Knowledge

โรงเรียน=ครอบครัวที่สอง ครอบครัวผู้ช่วย

โรงเรียน=ครอบครัวที่สอง ครอบครัวผู้ช่วย

 3 years ago 5149

เรียบเรียง: สุรเชษฐ์ ตรรกโชติ
ภาพ: rassarin.work

          ในขณะที่เรามองเด็กนักเรียนแต่ละคน เราจะเห็นถึงชุดพฤติกรรมที่สะท้อนถึงลักษณะนิสัย ความชอบ หรือความเป็นตัวตนของพวกเขาที่อาจเหมือนคล้าย หรือแตกต่างกันออกไป หนึ่งในปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดความแตกต่างเหล่านี้ คือชุดประสบการณ์ที่พวกเขาได้มีร่วมกับครอบครัว ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญลำดับแรกๆ ในการสนับสนุนหรือตัดรอนโอกาสในการพัฒนาของเด็กนักเรียน
          แม้ว่าครอบครัวหรือผู้ปกครองของเด็กนักเรียนจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตของนักเรียน แต่บทบาทของคุณครูและการให้ความร่วมมือจากทางโรงเรียนเองในการทำงานร่วมกับครอบครัว ก็ยังสามารถทำให้ชีวิตของนักเรียนมีโอกาสและทางเลือกในชีวิตที่เปิดกว้างมากขึ้นได้

ใครคือกลุ่มคนที่นักเรียนเรียกว่าครอบครัว
          คำว่าครอบครัวก็อาจมีความหลากหลายและแตกต่าง บางครอบครัวเป็นครอบครัวใหญ่ บางครอบครัวใช้ชีวิตร่วมกันแบบพ่อ แม่ ลูก ในขณะที่บางครอบครัวอาจเป็นครอบครัวของผู้ปกครองเลี้ยงเดี่ยว บางครอบครัวมีพ่อและแม่คอยดูแลลูกๆ แต่อีกครอบครัวหนึ่งอาจเป็นภาพที่เด็กอาศัยอยู่กับญาติผู้ใหญ่ เช่นคุณปู่ คุณย่า หรือญาติห่างๆ กว่านั้นที่ได้รับบทบาทให้เป็นผู้ใหญ่ในชีวิตของเด็กๆ เมื่อพวกเขาก้าวพ้นจากรั้วโรงเรียนออกไป สิ่งที่กล่าวมาคือบริบทของครอบครัวที่แตกต่างกัน แต่ความแตกต่างนี้อาจไม่ใช่จุดที่ตัดสินว่านักเรียนคนหนึ่งจะพลาดหรือได้รับโอกาสใดๆ ในชีวิต เพราะครอบครัวคือใครก็ตามที่เป็นผู้ดูแลเพื่อให้พวกเขาสามารถเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ ที่ครอบครัวนั้นๆ มี โดยในการทำงานร่วมกับครอบครัวเพื่อเพิ่มโอกาสในชีวิตให้กับเด็กนักเรียนนั้น ทางโรงเรียน และคุณครูอาจจะต้องคำนึงถึงทั้งศักยภาพ และทำความเข้าใจถึงข้อจำกัดไม่ว่าจะเป็นทางสังคม ทางการศึกษา หรือทางเศรษฐกิจที่รายล้อมครอบครัวเหล่านั้นอยู่ด้วยเช่นเดียวกัน

ประโยชน์ของการร่วมมือระหว่างครู โรงเรียน และครอบครัวของนักเรียน
          เมื่อคุณครูสามารถเข้าถึงบริบทของครอบครัวของนักเรียนบนฐานของความเข้าใจร่วมกันที่จะนำไปสู่การร่วมมือกันระหว่างครูกับครอบครัวของนักเรียน จะทำให้เกิดผลกระทบเชิงบวกที่ยั่งยืนต่อชีวิตของเด็กนักเรียนได้ ดังนี้

ประโยชน์ข้อที่ 1: คุณสามารถสร้างเนื้อหาบทเรียนให้สอดคล้องกับความรู้เดิม ความสนใจ และวัฒนธรรมของพวกเขา
          เป็นบทเรียนที่สะท้อนถึงความสนใจของนักเรียน มีพื้นที่ให้กับความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขา โดยยึดโยงกับวิถีชีวิตของตัวนักเรียนเองที่นักเรียนสามารถสะท้อนความเชื่อมโยงของโจทย์ที่ชวนให้คิด และความเป็นไปรอบตัวในชุมชนของพวกเขา ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งนี้อาจเกิดขึ้นได้ผ่านการทำการบ้านของคุณครู และหาข้อมูลจากในอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับพื้นที่นั้นๆ แต่บทเรียนลักษณะดังกล่าวจะมีเชื่อมโยงกับหัวใจของผู้เรียนมากขึ้นเมื่อครูผู้สอนได้เข้าไปคุยกับผู้ปกครองของนักเรียน มีการตั้งเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมร่วมกัน และมีความละเอียดอ่อนในการร่วมกันสร้างสรรค์การออกแบบบทเรียนที่เป็น “ของพวกเขา”

ประโยชน์ข้อที่ 2 : คุณจะสามารถตระบุถึงระดับที่พอดีในการสนับสนุนนักเรียน
          คล้ายกับการรดน้ำต้นไม้ และการพาให้น้องใบเขียวได้ไปเจอกับแสงแดด เพื่อให้ต้นไม้แต่ละชนิดเติบโต เราอาจต้องให้การดูแลที่พอดีสำหรับต้นไม้แต่ละประเภท ในบริบทของครอบครัวที่นักเรียนได้ใช้เวลาอยู่กับผู้ปกครอง การติดต่อสื่อสารกับครอบครัวของนักเรียนสามารถช่วยให้คุณหาวิธีที่ดีที่สุดที่จะระบุถึงจุดแข็ง และส่วนที่ควรพัฒนาต่อไปในตัวนักเรียนแต่ละคน ซึ่งจะนำมาสู่การปรับเปลี่ยนวิธีการสอนสำหรับนักเรียนที่มีธรรมชาติการเรียนรู้และคุณค่าที่ต่างกัน และแม้ว่าเราอาจไม่สามารถสร้างห้องเรียนที่สมบูรณ์แบบที่สุดให้กับนักเรียนทุกคนในเวลา 50 นาที หรือหนึ่งชั่วโมงได้ แต่ด้วยความเข้าใจ และการได้รับฟังเรื่องราวของพวกเขาจากครอบครัว เราจะสามารถออกแบบการสนับสนุนที่มีความพอดีต่อนักเรียนแต่ละคนได้มากขึ้น

ประโยชน์ข้อที่ 3 : เพิ่มบทบาทให้กับครอบครัวในการสนับสนุนให้นักเรียนบรรลุเป้าหมายทางการศึกษา
          ครอบครัวของนักเรียนส่วนใหญ่คิดว่าการพัฒนาทักษะในรายวิชาเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นจากกระบวนการสอนภายในโรงเรียนเท่านั้น ซึ่งจริงๆ แล้วอาจะไม่ใช่ทั้งหมด เพียงแต่ผู้ปกครองส่วนหนึ่งอาจขาดวิธีการหรือทรัพยากรในการสนับสนุนการศึกษาของบุตรหลาน เมื่อพวกเขากลับมาอยู่ที่บ้าน ซึ่งการให้คำแนะนำกับครอบครัวสามารถเสริมโอกาสในการทบทวน หรือตกตะกอนความรู้ผ่านบทสนทนาบนโต๊ะกินข้าวของแต่ละบ้านได้ ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารกับผู้ปกครองผ่านทางอีเมล์ กลุ่มไลน์ หรือการโทรศัพท์เพื่อพุดคุย ถึงบทบาทที่ผู้ปกครองจะมีได้ที่บ้านเพื่อสนับสนุนการเติบโตของบุตรหลาน และการมอบหมายบทบาทดังกล่าวยังมีประโยชน์ในมุมของการลดช่องว่างระหว่างวัยผ่านการไม่รู้ ตั้งคำถาม และเรียนรู้ไปด้วยกัน เป็นการกระชับความสัมพันธ์ผ่านการใช้เวลาคุณภาพร่วมกัน

ประโยชน์ข้อที่ 4 : เป็นการแท็กทีมกันระหว่างครูกับผู้ปกครองเพื่อทำงานกับพฤติกรรมของนักเรียน
          เมื่อพูดถึงพฤติกรรมหรือสิ่งที่นักเรียนเลือกที่จะแสดงออกเมื่อพวกเขาอยู่ในกลุ่มเพื่อน หรือระหว่างที่เรียนอยู่ในชั้นเรียน เมื่อได้ทำความรู้จักกับผู้ใหญ่ในชีวิตของเด็กๆ เหล่านั้นแล้ว เราอาจพบว่ามีหลายชุดพฤติกรรมที่เป็นเหมือนกระจกสะท้อนสิ่งที่ผู้ใหญ่มักจะทำ หรือแม้แต่คำพูดที่พวกเขาเลือกใช้ และหนึ่งในรากของพฤติกรรมที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของพวกเขาอาจมาจากสิ่งที่เกิดขึ้นในครอบครัว โดยงานวิจัยของนักจิตวิทยาการศึกษาในปี 2002 พบว่า การมีส่วนร่วมของครอบครัว และชุมชนในการพัฒนานักเรียนช่วยให้พวกเขามีพฤติกรรมที่พึงประสงค์มากขึ้น ซึ่งนำมาสู่การที่ตัวนักเรียนเองกลายเป็นส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อการเรียนรู้มากขึ้น โดยอาจเริ่มได้จากการชวนผู้ปกครองร่วมกันทำข้อตกลงที่สนับสนุนพฤติกรรมเชิงบวกเล็กๆ ที่สอดคล้องกันทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน

ประโยชน์ข้อที่ 5 : เราร่วมกันวางรากฐานที่จะทำให้เราสามารถเชื่อในศักยภาพของนักเรียนได้มากขึ้น
          ในการทำงานร่วมกับครอบครัว หนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุดอาจเป็นการพาให้หนึ่งในผู้คนที่ใกล้ชิดกับตัวนักเรียนที่สุด กลับมาเชื่อมั่นในศักยภาพ และความเป็นไปได้ในการประสบความสำเร็จในชีวิตของพวกเขาอีกครั้ง และคุณครูมีบทบาทที่สำคัญมากๆ ในการพาให้ผู้ปกครองที่อาจเคยผิดหวัง กลับมามีความหวัง และมองเข้าไปในแววตาของบุตรหลานของพวกเขาด้วยความเชื่อที่เปี่ยมล้นอีกครั้ง และเมื่อครอบครัวมีความเชื่อมั่น นักเรียนจะได้รับความอบอุ่นจากการสนับสนุนทั้งทางการแสดงออก คำพูด และอวัจนะภาษาต่างๆ และทำให้นักเรียนเกิดความกล้าที่จะคิด กล้าลงมือทำ และพร้อมที่จะเรียนรู้บทเรียนต่างๆ ที่รอพวกเขาอยู่ในโลกกว้างใบนี้

แหล่งอ้างอิง
(1) Family Engagement and Student Success: What the Research Says” by Trynia Kaufman, MS . Retrieved on August 27, 2020 From https://www.understood.org/en/school-learning/for-educators/partnering-with-families/family-engagement-and-student-success

(2) “Improving Student Behavior and School Discipline with Family and Community Involvement” by Steven B. Sheldon and Joyce L. Epstein” November 1, 2002, retrieved on August 27, 2020 from https://journals.sagepub.com/doi/abs/10.1177/001312402237212


TAG: #การจัดการชั้นเรียน #สุขภาพจิตและกาย #จิตวิทยาแนะแนว #จิตวิทยาการเรียนรู้ #ชุมชน #ครอบครัว