Knowledge

4 สิ่งที่ผู้บริหารโรงเรียนควรทำ (และ ไม่ควรทำ) ในการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับครูในโรงเรียน

4 สิ่งที่ผู้บริหารโรงเรียนควรทำ (และ ไม่ควรทำ) ในการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับครูในโรงเรียน

 4 years ago 47615

เรียบเรียงโดย ทีม EDUCA
ภาพปก และภาพประกอบ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

          ในแต่ละปี เราจะเห็นการโยกย้ายครู ผู้บริหารโรงเรียน และบุคลากรทางการศึกษาทุกสายงาน สับเปลี่ยนกันไป โดยเฉพาะสายงานบริหารสถานศึกษาที่มีเกณฑ์ในการประเมินมากมาย ไม่ว่าจะเป็น วิสัยทัศน์ผู้นำ ความรู้ความสามารถในการพัฒนาสถานศึกษา คุณวุฒิ ประสบการณ์ ผลงานที่เคยทำมา รวมถึงวินัยและจรรยาบรรณต่างๆ ในการพิจารณาแต่ละครั้ง
          เมื่อย้ายไปโรงเรียนใหม่ ก่อนที่ผู้บริหารจะนำแผนพัฒนาโรงเรียนที่มีมากมาย ทั้งโครงการ ความคิดริเริ่ม หรือแนวคิดใหม่ๆ มาใช้ในโรงเรียนแห่งใหม่ ผู้บริหารต้องเข้าใจก่อนว่า การเปลี่ยนแปลงภายในโรงเรียนเป็นเรื่องยาก หากโครงการหรือความคิดริเริ่มใหม่ ไม่ได้ดำเนินไปได้ด้วยดี การเปลี่ยนแปลงนั้นอาจบั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารและครูภายในโรงเรียน มีผู้เชี่ยวชาญเคยกล่าวไว้ว่า ความสำเร็จของโครงการหรือความคิดริเริ่มใหม่ ๆ ในโรงเรียนขึ้นอยู่กับความเต็มใจและการเปิดรับของครูเป็นสำคัญ
          “ผู้บริหารไม่ได้มีเครื่องมือมากนัก ที่จะนำมาใช้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของครู ผู้บริหารหลายคนต้องอาศัยความมุ่งมั่นของตัวเองที่จะกระตุ้นให้ครูรู้สึกว่าคุ้มค่าที่จะลอง การเปิดรับของครูมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเริ่มอะไรใหม่ ๆ ในโรงเรียน หากครูไม่เอาด้วย ผู้บริหารบางรายจะเลือกปิดประตูตายสู่แนวคิดใหม่ และยึดติดกับวิธีทำงานแบบเดิม ๆ ต่อไป” (1)
ในงานวิจัยการมีส่วนร่วมของครูในการพัฒนาโรงเรียนชิ้นหนึ่ง พบว่า หากครูได้มีส่วนร่วมในขั้นตอนการออกแบบโครงการใหม่ บรรดาบุคลากรของโรงเรียนจะเปิดรับต่อโครงการดังกล่าวมากขึ้น

และยังพบว่า
          บ่อยครั้ง ผู้บริหารอยู่ในสถานะที่ต้องฟังคำสั่งจากเขตหรือรัฐบาล แล้วค่อยมาอธิบาย ชี้แจงตลอดจนดำเนินการอะไรบางอย่าง เพื่อให้ครูช่วยเข้าใจว่า จะมีวิธีปฏิบัติแบบใหม่เกิดขึ้นในโรงเรียนปีนี้ นักการศึกษามองว่า สถานการณ์เช่นนี้ ยิ่งทำให้ผู้บริหารโน้มน้าวใจครูได้ยากขึ้นไปอีก
          “ความคิดริเริ่มใหม่ ๆ ที่เข้ามาในโรงเรียน หลายๆ กรณี ครูมีแนวโน้มจะมองว่าการเสนอแนวคิดวิธีปฏิบัติใหม่ที่เกิดขึ้น ก็เหมือนกับการตั้งข้อสงสัยกับสิ่งที่ครูทำหน้าที่มาโดยตลอด และเชื่อว่ามันก็เป็นไปได้ด้วยดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นธรรมหรือไม่ก็ตาม เวลาเจอแนวคิดใหม่ ๆ ครูจะรู้สึกเหมือนถูกตั้งคำถามว่าที่ผ่านมาพวกเขารู้อะไรบ้าง และพวกเขาเป็นใคร ซึ่งมีผลโดยตรงกับมุมมองด้านตัวตนความเป็นมืออาชีพของครูเหล่านั้น” (2)
          EDUCA ได้เรียบเรียงมุมมองของกลุ่มครูที่มีประสบการณ์การสอนมายาวนาน จากบทความของ Education Week(3) ซึ่งได้ตั้งคำถามไว้ว่า “ผู้บริหารจะส่งเสริมการเปิดรับต่อแนวคิดใหม่ในกลุ่มบุคลากรของโรงเรียนได้อย่างไร” จนทำเป็นข้อสรุป 4 สิ่งที่ควรทำ และไม่ควรทำ ในการสร้างสัมพันธภาพอันดีระหว่างผู้บริหารกับครูในโรงเรียน โดยมีเนื้อหาดังนี้

4 สิ่งที่ผู้บริหารไม่ควรทำ หากต้องการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับครูในโรงเรียน

1) อย่าพยายาม “เปลี่ยนแปลง” ทันที ที่ย้ายมาโรงเรียนใหม่
          การไปยืนประกาศต่อหน้าบรรดาบุคลากรในโรงเรียนตั้งแต่แรกเลยว่า 'ต่อไปเราจะทำแบบนี้นะ' รวมถึงทำเป็นเมินเฉยกับสิ่งที่มีอยู่ หรือตะลุยทำไป เหมือนว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่จำเป็นนั้นเป็นวิธีการที่ผิด หากผู้บริหารต้องการการยอมรับและเปิดรับจากครู ผู้บริหารควรใช้เวลาปีแรกทั้งปีในการรับฟังความคิดเห็นของครู และสังเกตวัฒนธรรมของโรงเรียน เราอาจไม่เปลี่ยนอะไรในโรงเรียนเลยในปีแรก นอกจากการปรับภูมิทัศน์ (4)
          ผู้บริหารไม่ควรสั่ง ให้ครูทำสิ่งที่เคยเห็นว่าดีในโรงเรียนเก่าของตัวเองกับโรงเรียนใหม่ แล้วหวังว่าทุกอย่างจะเป็นไปได้สวยเหมือนกัน ทุกโรงเรียนมีวัฒนธรรมของตัวเอง วัฒนธรรมของนักเรียนและวัฒนธรรมของครู ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้บริหารจะต้องเข้าใจสิ่งนี้ ไม่ใช่ว่าโครงการอย่างเดียวกันจะเหมาะไปกับทุกที่ (5)

2) อย่ามองข้ามครูผู้มากประสบการณ์
          เป็นเรื่องง่ายที่จะโน้มน้าวให้ครูน้องใหม่ที่เพิ่งจะเข้ามาสอนเข้าร่วมโครงการใหม่ ครูที่ยังเด็กไม่มีประสบการณ์มากนัก มักไม่สามารถบอกได้ว่าโครงการใหม่นั้นจะกระทบนักเรียนและผู้สอนอย่างไร แต่ครูผู้มากประสบการณ์จะมีความรู้และวิจารณญาณ ครูเหล่านี้อยู่กับโรงเรียนในช่วงที่โรงเรียนมีการเปลี่ยนแปลงมาแล้วครั้งแล้วครั้งเล่า ประสบการณ์ที่พวกเขามี เป็นสิ่งที่จำเป็นที่ผู้บริหารควรใส่ใจ ไม่ใช่ทำเป็นมองไม่เห็น
          บางครั้งครูผู้มากประสบการณ์ถูกมองว่าเป็นพวกสงสัยไปทุกเรื่องและเฉื่อยในการตอบรับโครงการใหม่ แต่ความเป็นจริงแล้ว ครูกลุ่มนี้คือบุคคลที่ผู้บริหารควรเข้าหาเพื่อขอคำแนะนำและหาข้อมูลเชิงลึกมากที่สุด บุคลากรที่อยู่กับโรงเรียนมานานจะมีอิทธิพลในการโน้มน้าวให้บุคลากรอื่น ๆ เปิดรับโครงการใหม่อีกด้วย (6)

3) อย่ามั่นใจเกินไป
          มีเส้นบาง ๆ ระหว่างการเป็นผู้นำและเป็นหัวหน้า ครูทุกคนมีแนวโน้มจะนับถือและทำตามผู้บริหารที่ดูมีความเป็นผู้บริหารอย่างแท้จริงอยู่แล้ว ผู้บริหารไม่ควรแต่ออกคำสั่งจากห้องทำงานของตัวเอง แต่ผู้บริหารควรออกมาลุยงานเคียงบ่าเคียงไหล่บุคลากรอื่น ๆ เดินเข้านอกออกในทุกห้องเรียน ได้พูดคุยสอบถามความต้องการของครู (2)
          เวลาของผู้บริหารและผู้ช่วยผู้บริหารไม่ได้สำคัญไปกว่าเวลาของครู ดังนั้น พวกเขาไม่ควรมาขอให้ครูทำสิ่งที่พวกเขาเองก็ไม่ยอมทำ

4) อย่าเพิกเฉยต่อคำแนะนำหรือข้อมูลจากครู
          ผู้บริหารควรเป็นผู้ฟังที่ดี โรงเรียนควรสร้างพื้นที่พูดคุยกับครูแบบจริงใจ และเคารพซึ่งกันและกันเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้พูดถึงข้อกังวลตลอดจนแสดงความคิดเห็น ต้องเปิดกว้างรับฟัง สิ่งที่ครูอยากจะบอกเล่าแบ่งปันด้วย (5)
          ถึงแม้ผู้บริหารจะไม่อาจทำตามทุกข้อแนะนำได้ แต่อย่างน้อย ผู้บริหาร “ควรบอกเหตุผลให้ครูทราบ ว่าทำไมถึงไม่ได้” รวมถึงชี้แจงเหตุผลเบื้องหลังการตัดสินใจบางอย่างด้วย หากครูทราบว่าการที่พวกเขารับฟังและเต็มใจปฏิบัติตามความคิดริเริ่มใหม่นั้นสำคัญต่อผู้บริหาร พวกเขามีแนวโน้มจะยอมรับโครงการใหม่นั้นเพราะเห็นว่ามีความพยายามอย่างจริงจังที่จะริเริ่ม การยอมรับจะเพิ่มสูงขึ้นถึงแม้ว่าสิ่งใหม่นั้นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่พวกครูจะเลือก หากพวกเขามีสิทธิเลือกเองก็ตาม (6)

 

4 สิ่งที่ผู้บริหารควรทำ ในการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับครูในโรงเรียน

1) มองให้ออกว่าสิ่งใดดีอยู่แล้ว
          ผู้บริหารควรเริ่มต้นมองหาว่ามีอะไรบ้างในโรงเรียนที่มีอยู่แล้ว คุณเห็นว่าดีและควรทำต่อ ไม่ใช่ว่าทุกอย่างที่มีอยู่จะไม่ดีไปเสียทั้งหมด (7)
          ถึงแม้ว่าครูอาจจะไม่สามารถทำแบบที่ทำอยู่ต่อไปได้แล้ว แต่ผู้บริหารสามารถดึงเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์จากโครงการเดิมมาบูรณาการเข้าสู่โครงการใหม่ได้ (6)

2) ให้ความสำคัญกับการสร้างสัมพันธภาพอันดีกับครู
          หากขอให้ครูทำสิ่งใหม่ ลองเสี่ยง หรือริเริ่มอะไรใหม่ ๆ เราต้องมีความไว้วางใจกันในระดับหนึ่ง โดยความไว้วางใจนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีวัฒนธรรมการทำงานที่ดูแลสัมพันธภาพอันดี ซึ่งผู้บริหารจะมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับบุคลากรในโรงเรียนได้ก็ต่อเมื่อให้ความเคารพและสนับสนุนต่อผู้อื่น รวมถึงเชื่อมั่นว่าครูเป็นมืออาชีพ (2)
          มีครูผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า ผู้บริหารที่ดีที่สุดที่เขาเคยทำงานด้วย คอยสนับสนุนให้ครูและนักเรียนมีการพูดคุยกันอย่างเปิดกว้างอยู่ตลอด เมื่อสมาชิกในโรงเรียนรู้สึกว่ามีผู้อื่นให้คุณค่ากับตนเอง บรรยากาศของโรงเรียนก็เป็นไปในแง่บวกตลอดทั้งปี ในทางกลับกัน ผู้บริหารที่ออกคำสั่งให้ครูทุกคนส่งแผนการสอนทุกต้นสัปดาห์ แล้วมาจุกจิกเพิ่มอีก บรรยากาศของโรงเรียนเปลี่ยนไป งานสอนเป็นเรื่องยากพออยู่แล้ว นี่ยังมาทำให้ครูรู้สึกเหมือนไม่ได้รับความเคารพอีก

3) ควรทำงานนอกห้องทำงานบ้าง
          ยิ่งผู้บริหารใช้เวลานอกห้องทำงานของตัวเองและมีปฏิสัมพันธ์กับครูและนักเรียนมากเท่าใด พวกเขาจะยิ่งสามารถสร้างบรรยากาศของความไว้เนื้อเชื่อใจได้มากขึ้นเท่านั้น การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเด็ก “เป็นสิ่งที่พวกเราพึงทำ” บรรยากาศในห้องเรียนจะต่างไปมาก เมื่อผู้บริหารรู้จักนักเรียนในห้อง (4)
          ผู้บริหารควรออกมาลุยงานข้างนอกและร่วมงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับบุคลากรอื่น ๆ ถ้าผู้บริหารตัดสินใจเพื่อประโยชน์สูงสุดของนักเรียนอย่างที่ควรเป็น ผู้บริหารจะทำงานกับครูเป็นทีม (5)

4) ชวนผู้นำครูมานำร่องโครงการใหม่ก่อนจะบังคับใช้ทั่วโรงเรียน
          หากโครงการหรือความคิดริเริ่มใหม่ ๆ ได้รับการทดสอบเบื้องต้นมาแล้วในโรงเรียนของตัวเอง และมีเพื่อนร่วมงานที่พวกเขาเชื่อถือ มาเล่าให้ฟังว่าผลเป็นยังไง มีปัญหาอะไร ดีต่อนักเรียนอย่างไร ต้องใช้เวลามากขนาดไหน รับรองโครงการหรือความคิดนั้นอีก ครูส่วนใหญ่บอกว่าพวกเขาก็ตัดสินใจเข้าร่วมด้วยได้ง่ายขึ้น (6)
          มีนักวิจัยด้านการศึกษา (8) กล่าวว่า พฤติกรรมจะนำหน้าความเชื่อเสมอ หมายถึงว่าคนเกือบทั้งหมดต้องการเห็นว่าโครงการที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้น มีผลสำเร็จยืนยันไว้ก่อนแล้ว ก็จะยอมรับโครงการนั้น ความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงมีโอกาสจะเกิดขึ้นได้มากที่สุดเมื่อเราจัดการทดลองทำอย่างต่อเนื่อง เพราะการทดลองจะส่งมอบหลักฐานว่าความเปลี่ยนแปลงนั้นให้ผลดีกลับมา

          เหล่านี้คือ 4 สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ ที่ผู้บริหารโรงเรียนสามารถสร้างสัมพันธภาพที่ดีให้เกิดขึ้นได้ การเปลี่ยนแปลงภายในโรงเรียนไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำ ถึงแม้โครงการ หรือการเริ่มแนวคิดใหม่ๆ จะเป็นเรื่องน่าสนใจอย่างไร แต่หากขาดกำลังคนในการขับเคลื่อน หลายโครงการก็ต้องหยุดชะงักไป ประตูที่ช่วยให้การเปิดใจรับของครู เกิดขึ้นได้มาจากความใส่ใจ มุ่งมั่น ทุ่มเทของผู้บริหาร ที่เป็นพื้นฐานในการสร้างความสัมพันธ์อันดีให้เกิดในโรงเรียน หมายรวมถึงชุมชนโดยรอบโรงเรียนเช่นกัน

 

อ้างอิง
(1) บทสัมภาษณ์ของ ผ.ศ. คริสโตเฟอร์ เรดดิ้ง ผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะผู้นำทางการศึกษาประจำมหาวิทยาลัยฟลอริดา ใน Education Week
(2) บทสัมภาษณ์ของ เดวิด บอสโซ ครูวิชาสังคมศึกษา ประสบการณ์การสอน 23 ปี ของโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายเบอร์ลินในเมืองเบอร์ลิน รัฐคอนเนตทิคัต และได้รับตำแหน่งครูแห่งปีของรัฐคอนเนตทิคัต ในปี 2555
(3) บทความของ Education Week https://www.edweek.org/ew/articles/2019/10/16/4-things-principals-can-do-and-4.html โดย มาเดอลิน วิลล์
(4) บทสัมภาษณ์ของ ลอร่า แบรดลีย์ ครูสอนภาษาอังกฤษ ประสบการณ์การสอน 26 ปีของโรงเรียนเคนิลเวิร์ธจูเนียร์ไฮ ในเมืองเปตารูมา รัฐแคลิฟอร์เนีย
(5) บทสัมภาษณ์ของ เจฟฟ์ แบกซ์เตอร์ ครูสอนภาษาอังกฤษ ประสบการณ์การสอน 30 ปีของโรงเรียนบลู วัลเลย์เวสต์ ไฮในเมืองโอเวอร์แลนด์ พาร์ก รัฐแคนซัส และได้รับตำแหน่งครูแห่งปีของรัฐเทกซัสประจำปี 2557
(6) บทสัมภาษณ์ของ วอชิงตัน ผู้ได้รับเลือกให้เป็นครูแห่งปีของรัฐเท็กซัสในปี 2557
(7) บทสัมภาษณ์ของ โมนิก้า วอชิงตัน โค้ชด้านการสอนของ BetterLesson เว็บไซต์แบ่งปันบทเรียนออนไลน์ และเคยมีประสบการณ์การสอน 19 ปี ในรัฐเทนเนสซี และรัฐเท็กซัส
(8) บทสัมภาษณ์ของ ดักลาส รีฟส์ นักวิจัยและที่ปรึกษาด้านการศึกษา
https://www.otepc.go.th/images/00_YEAR2561/03_PV1/%E0%B8%A7242560.pdf
Education Week เป็นผู้ดูแลเนื้อหาที่เผยแพร่ทั้งหมดในเชิงบรรณาธิการ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาด้านความเป็นผู้นำ การเรียนในช่วงฤดูร้อน การเรียนรู้ด้านสังคมและอารมณ์ การเรียนศิลปะหรือกิจกรรมหลังเลิกเรียนโดยการจัดทำเนื้อหาได้รับเงินสนับสนุนบางส่วนจากมูลนิธิวัลเลซ (Wallace Foundation)

TAG: #ความสัมพันธ์ที่ดี #ผู้บริหาร #การบริหารโรงเรียน