Knowledge

ทำไมการมองโลกในแง่ดี ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น เมื่อเกิดโรคระบาด

ทำไมการมองโลกในแง่ดี ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น เมื่อเกิดโรคระบาด

 3 years ago 1668

แปลและเรียบเรียง: ภรณี ลัคนาภิเศรษฐ์

          “อดทนอีกนิดนะ เดี๋ยวอะไรๆ ก็ดีขึ้นเอง” คำพูดให้กำลังใจตัวเองหรือผู้อื่นแบบมองโลกในแง่บวกนี้อาจใช้ได้ดีในสถานการณ์อื่น แต่เมื่อโลกเรายังคงเผชิญกับการระบาดของ COVID-19 เป็นแรมปี ผู้เชี่ยวชาญกลับให้ข้อมูลว่า การบอกให้มองโลกในแง่บวกในยามที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์อันยากลำบากไม่ได้กระตุ้นให้นักเรียน และครูข้ามผ่านช่วงเวลาที่ตึงเครียดได้ คำพูดเหล่านี้กลับให้ผลตรงข้ามด้วยซ้ำ
          ก่อนหน้านี้เราอาจจะเคยได้ยินผู้เชี่ยวชาญออกมาบอกว่า การมองโลกในแง่บวกเพิ่มโอกาสเสี่ยงติดเชื้อ COVID-19 เพราะทำให้เราระวังตัวน้อยลง ไม่ว่าจะเรื่องการใส่แมส ล้างมือบ่อยๆ หรือการเว้นระยะห่างทางสังคม งานวิจัยเมื่อปี 2020 ก็มีข้อมูลสนับสนุนว่าคนทั่วไปเชื่อว่าตัวเองเสี่ยงติดเชื้อน้อยกว่าคนอื่น เพราะเรามักจะคิดเข้าข้างตัวเองในสถานการณ์ที่ดี แต่หากเป็นสถานการณ์ที่แย่เรากลับประเมินต่ำกว่าความเป็นจริง กลับมาสู่คำถามที่ว่าเมื่อการมองในแง่บวกไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นเสมอไป ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น แล้วอะไรจะทำให้เราข้ามผ่านสถานการณ์อันเลวร้ายที่กำลังเผชิญอยู่ได้ โดยเฉพาะแวดวงการศึกษาที่ทุกคนต่างก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน
          เหตุผลที่การมองโลกในแง่บวกที่มากจนเกินไปไม่ก่อให้เกิดผลดีก็เพราะไม่ได้สร้างแรงจูงใจ แต่กลับทำให้ตัวเองหรือผู้อื่นรู้สึกผิด เกิดความเครียดที่ไม่สามารถจะมองโลกในแง่ดีได้ ในความเป็นจริงเราไม่สามารถมองโลกในแง่บวกได้ตลอดเวลา ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำให้เราปล่อยให้ตัวเองได้รับรู้ความรู้สึกทุกอย่างที่เกิดขึ้น แม้ว่าความรู้สึกนั้นจะเป็นเรื่องที่แย่ก็ตาม โดยเฉพาะคนเป็นครูที่สังคมคาดหวังว่าควรเป็นต้นแบบที่ดีให้กับเด็กๆ ครูไม่ควรจะบอกเด็กๆ ว่าทุกอย่างจะเป็นไปด้วยดี เพราะความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น การเป็นต้นแบบที่ดีในสถานการณ์เช่นนี้จึงเป็นการบอกเด็กๆ ให้รับรู้ความรู้สึกทุกอย่างที่เกิดขึ้นมากกว่า
          นอกจากนี้ ยังมีผลการสำรวจที่สะท้อนให้เห็นว่าโรคระบาดสร้างความบั่นทอนทางจิตใจให้แก่นักเรียน ครู และนักการศึกษาที่สหรัฐอเมริกาไปไม่น้อยเลย เราพบว่า
นักเรียนระดับชั้น ม.ต้น และ ม.ปลาย เกือบ 40% มีกำลังใจลดลงต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาด ครึ่งหนึ่งบอกว่าโรคระบาดทำให้พวกเขามีแรงบันดาลใจเรื่องเรียนน้อยลง
ครู 45% ก็บอกเช่นเดียวกันว่ากำลังใจของพวกเขาลดต่ำลงกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาด ครู 42% มีแรงบันดาลใจน้อยลงที่โรงเรียน
นักการศึกษา เกือบ 1 ใน 3 เห็นว่าความพยายามของผู้บริหารที่จะสร้างกำลังใจให้ครูนั้นแทบจะไม่มีผล อีก 4% บอกว่าความพยายามเหล่านั้นกลับทำให้เสียกำลังใจมากขึ้นไปอีก
          เมื่อการมองโลกในแง่บวกไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นเสมอไป การกลับมายอมรับว่าตอนนี้กำลังรู้สึกไม่โอเคกับอะไรบางอย่างน่าจะเป็นการรับรู้สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นได้ดีที่สุด เพราะเมื่อไรที่เราเพิกเฉยกับความรู้สึกด้านลบก็ไม่ได้ต่างอะไรกับการปิดหูปิดตา มองข้ามปัญหาที่เกิดขึ้น สุดท้ายแล้วอารมณ์เหล่านี้อาจแปรเปลี่ยนเป็นความซึมเศร้า พฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ ความก้าวร้าว หรือปัญหาสุขภาพ ที่น่ากลัวกว่าการติดไวรัสเสียอีก

อ้างอิง
Prothero, A. (2021, January 12). When Toxic Positivity Seeps Into Schools, Here's What Educators Can Do. Retrieved January 13, 2021, from https://www.edweek.org/leadership/when-toxic-positivity-seeps-into-schools-heres-what-educators-can-do/2021/01

Gilchrist, K. (2020, October 23). Why optimism could be unhelpful in a pandemic, according to behavioral psychologists. Retrieved January 14, 2021, from https://www.cnbc.com/2020/10/22/why-optimism-bias-could-be-unhelpful-in-a-pandemic-say-psychologists.html


TAG: #โรคระบาดใหญ่ #โควิด #COVID19 #โควิด19