Knowledge

สตีเฟน ฮอว์กิง บทเรียนจากนักฟิสิกส์ระดับโลก ผู้ไม่เคยละทิ้งความหวัง

สตีเฟน ฮอว์กิง บทเรียนจากนักฟิสิกส์ระดับโลก ผู้ไม่เคยละทิ้งความหวัง

 5 years ago 7407

เรื่อง: ภัทรพร บุญนำอุดม

ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

 

ทันทีที่รู้ข่าวการจากไปของ ‘สตีเฟน ฮอว์กิง’ เราก็รู้ซึ้งถึงเหตุที่เช้านี้บรรยากาศอึมครึมได้ปกคลุมไปทั่วท้องฟ้า

‘สตีเฟน ฮอว์กิง’ เสียชีวิตในบ้านพักตนเองด้วยวัย 76 ปี

เขาคือนักฟิสิกส์ทฤษฎีชาวอังกฤษที่นักวิทยาศาสตร์ระดับโลกต่างยกย่องให้เป็น ‘อัจฉริยะ’

นอกจากสามารถคิดค้นสมการที่จะเป็นคำตอบที่ใกล้เคียงที่สุดของ Theory of Everything (ทฤษฎีสำหรับทุกสิ่งทุกอย่าง) ที่ใช้ไขความลับของจักรวาลได้แล้ว แนวคิดในการใช้ชีวิตของเขายังสร้างแรงบันดาลใจให้มวลมนุษยชาติใช้ชีวิตอย่างไม่สิ้น ‘ความหวัง’

ในแง่ประวัติการศึกษาต้องถือว่า ฮอว์กิงเป็นนักเรียนระดับหัวกะทิ หลังจบไฮสคูลเขาเลือกศึกษาต่อในสาขาคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ ที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด โดยจบปริญญาตรีพร้อมด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 ต่อมาเขาได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในสาขาจักรวาลวิทยา และเริ่มศึกษาเรื่องฟิสิกส์ของหลุมดำจนในที่สุดโลกก็ได้รู้จักกับทฤษฎีที่เรียกว่า ‘บิ๊กแบง’

สตีเฟน ฮอว์กิง

สตีเฟน ฮอว์กิง เมื่อปี ค.ศ. 1963

ภาพ: ox.ac.uk

แต่อุปสรรคอันใหญ่หลวงก็เกิดขึ้น ณ ช่วงเวลาเดียวกัน ในวัย 21 ปี ฮอว์กิงพบว่า ตนเองกำลังเผชิญโรคร้ายที่อาจส่งผลให้เขาไม่สามารถทำงานในฐานะนักฟิสิกส์ไปอีกตลอดชีวิต เขาป่วยด้วยโรค Amyotrophic Lateral Sclerosis (ALS) อาการคือกล้ามเนื้อของเขาจะอ่อนแรงลงไปเรื่อยๆ จนขยับเขยื้อนไม่ได้ แม้แต่หมอก็ยังวินิจฉัยว่า เขาไม่น่ามีชีวิตอยู่เกิน 2 ปี แต่ทว่าฮอว์กิงกลับเลือกที่จะต่อสู้กับความป่วยของเขา

สตีเฟน ฮอว์กิง ขณะทำงาน เมื่อปี ค.ศ. 1982

ภาพ : abcnews.go.com

 

ด้วยแรงใจและการไม่ละทิ้งซึ่ง ‘ความหวัง’ ในการมีชีวิตอยู่เพื่อทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ในที่สุดฮอว์กิงสามารถลบคำทำนายของหมอและใช้ชีวิตมาได้กว่าครึ่งศตวรรษ

บทเรียนจากชีวิตของฮอว์กิงจึงน่าทึ่งไม่แพ้กับทฤษฎีเกี่ยวกับจักรวาลที่เขาค้นพบ

ในวาระแห่งการจากไปของเขา EDUCA จึงขอนำบทเรียน 5 ข้อที่เขาเขียนไว้ใน My Brief History ซึ่งเป็นหนังสืออัตชีวประวัติของตนเอง ว่าด้วยการใช้ชีวิตในฐานะนักศึกษาจนสามารถกลายเป็นอัจฉริยะที่ทั่วโลกต่างยกย่อง ซึ่งครูสามารถนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติตนและแนะนำให้แก่ลูกศิษย์ของเราได้

หนังสือสตีเฟน ฮอว์กิงหนังสือ My Brief History เขียนโดย สตีเฟน ฮอว์กิง

ภาพ : hawking.org.uk

1. อย่าโหมงานหนักจนเกินไป

3 ปีที่ใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด เขาใช้เวลาในการทำงานไปประมาณ 1,000 ชั่วโมง หรือเฉลี่ยวันละเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น แม้แต่อัจฉริยะอย่างฮอว์กิงยังออกปากว่า “จงอย่าเครียดหรืออย่ากดดันตัวเองมากเกินไป” เพราะการที่มัวแต่กังวลว่าทุกสิ่งที่อย่างจะต้องออกมาเพอร์เฟ็กต์นั้นหาใช่สาระสำคัญของชีวิต

2. อย่าดูถูกโรงเรียน

สังคมในมหาวิทยาลัยที่เขาอยู่คงจะอุดมไปด้วยนักศึกษาผู้มากด้วยมันสมองและความสามารถ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นคือ หลายคนรวมถึงตัวเขาเองมักจะคิดว่า ไม่มีอะไรที่น่าสนใจใคร่รู้หรือควรค่าแก่การเสียเวลาเพื่อไปศึกษาอย่างจริงจัง   แต่หลังจากเผชิญกับโรคร้าย ความป่วยได้ทำให้เขาตระหนักว่า ชีวิตเป็นสิ่งที่มีค่ามากมายเหลือเกิน และยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่เขาอยากทำ อย่าปล่อยให้อีโก้มาทำลายโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง

3. อย่าพยายามใส่ทุกอย่างลงไปในหัว

โดยเฉพาะเวลาที่อ่านตำราต่างๆ อย่ามัวแต่อ่านประโยคที่ทำให้เราไม่เข้าใจซ้ำแล้วซ้ำเล่า ฮอว์กิงแนะนำว่า เมื่อเจอศัพท์ที่ซับซ้อนยุ่งยาก ให้ใช้วิธีลืมมันไปก่อน แล้วเวลาอ่านหนังสือให้พยายามคิดออกมาให้เป็นภาพ เพราะการคิดเป็นภาพจะฝึกให้เรามีทักษะในการเปรียบเทียบและการแปลงตัวหนังสือให้เป็นแผนภาพ

4. Enjoy กับการใช้ชีวิต

ไม่ว่าจะเล่นกีฬาหรือเล่นสนุกก็ตาม ฮอว์กิงแนะนำว่า “อยากเล่นก็เล่นเถอะ” แล้วก็หาเวลาออกไปแฮงค์เอาท์กับเพื่อนๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ในมหาวิทยาลัยบ้าง เพราะช่วงเวลาดีๆ เหล่านี้ไม่ได้หาได้ง่ายๆ และแน่นอนว่ามันไม่ได้คงอยู่กับเราตลอดไป

5. จงใช้ชีวิตอย่างมีความหวังเสมอ

ฮอว์กิงถือคติว่า ความพิการทางร่างกายของเขาไม่ได้ทำให้การทำวิจัยทางวิทยาศาสตร์ หรือแพสชั่นของเขาต้องพิการตามไปด้วย ในทางกลับกันเขากลับมองว่า สิ่งที่เขาเป็นนั้นมีแง่ดีที่ทำให้เขาไม่ต้องใช้เวลาไปกับการทำกิจกรรมอันน่าเบื่อหน่าย อย่างเช่นการเข้าประชุมที่ส่วนใหญ่แล้วค่อนข้างเสียเวลาไปเปล่าๆ แต่เขาสามารถที่จะใช้เวลาไปกับการค้นคว้าทำวิจัยในสิ่งที่ตนเองสนใจใคร่รู้ได้อย่างเต็มที่

“แม้แต่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด คนเราจะอยู่รอดได้ก็ต่อเมื่อไม่ละทิ้งซึ่งความหวัง” คือประโยคสุดท้ายที่ฮอว์กิงต้องการย้ำเตือนแก่เราทุกคน

สตีเฟน ฮอว์กิง

สตีเฟน ฮอว์กิง ระหว่างทดสอบการบินไร้แรงโน้มถ่วง

ภาพ : hawking.org.uk

สตีเฟน ฮอว์กิง เคยออกปากด้วยความเป็นห่วงต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ในอีก 100 ปีข้างหน้า ที่เขาคาดการณ์ว่าโลกจะเกิดความหายนะ ทั้งยังเรียกร้องให้ส่งมนุษย์อวกาศออกไปเหยียบดวงจันทร์ให้ได้ภายในปี 2020 เพื่อหาทางอพยพมนุษย์ออกไปตั้งรกรากที่อื่น

น่าเสียดายที่ในอีก 2 ปีข้างหน้า โลกจะไม่ได้เห็นฮอว์กิงคอยส่งกำลังใจให้กับโปรเจคการหาที่อยู่ให้กับมนุษยชาติ

แต่อย่างไรก็ตามเราเชื่อว่า ณ เวลานั้น ฮอว์กิงคงรอพวกเราอยู่บนดวงจันทร์แล้ว

 

อ้างอิงข้อมูล:

hawking.org.uk

theguardian.com/science/2018/mar/14/stephen-hawking-professor-dies-aged-76?CMP=Share_iOSApp_Other

vix.com/en/career-education/527741/stephen-hawking-has-best-tips-every-college-student-live

เครดิตภาพ:

nationalgeographic.com.au

 

 


TAG: #ความรู้รอบตัว #สตีเฟน ฮอว์กิง #บิ๊กแบง #นักฟิสิกส์ #ฟิสิกส์ของหลุมดำ #เบื้องหลังแนวคิด