Knowledge

ถึงเวลา “รีเซ็ตการศึกษา”: บทเรียนของอเมริกา จากผล PISA 2018

ถึงเวลา “รีเซ็ตการศึกษา”: บทเรียนของอเมริกา จากผล PISA 2018

 5 years ago 5445

          เมื่อความรู้และทักษะของคน คือ กำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ การศึกษาจึงเป็นรากฐานสำคัญที่จะสร้างคนรุ่นใหม่ และอนาคตของประเทศต่อไป EDUCA แปลและเรียบเรียงเนื้อหาจากบทความ Mackay: PISA Results Show Need for Educational “Reset” ซึ่งนักการศึกษาสหรัฐอเมริกาแสดงความคิดเห็นต่อระบบการศึกษาของตนเอง ภายหลังจากทราบผลการประเมิน PISA (Program for International Student Assessment)

          “ผลการเรียนรู้ของนักเรียนในสหรัฐอเมริกายังตามหลังหลายๆ ประเทศ อเมริกาไม่ได้อยู่ในกลุ่มของประเทศชั้นนำในเรื่องการศึกษา เราไม่คววจะมาพอใจกับคะแนนในเรื่องการอ่าน และ วิทยาศาสตร์ ที่เพิ่มนิดหน่อย ตอนนี้ ถึงเวลาแล้วที่จะต้อง รีเซ็ตการศึกษาของอเมริกา” (1)

          ผลการประเมิน PISA 2018 แสดงให้เห็นว่า นักเรียนมัธยมอเมริกันไม่สามารถทำคะแนนไล่ตามคู่แข่งในประเทศกลุ่มอุตสาหกรรม แม้ว่าจะมีคะแนนที่สูงกว่าระดับค่าเฉลี่ยของ OECD ในเรื่องการอ่าน และวิทยาศาสตร์ แต่ในความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์ กลับมีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย* และได้คะแนนต่ำกว่านักเรียนจาก 30 ประเทศอีกด้วย

          ปัจจุบันจีนยังคงมุ่งแข่งขันกับอเมริกาเพื่อเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของโลก ยากที่จะเชื่อว่า อเมริกาจะสามารถแข่งขันกับจีนซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่กว่า และมีแรงงานที่ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพดีกว่าได้ ผลประเมินแสดงว่านักเรียนตัวแทนจาก 4 เมืองใหญ่ของจีนที่เข้าร่วมรับการทดสอบ ได้แก่ เมืองปักกิ่ง เมืองเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจียงซู และมณฑลเจ้อเจียง** ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มประชากรจำนวน 184 ล้านคน เท่ากับครึ่งหนึ่งของอเมริกา นักเรียนจีนทำคะแนนวิชาคณิตศาสตร์ นำหน้าไป 4 ระดับเมื่อเทียบกับนักเรียนอเมริกัน

การศึกษาจีน

 

          “เป็นคำถามที่น่าสนใจว่า ในขณะที่กลุ่มประเทศชั้นนำทางการศึกษาก็ยังคงทำคะแนนทิ้งห่างจากอเมริกา แล้วอเมริกาจะสร้างแรงงานคุณภาพของตนได้อย่างไร หากไม่สามารถเปลี่ยนแปลงคุณภาพการศึกษาให้แก่คนรุ่นใหม่ได้ ชะตากรรมที่ประเทศจะต้องเผชิญอย่างแน่นอนก็คือ การเพิ่มขึ้นของการว่างงาน ค่าแรงที่ต่ำกว่า และการเมืองที่ไม่เสถียร” (2)

          นอกจากนี้ ความเหลื่อมล้ำของนักเรียนในสหรัฐอเมริกายังมีมาก และมากกว่าประเทศชั้นนำทางด้านการศึกษา เห็นได้จากในปี 2018 นักเรียนที่มีโอกาสสูงมีคะแนนการอ่านสูงกว่านักเรียนที่ขาดโอกาส ถึง 99 คะแนน เปรียบเทียบกับฮ่องกงทีมีความแตกต่างกันเพียง 59 คะแนน เอสโทเนีย 61 คะแนน และแคนาดา 68 คะแนน

          ตั้งแต่ปี 2015 คะแนนก็ยิ่งแตกต่างกันมากขึ้นทั้งในวิชาคณิตศาสตร์ และ การอ่าน เนื่องจากผู้ที่ทำคะแนนสูงก็ยังคงมีคะแนนเพิ่มขึ้น ในขณะที่ผู้ที่ได้คะแนนน้อยก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำดังเดิม จากผลการประเมินความก้าวหน้าทางการศึกษาระดับชาติ the National Assessment of Education Progress (NAEP) ก็พบว่า ช่องว่างของผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษากว้างขึ้นเช่นกัน ประเด็นดังกล่าวเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้เราเห็นสัดส่วนของนักเรียนที่ด้อยโอกาสเพิ่มขึ้น

          แม้ว่าจะมีข้อค้นพบที่ท้าทาย แต่ผลการประเมิน PISA ก็ชึ้ให้เห็นแนวทางแก้ไขปัญหา NCEE กำลังศึกษานโยบาย และแนวทางการปฏิบัติของประเทศชั้นนำทางการศึกษา และสหรัฐอเมริกาในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา เพื่อระบุหลักการที่อเมริกาสามารถใช้เพื่อปรับปรุงการออกแบบระบบการศึกษาได้

งานวิจัยของ NCEE แสดงให้เห็นว่าประเทศชั้นนำด้านการศึกษาแต่ละประเทศ พัฒนาระบบการศึกษา โดยมีคุณลักษณะสำคัญร่วมกัน ได้แก่

  • การเข้าถึงการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยที่มีคุณภาพสูง และการดูแลเด็กเล็ก
  • ครูชั้นยอด และผู้นำโรงเรียนชั้นเยี่ยม
  • การสนับสนุนที่เข้มแข็งสำหรับนักเรียนที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
  • ระบบการเรียนการสอนที่ออกแบบอย่างดีและทรงพลัง
  • วิธีการที่ยุติธรรมในการสนับสนุนการเงินของโรงเรียน
  • ระบบที่เข้มแข็งและเป็นธรรม ไม่ละเลยข้อผิดพลาด และสร้างความรับผิดชอบ

          เมื่อไม่นานมานี้ คณะกรรมการนวัตกรรมและความเป็นเลิศทางการศึกษาของแมรี่แลนด์ (Maryland Commission on Innovation and Excellence in Education) รู้จักกันในนาม The Kirwan Commision สร้างพิมพ์เขียวเพื่อออกแบบระบบการศึกษาของแมรี่แลนด์ใหม่ การออกแบบของคณะกรรมการเกิดขึ้นจาก งานวิจัยเรื่องระบบการศึกษาของประเทศผู้นำจากผลประเมิน PISA ที่วิจัยโดย NCEE เมื่อปีที่ผ่านมา โดยรัฐได้ยอมรับข้อเสนอแนะ และจัดเตรียมงบประมาณกว่า 1 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ เพื่อนำแผน 10 ปีดังกล่าวไปใช้ อเมริกามองว่า นักเรียนของเขาถูกทิ้งห่างจากประเทศชั้นนำทางการศึกษา และมีจำนวนประเทศที่จะแซงหน้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ การแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดขึ้นอยู่ว่า พวกเขาจะตามประเทศเหล่านั้นได้เร็วเพียงใด

          จากผลการประเมิน PISA 2018 และบทเรียนของอเมริกา ย้อนกลับมามองไทยในฐานะประเทศที่รับหลายแนวทางพัฒนาการศึกษาจากอเมริกา และคุณภาพการศึกษาที่ยังคงตกต่ำ

ผู้ดูแลนโยบายการศึกษา นักการศึกษา คณาจารย์ครุศึกษา ผู้บริหารโรงเรียน และครูไทยมองเรื่องนี้อย่างไร

ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่เราก็ต้อง “รีเซ็ตการศึกษาไทย” เสียที



* ผลการประเมินของประเทศสหรัฐอเมริกา นักเรียนมีคะแนนเฉลี่ยในด้านการอ่าน 505 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 487 คะแนน) คณิตศาสตร์ 478 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 489 คะแนน) และวิทยาศาสตร์ 502 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 489 คะแนน)

** ผลการประเมินของ 4 เมืองใหญ่ของจีน (ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เจียงซู และเจ้อเจียง) นักเรียนมีคะแนนเฉลี่ยในด้านการอ่าน 555 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 487 คะแนน) คณิตศาสตร์ 591 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 489 คะแนน) และวิทยาศาสตร์ 590 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 489 คะแนน)

ผลการประเมินของประเทศไทย นักเรียนไทยมีคะแนนเฉลี่ยในด้านการอ่าน 393 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 487 คะแนน) คณิตศาสตร์ 419 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 489 คะแนน) และวิทยาศาสตร์ 426 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 489 คะแนน)

อ้างอิง

บทความแปลจาก Mackay: PISA Results Show Need for Educational “Reset” http://ncee.org/pisa-2018 https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%95%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%81%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B8%88%E0%B8%B5%E0%B8%99 https://www.oecd.org/pisa/PISA%202018%20Insights%20and%20Interpretations%20FINAL%20PDF.pdf https://pisathailand.ipst.ac.th/news-12/

(1) แอนโทนี่ แมคเคย์ ประธานและ CEO ของศูนย์การศึกษาและเศรษฐกิจแห่งชาติ (NCEE : National Center on Education and the Economy)

(2) มาร์ค ทัคเกอร์ ผู้ก่อตั้งและกรรมการอาวุโสกิตติมศักดิ์ของ NCEE


TAG: #ปฏิรูปการศึกษา