Knowledge

สัญญากันนะว่าจะอ่านแบบช้าๆ...สร้างสมาธิได้ทุกวัน ในห้องเรียนของเรา

สัญญากันนะว่าจะอ่านแบบช้าๆ...สร้างสมาธิได้ทุกวัน ในห้องเรียนของเรา

 4 years ago 5689

ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

          ครูหลายท่านมักคิดว่า การอ่านหนังสือได้เร็วจะทำให้เด็กๆ ได้เปรียบ มีทักษะในอนาคต สามารถได้สาระสำคัญ และจับใจความได้ในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งยังเป็นทักษะที่ควรฝึกฝนให้แก่เด็กๆ ของเรา แต่ท่านทราบหรือไม่ว่า ที่จริงแล้วการอ่านหนังสืออย่างช้าๆ ก็สามารถสร้างสมาธิและมีประโยชน์หลายเรื่องเช่นเดียวกัน

ประโยชน์ของการอ่านแบบช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป

          ในหลายประเทศ การอ่านหนังสือช้าอย่างค่อยเป็นค่อยไปกลับได้รับความนิยม จนถึงขั้นจัดตั้งเป็นชมรมหรือสโมสร เช่น สโลว์รีดดิงคลับ ที่กรุงเวลลิงตัน นิวซีแลนด์ ซึ่งมีการรวมตัวของคนรักหนังสือ ที่มาร่วมกันอ่านหนังสือเล่มโปรดของพวกเขาอย่างช้าๆ ไปด้วยกัน เพื่อใช้เวลาอยู่กับตัวเองและดื่มด่ำสุนทรียจากตัวหนังสือที่สร้างจินตนาการ มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ออกมารับรองว่า การอ่านหนังสือช้าๆ มีประโยชน์ต่อผู้อ่านไม่ว่าจะเป็น

  1. ช่วยเสริมสร้างสมาธิ
  2. พัฒนาสมองและอารมณ์ความรู้สึก
  3. ลดความตึงเครียด
  4. เพิ่มความสามารถในการคิด ฟัง และทำความเข้าใจ

          ท่ามกลางความวุ่นวาย ความยุ่งเหยิง และมุ่งแต่ความรวดเร็วในวิถีชีวิตของเด็กรุ่นใหม่ พวกเขาชอบอ่านหนังสือ ดูยูทูป โซเซียลมีเดีย และสื่อดิจิทัล เราจะทำอย่างไรจึงจะฝึกฝนให้เด็กๆ รู้จักการอ่านแบบดื่มด่ำไปกับสุนทรียของภาษา และมีสมาธิจดจ่อไปกับสิ่งที่กำลังอ่านอยู่ตรงหน้า เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่องราวนั้นๆ อย่างลึกซึ้ง โดยไม่ปล่อยให้มีสิ่งรอบข้างเข้ามาหันเหความสนใจออกไป

หลากหลายวิธี เพื่อฝึกฝนการอ่านช้าๆ ให้แก่เด็กๆ ของเรา

คุณครูและโรงเรียนมีบทบาทสำคัญในการสร้างทักษะนี้ โดยจะต้องมุ่งมั่นและฝึกฝนเด็กๆ ทุกวัน ในห้องเรียนของเราเอง
1. จัดช่วงเวลาสำหรับการอ่านช้าๆ
ทุกเช้า เป็นการส่งสัญญาณให้เด็กๆ ทราบถึงความสำคัญของกิจกรรมดังกล่าว ไม่ได้เน้นว่าต้องยาวนาน แต่ควรเป็นช่วงเวลาที่มีคุณภาพ อาจเป็นช่วงเช้าของทุกวัน เพราะเช้าๆ เด็กๆ ส่วนมากจะสมองปลอดโปร่งและมีไหวพริบดีกว่าช่วงอื่นๆ เริ่มต้นจากความเงียบชั่วขณะหนึ่งก่อนเพื่อจะได้ตั้งสมาธิ ก่อนจะปล่อยให้เด็กๆ อ่านถึงหนังสืออย่างช้าๆ แล้วจึงจบกิจกรรมอย่างมีความหมายด้วยการทบทวนความคิดเงียบๆ และใช้ที่คั่นหนังสือ เพื่อจะได้มาอ่านต่อในครั้งต่อไปและเทคนิคที่สำคัญคือ ควรจะมีตารางการอ่านที่สม่ำเสมอ คล้ายกับตารางการออกกำลังกาย ถือเป็นการออกกำลังกายสมองและอารมณ์แทน

2. รู้สึกไปกับเรื่องราว ติดถ้อยคำที่ประทับใจ ย้ำเตือนเรา
อารมณ์ถือเป็นกุญแจสำคัญ การอ่านแบบช้าๆ นับเป็นการฝึกสมาธิรูปแบบหนึ่ง ที่ช่วยสอนให้เห็นถึงอารมณ์ที่หลากหลายซึ่งเกิดขึ้นในตัวเรา เมื่อเด็กๆ อ่านพวกเขาจะรับรู้ แต่ไม่ได้ถูกครอบงำด้วยอารมณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านั้น เมื่อเด็กๆ เติบโตเป็นหนุ่มสาว เข้าใจว่าสถานการณ์และข้อความบางอย่างอาจจะกระตุ้นให้เกิดการเติบโต และสร้างความเข้าใจใหม่ๆ ในเรื่องของชีวิต ในห้องเรียนเองอาจจะมีการรวบรวมประโยคหรือคำต่างๆ ที่เด็กๆ อ่านแล้วทำให้เกิดความสุข ทั้งในด้านอารมณ์และความคิดมาติดไว้รอบห้องเรียน หรือคุณครูอาจจะลองหาวิธีบูรณาการเรื่องเหล่านี้ไปสู่การจัดการเรียนรู้ก็ได้

3. สร้างสภาพแวดล้อมให้รู้สึกสงบและช้าลง
สภาพแวดล้อมที่จะช่วยสร้างความรู้สึกที่อยากจะทำอะไรๆ ให้ช้าลงขึ้นมาก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ ปล่อยให้เด็กๆ เป็นคนเลือกและใช้อาณาบริเวณสำหรับการอ่านรอบๆ ห้องเรียน (หรือโรงเรียน หรือพื้นที่กลางแจ้ง) แล้วครูคอยตรวจสอบตัวเลือกดังกล่าวเป็นระยะๆ บางครั้งอาจจะมีการตั้งกระโจมหรือเต็นท์ พื้นที่โล่งหรือถ้ำ (ใช้กล่องกระดาษ) สำหรับการอ่านขึ้นมา แล้วหมุนเวียนสิทธิ์ที่จะได้ใช้พื้นที่ดังกล่าวกับหนังสือสักเล่มพร้อมกับหมอนและตะเกียง เป็นต้น เทคนิคสำคัญ เพื่อให้ได้ประโยชน์มากที่สุด ควรอ่านหนังสือบนเก้าอี้ตัวโปรดที่นั่งสบายที่สุด และที่สำคัญต้องให้เด็กๆ หยุดใช้คอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนในขณะอ่านอย่างเด็ดขาด

4. เชื้อเชิญให้เกิดการพูดคุยกัน
คงมีหลายๆ ครั้งที่เรารู้สึกว่าอยากพูดคุย หรือรู้สึกว่าต้องคุยกับใครสักคนเกี่ยวกับหนังสือหรือบทความที่เราอ่านมา สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า แม้การอ่านเป็นกิจกรรมเฉพาะบุคคลแต่ก็ยังคงเป็นกิจกรรมทางสังคมด้วย เหมือนกับที่เราอ่านหนังสือไปด้วยกันในชมรมรักการอ่าน เป็นต้น ครูควรเปิดโอกาสให้นักเรียนได้สำรวจข้อความต่างๆ ด้วยตนเองและพูดคุยกันเกี่ยวกับประสบการณ์จากการอ่านนั้นๆ ด้วย เพื่อเป็นการพัฒนาทักษะที่จะมีส่วนร่วมกับผู้อื่น ทั้งแบบไม่เป็นทางการและเป็นทางการ ครูอาจจะจัดเตรียมหนังสือมาให้ หรือกระตุ้นให้นักเรียนด้วยคำถาม เพื่อให้เกิดการพูดคุยขึ้น

5. ให้ตัวเลือกที่แตกต่าง
เด็กๆ ควรได้รับโอกาสที่จะได้เลือกอ่านในสิ่งที่ตนสนใจอย่างเป็นอิสระและไม่มีข้อจำกัด ครูควรให้ความสำคัญกับความสนใจที่แตกต่างของเด็กแต่ละคน แม้ว่าส่วนใหญ่เด็กๆ มักจะมีแนวโน้มที่จะเลือกหนังสือเพื่อความบันเทิง การ์ตูน หรือ ซีรีส์ต่างๆ ก็ควรปล่อยให้เด็กเลือก ครูเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์และอำนวยความสะดวก จัดเตรียมให้มีหนังสือและบทความที่หลากหลายไว้ในห้องเรียน เทคนิคที่สำคัญ ครูตรวจสอบชั้นเรียนดูว่าหนังสือต่างๆ ที่มีอยู่ได้รับความสนใจจากเด็กๆ มากน้อยแค่ไหน หรืออาจจะจัดกิจกรรมพูดคุยกันเกี่ยวกับหนังสือที่เด็กๆ อ่าน เพื่อให้เด็กแสดงความคิดเห็นของตนเองแก่เพื่อนๆ ซึ่งอาจจะจูงใจให้เพื่อนคนอื่นได้อ่านในสิ่งที่พวกไม่เคยสนใจมาก่อน ทั้งยังทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ ความชอบของเพื่อนๆ คนอื่นด้วย

          การปลูกฝังทักษะการอ่านช้าๆ นี้จะช่วยพัฒนาเด็กๆ ให้รู้จักอดทน รับมือกับอาการหมดไฟ และรู้จักความสมดุล เพื่อสร้างสมาธิจดจ่อ สร้างสุนทรียทางอารมณ์ และรู้จักการใช้ชีวิตที่มีสติและช้าลงในโลกภายนอกที่วุ่นวาย ซึ่งจะเป็นทักษะสำคัญในการเผชิญชีวิตที่รีบเร่งในอนาคตของพวกเขา

ที่มา: เรียบเรียงจาก

The Promise of Slow Reading จาก http://www.ascd.org/publications/educational-leadership/feb20/vol77/num05/The-Promise-of-Slow Reading.aspx?utm_source=SmartBrief&utm_medium=email&utm_campaign=EL&utm_term=literacy

Read Slowly to Benefit Your Brain and Cut Stress จาก https://www.wsj.com/articles/read-slowly-to-benefit-your-brain-and-cut-stress-1410823086


TAG: #ทักษะจำเป็นในศตวรรษที่21 #การอ่าน