Knowledge

ทำอย่างไร เมื่อห้องเรียนมีเด็กสมาธิสั้น

ทำอย่างไร เมื่อห้องเรียนมีเด็กสมาธิสั้น

 4 years ago 6279

          อยู่ไม่ค่อยนิ่ง วู่วาม ยั้งตัวเองไม่อยู่ ครูเคยพบเด็กที่มีอาการเหล่านี้ในห้องเรียนบ้างหรือไม่ ถ้าใช่ นี่อาจเป็นสัญญาณว่า เด็กกำลังเป็นโรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder - ADHD) โรคที่ก่อให้เกิดปัญหาทางพฤติกรรมและการเรียนที่พบบ่อยที่สุด ร้อยละ 5 ของเด็กวัยเรียน โดยครึ่งหนึ่งจะมีอาการต่อเนื่องจนถึงวัยผู้ใหญ่

ทำไมถึงเป็นสมาธิสั้น

          โรคสมาธิสั้นเกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาท ทำให้ความสามารถในการเรียนรู้ การยับยั้งชั่งใจ และแรงจูงใจลดลง สามารถสืบทอดทางพันธุกรรมได้ถึง 76 %

          การเลี้ยงดูของพ่อแม่ เช่น ให้ลูกเล่นมือถือตั้งแต่เด็ก ก็เป็นปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อการแสดงออกในเชิงความรุนแรงของโรคเช่นเดียวกัน แม้จะไม่ใช่สาเหตุโดยตรงก็ตาม

สมาธิสั้นแต่ละวัย ก็แสดงออกแตกต่างกัน

          ในเด็กปฐมวัย จะค่อนข้างซน พลังงานเยอะ ไม่ยอมนอนกลางวัน รอคอยไม่ได้ ใจร้อน ถ้าไปเดินห้างก็จะวิ่ง ให้ต้องคอยมองหา แกล้งเพื่อน อารมณ์เกรี้ยวกราด

          วัยเรียน ครูสามารถสังเกตได้ชัดขึ้น เนื่องจากคาบเรียนบังคับให้เด็กต้องอยู่ในห้องเรียน มีการบ้านที่ต้องรับผิดชอบ เด็กจะกระตือรือร้นน้อย การจัดระบบ ระบบความจำ และความคิดรวบยอดไม่ดี ขี้ลืม ส่งงานไม่ครบ

          วัยรุ่น มีปัญหาอารมณ์ การควบคุมตนเอง ปัญหาพฤติกรรม การวางแผน จัดลำดับความสำคัญของงาน การเลือกที่จะเริ่มงาน การคงสมาธิ

          ผู้ใหญ่ มักมีความพยายามควบคุมตัวเองมากขึ้น เพราะเรียนรู้จากประสบการณ์ตั้งแต่วัยเด็ก ที่อาจโดนตี ถูกดุมาเยอะ อาการอยู่ไม่นิ่งและวู่วาม จะลดลง แต่สมาธิสั้นยังคงอยู่

ทำอย่างไร เมื่อห้องเรียนมีเด็กสมาธิสั้น

ระวัง อย่าสับสน โรคเหล่านี้อาการคล้ายสมาธิสั้น แต่ไม่ใช่

โรคบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning disability) ทำให้อ่านหนังสือไม่ได้
ภาวะออทิสซึม มีลักษณะเฉพาะที่จะไม่ค่อยสนใจคน
เด็กสติปัญญาไม่ดี ตั้งแต่ปัญญาทึบจนถึงปัญญาอ่อน สมาธิจะสั้น เพราะเรียนไม่รู้เรื่อง
เด็ก Gifted มีความแอคทีฟ เคลื่อนไหวเยอะ เรียนรู้หลากหลาย พอเรียนจบเรื่องหนึ่ง ก็จะไปสนใจอย่างอื่นต่อ แต่ถ้าเป็นเด็กสมาธิสั้น จะไปสนใจอย่างอื่น ทั้งๆ ที่ยังเรียนไม่จบสักเรื่อง

สมาธิสั้นรักษาไม่หาย แต่เราดึงด้านดีออกมาได้

          เด็กสมาธิสั้นไม่ได้มีแต่ข้อเสียเสมอไป ด้านดีก็มีเยอะ เช่น แรงเยอะ คิดเร็ว จินตนาการไกล แต่สิ่งเหล่านี้จะแปรเปลี่ยนเป็นด้านบวกได้ ต้องได้รับการฝึกและการแนะนำที่ดีจากครูและครอบครัว ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนที่ดี เด็กจะเกิดปัญหาสัมพันธภาพตามมาได้

          แม้ว่าสมาธิสั้นจะรักษาไม่หาย แต่การรักษาสามารถลดอาการของโรค เพื่อลดผลกระทบต่อเด็กได้

  1. คุยกับพ่อแม่ ครู ให้เข้าใจข้อจำกัดของเด็กและแนวทางรักษา
  2. การใช้ยาเพิ่มสมาธิ หมอมักแนะนำให้ทานยาทุกวัน จะช่วยให้เด็กมีสมาธินานขึ้น 4 ชั่วโมง มีประโยชน์ไม่เฉพาะต่อการเรียนของเด็กเท่านั้น แต่ยังดีต่อการพัฒนาทักษะอื่นๆ ในช่วงเสาร์ อาทิตย์ด้วย หัวใจของการรักษาคือ ทำให้เด็กมีความรู้ความสามารถพอเพียงกับคนอื่น สามารถอยู่รอดในสังคมได้ เสียเปรียบเด็กทั่วไปน้อยลง
  3. ปรับการเรียนการสอนในห้องเรียน
  4. ปรับสภาพแวดล้อม

 

ทำอย่างไร เมื่อห้องเรียนมีเด็กสมาธิสั้น

เด็กต่างวัย รักษาไม่เหมือนกัน

          ในเด็กปฐมวัย มักจะยังไม่ใช้ยา ยกเว้นกรณีจำเป็นมากๆ ใช้การพูดคุย ปรับพฤติกรรมโดยผู้ปกครองและครู รวมถึงการปรับสภาพแวดล้อม

          เด็กวัยเรียนที่อายุมากขึ้นมาหน่อย จะใช้ยาในการรักษา ควบคู่กับปรับพฤติกรรมโดยผู้ปกครองและครู ข้อเสียของการใช้ยาคือ เด็กจะเบื่ออาหาร ไม่ค่อยหิวในช่วง 4 ชั่วโมงที่ยาออกฤทธิ์

          ครูในฐานะที่เป็นคนที่ใช้เวลากับเด็กเยอะที่สุดในโรงเรียน เป็นผู้มีบทบาทอย่างมากในการช่วยเหลือเด็ก เพราะการกินยาจะช่วยให้เด็กมีสมาธินานขึ้นเพียง 4 ชั่วโมงเท่านั้น แต่หลังจากยาหมดฤทธิ์ เด็กก็จะกลับมาเป็นเหมือนเดิม วิธีที่จะช่วยให้เด็กมีสมาธินานขึ้นในระยะยาว นอกเหนือจากการใช้ยาคือ การใช้กิจกรรมฝึกสมาธิ เช่น การนับเลข 1-80 โดยให้ปรบมือ 1 ครั้ง หลังนับเลข ยกเว้นเลขที่ลงท้ายด้วย 3 และ 7

          การช่วยเหลือเด็กสมาธิสั้นจะไม่ได้ทางสำเร็จได้แน่นอน หากปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพ่อแม่หรือครูฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะชีวิตจริงของเด็กนั้นอยู่ทั้งที่บ้าน โรงเรียนและที่อื่นๆ แต่พ่อแม่และครูคือผู้ที่มีความใกล้ชิดที่สุด ที่จะทำความเข้าใจ ช่วยปรับพฤติกรรม และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็กได้ดีที่สุด

ทำอย่างไร เมื่อห้องเรียนมีเด็กสมาธิสั้น

เด็กสมาธิสั้นและแนวทางช่วยเหลือ
โดย ศ.คลินิก พญ.วินัดดา ปิยะศิลป์ และ พญ.ถิรพร ตั้งจิตติพร
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ และสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ


TAG: #สมาธิสั้น #โรคสมาธิสั้น #Educa2019 #Attention Deficit Hyperactivity Disorder