Knowledge

ยังไม่มีอะไรแทน “ครู” ได้ เมื่อการสอนออนไลน์ อาจไม่ใช่คำตอบของทุกห้องเรียน

ยังไม่มีอะไรแทน “ครู” ได้ เมื่อการสอนออนไลน์ อาจไม่ใช่คำตอบของทุกห้องเรียน

 4 years ago 6734

ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

          ในช่วงที่สถานการณ์ Covid-19 ยังระบาดหนักในบ้านเรา คาดการณ์กันว่าหากเทอมหน้าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ครูอาจยังจำเป็นต้องปรับการสอนให้เป็นออนไลน์อยู่ เพื่อให้การจัดการเรียนรู้ยังไม่หยุดชะงักลง แม้เราจะเห็นโอกาสในการจัดการศึกษาผ่านช่องทางใหม่ๆ ที่สะดวกสำหรับนักเรียนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต และอุปกรณ์ที่จำเป็นเหล่านี้ แต่มองกลับกัน วิกฤตนี้อาจกำลังทำให้นักเรียนอีกกลุ่มถูกทิ้งไว้กลางทาง เพียงเพราะพวกเขาเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่

          ไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้นที่ยังมีปัญหาการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต แต่ประเทศที่พัฒนาแล้ว และมีความเจริญทางเทคโนโลยีสูงอย่างอเมริกา ก็มีนักเรียนจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้ที่บ้าน ข้อมูลจาก National Telecommunications and Information Administration (NTIA) ในปี 2017 ระบุว่า มีมากถึง 3.1 ล้านครัวเรือนที่มีเด็กอยู่ในช่วงวัยเรียน หรือคิดเป็น 14% เลยทีเดียว

คำถามที่ครูต้องมีคำตอบ ก่อนปรับการสอนให้เป็นออนไลน์
          “จะใช้โปรแกรมไหนดี ยังไม่เคยใช้ ไม่รู้จะใช้เป็นหรือเปล่า”
          คำถามแรกๆ ที่ครูกังวล เมื่อต้องปรับการสอนมาเป็นออนไลน์มักจะเป็นเรื่องอุปกรณ์และโปรแกรมต่างๆ แต่จริงๆ แล้วหัวใจสำคัญของการเรียนการสอนไม่ได้อยู่ที่เครื่องมือ แต่อยู่ที่ “ครู” กับ “นักเรียน” คำถามที่ครูต้องคำถามตัวเองก่อนจะปรับการสอนมาเป็นออนไลน์ จึงน่าจะเป็น “เราจะช่วยเหลือนักเรียนที่ด้อยโอกาสได้อย่างไร” ทั้งนักเรียนที่เรียนรู้ช้า นักเรียนที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน หรือแม้แต่อินเทอร์เน็ตในการเชื่อมต่อ

รู้จักและเข้าใจเด็ก คีย์สำคัญที่ครูต้องไม่มองข้าม
          มีหลักฐานยืนยันว่า คอร์สเรียนแบบออนไลน์แม้จะสะดวก แต่กลับไม่ส่งผลดีต่อการเรียนรู้ของนักเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือ หลายคนเรียนรู้ได้น้อยลงเมื่อเรียนผ่านออนไลน์ โดยเฉพาะเด็กที่เรียนช้าอยู่แล้ว จะยิ่งได้รับผลกระทบมาก สิ่งที่ครูและโรงเรียนต้องรีบทำก่อนเตรียมการสอนออนไลน์คือ การสำรวจหาว่าเด็กคนไหนต้องการความช่วยเหลือบ้าง โดยเฉพาะเด็กที่ไม่เคยร้องขอความช่วยเหลือ
          ครูคือคนที่ใกล้ชิดนักเรียนมากที่สุดเมื่อพวกเขาอยู่ที่โรงเรียน ครูที่รู้จักนักเรียนของตัวเองดี รู้ว่าใครเรียนรู้ช้า ต้องการความช่วยเหลือมากเป็นพิเศษ ใครไม่มีอุปกรณ์หรืออินเทอร์เน็ต แล้วหาทางแก้ไข จัดสรรเวลาให้เป็นพิเศษ ครูคนนั้นย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จในการสอนออนไลน์มากกว่าที่ครูที่ละเลยเรื่องนี้ไป

รัฐ-โรงเรียน-ครู-ผู้ปกครอง ร่วมมือกัน
          แม้สถานการณ์ไวรัสระบาดดูเหมือนเป็นสถานการณ์บังคับกลายๆ ให้ครูต้องเร่งปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนรู้ แต่หากโรงเรียนมีการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ขาดการวางแผนที่ดี ผลเสียที่เกิดขึ้นก็จะตกอยู่กับนักเรียนที่เรียนรู้ช้ามากที่สุด ภาครัฐ โรงเรียน ครูและผู้ปกครอง จึงต้องร่วมมือกัน วางแผน ปรับรูปแบบให้เหมาะสมกับนักเรียนและพื้นที่ชุมชนที่อาศัยอยู่ ผู้ปกครองต้องเข้ามามีบทบาท กระตุ้นและติดตามผลหากเด็กยังเล็กอยู่ หรือมีสมาธิสั้นเกินกว่าจะเรียนออนไลน์ได้ด้วยตัวเอง
          หนึ่งในมาตรการช่วยเหลือที่เกิดขึ้นในอเมริกานั้น The Federal Communications Commission (FCC) ได้ออกมาติดตั้ง Wi-Fi hotspots ให้กระจายทั่วประเทศ นักเรียนจึงมีโอกาสเข้าถึงชั้นเรียนออนไลน์ได้มากขึ้น ฝั่งบ้านเราเอง กสทช. ก็มีมาตรการช่วยเหลือประชาชนด้วยการแจกอินเทอร์เน็ตสำหรับใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือคนละ 10 GB ด้านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็มีโครงการ Educational Sim ช่วยเหลือนักศึกษา ป.ตรี ที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตไว้ใช้เรียนออนไลน์ ด้วยการเปิดให้ลงทะเบียนรับ Internet Package ไว้ใช้เป็นเวลา 3 เดือน

          แม้มาตรการเหล่านี้จะเป็นการช่วยเหลือนักเรียนให้ไม่ถูกทิ้งไว้กลางทาง แต่โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่อยู่บนเขา บนดอย ไม่มีแม้กระทั่งสัญญาณมือถือ หรือการเรียนการสอนบางระดับ เช่น ปฐมวัย ที่อาจไม่เหมาะกับออนไลน์ ครูกลุ่มนี้กำลังเจองานท้าทายอย่างมาก ต้องมองหาเทคนิคอื่นๆ ที่ไม่ต้องพึ่งเทคโนโลยีเข้าช่วยในการจัดการเรียนรู้มากนัก ซึ่งในหลายประเทศเองก็ปรับการเรียนการสอนกันขนานใหญ่ชนิดที่ไม่เคยทำมาก่อน ครูสามารถเรียนรู้ตัวอย่างจากประเทศเหล่านี้ได้เพิ่มเติมที่ https://educathai.com/knowledge/articles/321

อ้างอิง
Lara Fishbane and Adie Tomer. (2020). As classes move online during COVID-19, what are disconnected students to do?, Retrieved April 3, 2020 from https://www.brookings.edu/blog/the-avenue/2020/03/20/as-classes-move-online-during-covid-19-what-are-disconnected-students-to-do/

โครงการ EDUCATIONAL SIM สำหรับ นศ. ที่ขาดแคลน, Retrieved April 3, 2020 from https://tu.ac.th/thammasat-educational-sim

นักวิชาการห่วง 80% ร.ร.ห่างไกล ไม่พร้อมสอนออนไลน์ ชี้อุปกรณ์ไม่พอ-เน็ตไม่เสถียร, Retrieved April 3, 2020 from https://www.matichon.co.th/education/news_2099058

วิธีลงทะเบียน “รับเน็ตฟรี” 10 GB ทุกค่ายมือถือ เริ่ม 10 เม.ย.นี้, Retrieved April 3, 2020 from https://www.prachachat.net/ict/news-442200


TAG: #COVID19 #โควิด19 #คุณค่าของครู #โรคระบาดใหญ่ #สอนออนไลน์ #การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ #ห้องเรียนในศตวรรษที่ 21 #ทักษะศตวรรษที่21