Knowledge

โอม จงเงยขึ้นมา เงยขึ้นมา มองตาครูสักหน่อย

โอม จงเงยขึ้นมา เงยขึ้นมา มองตาครูสักหน่อย

 3 years ago 2835

เรียบเรียง: จิราพร เณรธรณี

          “ทำอย่างไรให้นักเรียนมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่ครูสอน” เป็นอีกหนึ่งปัญหาพฤติกรรมการเรียนของนักเรียนในยุคนี้ เพราะในปัจจุบันมีอินเทอร์เน็ตเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการเรียนการสอน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นักเรียนจะสนใจสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และมักจะ “ดูมือถือ” ในขณะที่ครูกำลังสอนอยู่ แล้วจะทำอย่างไรให้นักเรียนมีสมาธิสนใจในสิ่งที่ครูสอนมากขึ้น เราจะมาเผยเคล็ด (ไม่) ลับที่ครูทุกคนสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชั้นเรียนได้
การดึงความสนใจและสร้างสมาธิให้นักเรียน อันดับแรกครูผู้สอนต้องเข้าใจนักเรียนในยุคนี้ว่า พวกเขาเหล่านั้นเติบโตมากับสิ่งอำนวยความสะดวกที่เรียกว่า “อินเทอร์เน็ต” จึงเป็นเรื่องปกติที่นักเรียนจะสนใจมือถือ ในขณะที่ครูสอนอยู่หน้าชั้นเรียน พฤติกรรมดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ามือถือเป็นสิ่งที่น่าสนใจกว่าตัวหนังสือ และเสียงพร่ำสอนของครูผู้สอนในรายวิชานั้น ๆ ดังนั้นครูจึงต้องสร้างจุดสนใจให้นักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนการสอนโดยใช้สื่อ คือ “มือถือ” เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาค้นคว้า และการร่วมกิจกรรมในชั้นเรียน ดังนี้
1. การใช้สื่อประสม (Multimedia Technology) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสอน เช่น วิดีโอ ภาพเคลื่อนไหว เพื่อสร้างจุดสนใจให้นักเรียน ยกตัวอย่างในกรณีที่ครูสอนเรื่องเพศศึกษาและความหลากหลายทางเพศ อาจใช้คลิปวิดีโอละครโทรทัศน์ สารคดีต่าง ๆ ที่มีความยาวประมาณ 3-5 นาที มาเปิดให้นักเรียนดูเป็นการนำเข้าสู่บทเรียน
2. การใช้แอปพลิเคชั่น (Application) มาช่วยในการจัดการเรียนการสอน เช่น Kahoot Piktochart Recap เป็นต้น ยกตัวอย่างในวิชาสังคม กรณีดราม่าแพรี่พายระดมบริจาคช่วยเด็กดอย นักเรียนมีความคิดเห็นกับเรื่องนี้อย่างไรเกี่ยวกับบทบาทของสื่อ และอิทธิพลของคนที่เรียกว่า “influencer” โดยครูอาจจะนำภาพจากข่าวมาทำเป็นอินโฟกราฟิก (infographic) แบบการ์ตูนล้อเลียน และให้นักเรียนแสดงความคิดเห็น

          นอกจากการใช้สื่อเพื่อดึงดูดความสนใจของนักเรียนจากมือถือ เพื่อช่วยให้นักเรียนมีสมาธิและตั้งใจฟังครูสอนมากขึ้นแล้ว ยังมีวิธีในการสร้างสมาธิด้วยวิธี 4A ดังนี้
1. Active (ความกระตือรือร้น) ครูต้องมีความกระตือรือร้นในการสอนอยู่เสมอ เช่น พยายามเปลี่ยนอิริยาบถบ้าง เพื่อเตรียมความพร้อมในการสื่อสารกับนักเรียน
2. Attention (ความสนใจ) ครูต้องดึงความสนใจจากเรื่องราว หรือประสบการณ์ที่นักเรียนรู้จัก หรือเคยประสบมาก่อน เพื่อให้นักเรียนเกิดความอยากรู้ แล้วค่อยนำเข้าสู่บทเรียน หรือจะเชื่อมโยงบทเรียนกับเหตุการณ์ หรือข่าวสารในปัจจุบันด้วยก็ได้
3. Attendance (การเข้าร่วม) ครูต้องพยายามให้เด็กมีส่วนร่วมในการเรียนการสอน เช่น การทำกิจกรรมเสริมทักษะในห้อง การแสดงความคิดเห็น การอธิบาย และการถาม – ตอบ เพื่อสร้างความคุ้นเคยในการเรียนรู้ระหว่างครูและนักเรียน ในบางกิจกรรมยังสามารถใช้เรียกสตินักเรียนให้ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะการถาม – ตอบ คำถามจะต้องเป็นคำถามที่ครูได้สอนผ่านมาแล้วในคาบ นอกจากจะเป็นการเรียกสติแล้วยังเป็นการทบทวนความเข้าใจและดูความตั้งใจของนักเรียนด้วย
4. Attitude (ทัศนคติ) ครูต้องปรับทัศนคติและพฤติกรรมของครู เช่น การสื่อสาร ความเข้าใจธรรมชาติและศักยภาพของนักเรียนว่าทุกคนมีความสามารถและศักยภาพที่แตกต่างกัน บางคนอาจจะพูดคุยในสิ่งที่เรียนและก็ฟังครูไปด้วย ในขณะที่บางคนตาอาจจะจ้องมองที่ครูสอน แต่จิตใจฟุ้งซ่าน บางคนก็มีข้อบกพร่องทั้งทางกายภาพและทางใจ เช่น เป็นโรคสมาธิสั้น เป็นโรคซึมเศร้า ดังนั้นครูต้องเรียนรู้และเข้าใจถึงธรรมชาติของนักเรียนในห้องเป็นรายบุคคล
          การทำให้นักเรียนมีสมาธิในการเรียน สิ่งสำคัญคือการสร้างจุดสนใจ โดยการสังเกตสิ่งที่ทำให้นักเรียนเบี่ยงเบนความสนใจจากการเรียนการสอนในห้อง ซึ่งส่วนใหญ่ที่เป็นปัญหาในโลกสมัยนี้ คือ “การดูมือถือ” เพราะสื่อที่อยู่ในจอมือถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นักเรียนสมาธิสั้น ดังนั้นทั้งครูและนักเรียนต้องหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน ปรับที่ตัวครู เปลี่ยนรูปแบบการสอน และสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ดึงให้นักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมให้ได้มากที่สุด

อ้างอิง:
เทคนิคช่วยครู เรียกสมาธิให้เด็กตั้งใจเรียน. (2563). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://dekdee.org/th/news/87087 [สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม 2564].

12 แอปพลิเคชันช่วยสอนสำหรับคุณครู เพื่อสร้างบรรยากาศในการเรียนให้สนุกยิ่งขึ้น. (2561). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://www.scholarship.in.th/12-applications-for-teacher [สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม 2564]


TAG: #การจัดการชั้นเรียน #การจัดการห้องเรียน #การออกแบบการเรียนการสอน