรับเปลี่ยนได้โดยง่ายด้วยสิ่งของหรือรางวัล

          ย้อนกลับไปในปี 1977 เอ็ดเวิร์ด ดีซี และริชาร์ด ไรอัน ศาสตราจารย์จากภาควิชาจิตวิทยาประจำมหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ช่วยให้เราเข้าใจมากขึ้นว่าเพราะเหตุในสมมุติฐานของฟรายเออร์จึงไม่เป็นไปตามที่เขาตั้งไว้ การทดลองของเขานั้นคล้ายกับฟรายเออร์ เพียงแต่เพิ่มกลุ่มที่เปลี่ยนจากเงิน และของรางวัลเป็นชิ้นงานที่ยากขึ้น ผลการทดลองพบว่านักเรียนกลุ่มนี้กระตือรือร้น และสมัครใจทำงานที่ยากขึ้นโดยให้เหตุผลว่ามันท้าทายและสนุก

          ดีซีและไรอันจึงเสนอว่า มนุษย์เป็นนักเรียนรู้โดยธรรมชาติที่เกิดมาพร้อมความคิดสร้างสรรค์และความอยากรู้อยากเห็น พร้อมให้คำแนะนำกับคุณครูที่อยากสร้างความเปลี่ยนแปลงไว้ว่า ให้ตระหนักถึงความต้องการพื้นฐานของมนุษย์นักเรียนที่ว่า ฉันอยากมีความสามารถ ฉันอยากเป็นตัวของตัวเอง และฉันอยากมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น โดยครูอาจต้องปรับสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้โดยลดการบังคับและควบคุม แต่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นมากขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย เช่น ชั่วโมงนี้เราจะร้องเพลงหรือเล่นเกมก่อนดีนะ และที่สำคัญคือคุณครูลองเปลี่ยนจากการใช้สิ่งของเป็นสิ่งล่อใจเป็นการมอบหมายงานที่ค่อย ๆ เพิ่มความท้าทายความสามารถ แต่ไม่เกินความสามารถให้กับนักเรียน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมกระบวนการรับฟังและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

          หากคุณครูที่กำลังมองหาวิธีใหม่ ๆ ในการกระตุ้นให้นักเรียนมีพฤติกรรมการเรียนรู้ที่พึงประสงค์แนวทางในบทความนี้ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้คุณครูและนักเรียนได้เรียนรู้ร่วมกัน ให้ห้องเรียนเป็นที่ที่ทุกคนได้แสดงศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่

อ้างอิง
Delia O'Hara. (2017 December 18). The intrinsic motivation of Richard Ryan and Edward Deci. Retrieved February 3, 2021, from https://www.apa.org/members/content/intrinsic-motivation

Roland G. Fryer. (2010 April 2). Financial Incentives and Student Achievement: Evidence From Randomized Trials. Retrieved February 3, 2021, from https://www.nber.org/system/files/working_papers/w15898/w15898.pdf


TAG: #การเสริมแรง #Reinforcement #พฤติกรรมการเรียนรู้