Knowledge

จากปรัชญาการสอนสไตล์ครูๆ แก้ Crisis ด้วย CRISIS

จากปรัชญาการสอนสไตล์ครูๆ แก้ Crisis ด้วย CRISIS

 4 years ago 3213

แปล: พิศวัสน์ สุวรรณมรรคา
เรียบเรียง: ภรณี ลัคนาภิเศรษฐ์
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

          ตลอดช่วงชีวิตของการเป็นครู ไม่ว่าจะเป็นครูใหม่ หรือครูที่สอนมาจนนาน จนใกล้วัยเกษียณ เชื่อว่าครูหลายคนคงจะมีปรัชญาการสอนที่ตัวเองยึดถือเสมอมา เป็นความเชื่อ ความคิดของการสอน และการเรียนรู้ ซึ่งหลักๆ ก็มาจากคำถามพื้นฐาน 4 ข้อ คือ ทำไมเราถึงสอน เราสอนอะไร เราสอนอย่างไร และเราวัดประสิทธิภาพการสอนอย่างไร ปรัชญาการสอนเหล่านี้จะอยู่เหนือทุกการตัดสินใจ ชี้นำกระบวนการจัดการเรียนรู้ รวมถึงแนวทางการส่งเสริมการเรียนรู้ในชั้นเรียน ครูที่มีปรัชญาการสอนจะสอนอย่างมีเป้าหมาย มีสมาธิและรู้สึกกระปรี้กระเปร่ามากขึ้น และสิ่งเหล่านี้เองก็คอยช่วยผลักดันให้ครูยังคงมุ่งมั่นต่อความเชื่อของตัวเอง

          ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาเมื่อเกิดการระบาดของ COVID-19 ครูทั่วโลกเผชิญกับความท้าทายในการจัดการเรียนรู้ตามกรอบปรัชญาการสอนที่ตัวเองยึดถือ ครู Aaron Tombrella เป็นครูอีกคนหนึ่งที่เผชิญสถานการณ์ไม่ต่างจากครูคนอื่น เขาสอนออนไลน์โดยยังคงใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบเดียวกับในห้องเรียน เพราะคิดว่านักเรียนน่าจะคุ้นเคยกับแนวทางนี้ดีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในห้องเรียนออนไลน์คือ นักเรียนขาดการมีส่วนร่วม แม้ว่ากระบวนการที่ครูใช้จะเป็นสิ่งที่นักเรียนคุ้นเคยอยู่แล้วก็ตาม

          เมื่อสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ แต่เป็นวิกฤตที่เราไม่เคยมีตัวอย่างเทียบเคียงมาก่อน ครู Aaron จึงจำเป็นต้องกลับมาทบทวนปรัชญาการสอนใหม่ และปรับให้เข้ากับสถานการณ์ ซึ่งสุดท้ายแล้วปรัชญาที่ครู Aaron สรุปออกมาก็เป็นตัวย่อง่ายๆ ว่า CPR แต่ไม่ได้แปลว่าการช่วยฟื้นคืนชีพอย่างที่เราเคยได้ยินกัน CPR ฉบับครู Aaron มี 3 ข้อด้วยกันคือ

  • มโนทัศน์เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง (Concepts are crucial)
  • กระบวนการเหนือกว่าผลผลิต (Process over product)
  • กฎของความสัมพันธ์ (Relationships rule)

          สำหรับครูคนอื่นที่อาจจะมีปรัชญาการสอนที่ไม่เหมือนกัน หากต้องการทบทวนปรัชญาการสอนของตัวเอง ครูต้องระบุออกมาให้ได้ว่าตนเองเชื่ออย่างไร จากนั้นเมื่อระบุปรัชญาการสอนได้แล้ว ค่อยมาทบทวนวิธีการต่อไปว่าเราจะจัดการเรียนรู้อย่างไร สำหรับครู Aaron แล้วใช้แนวทางที่มีขื่อว่า CRISIS ซึ่งมีแนวคำถามในการทบทวนตัวเอง ดังนี้

  • Capability: (ประสิทธิภาพ) ประสิทธิภาพของแพลตฟอร์มการเรียนรู้ของตัวเราเอง และนักเรียน คืออะไร
  • Reliability: (ความน่าเชื่อถือ) แผนการ ซอฟต์แวร์ โปรแกรมที่ใช้มีความน่าเชื่อถือหรือไม่
  • Inability: (การไร้ความสามารถ) มีอะไรที่เราไม่สามารถทำได้ในสถานการณ์นี้บ้าง
  • Suitability: (ความเหมาะสม) แผนการของเราเหมาะสมกับสถานการณ์ในช่วงนี้หรือไม่
  • Ingenuity: (ความช่างคิด) ทำอย่างไรให้เรายังเป็นคนช่างคิด และยังคงทำให้ปรัชญาเป็นจริงอยู่
  • Sustainability: (ความยั่งยืน) สิ่งที่เรากำลังทำจะสร้างการเรียนรู้ที่ยั่งยืนของเด็กหรือไม่

          ฉะนั้น เมื่อไรก็ตามที่ครูไม่มั่นใจว่าปรัชญาการสอนที่ตัวเองยึดถือคืออะไร และจะตอบสนองต่อการจัดการเรียนรู้ในสถานการณ์ปัจจุบันได้ดีอยู่หรือไม่ ครูต้องกลับมาทบทวนแก่นคิดที่ตัวเองยึดถืออีกครั้ง จากนั้นอาจใช้หลัก CRISIS นี้ในการช่วยทบทวนการจัดการเรียนการสอนตัวเอง และค่อยๆ ปรับให้เข้ากับสถานการณ์ เป็นการรับมือ Crisis ด้วย CRISIS ซึ่งแน่นอนว่าในอนาคต การปรับตัวได้อย่างรวดเร็วจะกลายเป็นทักษะสำคัญอีกทักษะหนึ่ง เพราะโลกเรายังคงต้องเผชิญกับวิกฤตที่คาดเดาไม่ได้อีกมากมาย

อ้างอิง:
Tombrella, A. (2020, May 18). Revising Your Teaching Philosophy for This Crisis. Retrieved June 8, 2020, from https://www.edutopia.org/article/revising-your-teaching-philosophy-crisis

What is a Teaching Philosophy Statement and Why Do I Need it?: Resilient Educator. (2020, May 21). Retrieved June 9, 2020, from https://resilienteducator.com/teaching-careers/what-is-a-teaching-philosophy-statement-and-why-do-i-need-it/


TAG: #ปรัชญาการสอน #CRISIS