Knowledge

เสริมสร้างทักษะ SEL เพื่อพิชิตโลกยุค AI

เสริมสร้างทักษะ SEL เพื่อพิชิตโลกยุค AI

 2 years ago 2449

เรียบเรียงโดย จิราพร เณรธรณี

          การเรียนการสอนในปัจจุบันมักอัดแน่นไปด้วยหลักวิชาการ เพื่อตอบโจทย์ตลาดแรงงานและก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ที่มีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์แทบทุกมิติ แต่รู้หรือไม่ว่า ยังคงมีอีกทักษะหนึ่งที่สำคัญต่อการดำเนินชีวิตในโลกยุคใหม่ ซึ่งไม่ใช่วิชาหลักในโรงเรียน แต่เป็นทักษะพิเศษที่ทุกคนสามารถเสริมสร้างได้ เราเรียกกันว่า ทักษะการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ หรือ SEL

          เมื่อโลกยุคใหม่พยายามผลักดัน AI ให้เข้ามาทำงานแทนที่ประชากรแรงงาน อีกทั้งผู้คนก็เริ่มห่างเหินกันมากขึ้นเพราะความล้ำสมัยของเทคโนโลยีสื่อสารประเภทต่าง ๆ เช่น โทรศัพท์สมาร์ทโฟน ไอแพด (ipad) หรือแล็ปท็อป (Laptop) นำไปสู่ปรากฏการณ์ “สังคมก้มหน้า” ฉะนั้น การเรียนการสอนปัจจุบันจึงจำเป็นต้องถ่ายทอดและฝึกฝนทักษะที่เหนือกว่า AI นั่นคือ ทักษะที่มีความเกี่ยวข้องกับจิตใจและความรู้สึกแห่งความเป็นมนุษย์ เช่น ความเห็นอกเห็นใจ ความอดทน ความมุมานะพยายาม การอยู่ร่วมกับผู้อื่น และการควบคุมตนเอง ซึ่งทักษะเหล่านี้ครูสามารถสอดแทรกไปในรายวิชาต่าง ๆ ให้นักเรียนฝึกฝนได้ง่าย ๆ ผ่านการทำโครงงาน หรือการทำรายงานกลุ่ม นอกจากเป็นการเน้นทักษะทางวิชาการอย่างการฟัง พูด อ่าน และเขียนแล้ว การเปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนเกิดปฏิสัมพันธ์แบบกลุ่ม ยังเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกฝนทักษะทางอารมณ์และสังคม (SEL) ที่นักเรียนทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง

          กรณีเด็กอายุน้อย เช่น ช่วงวัยอนุบาล และช่วงวัยประถมศึกษา ครูอาจนำเกมการศึกษามาให้นักเรียนได้ทำกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น โดยกำหนดกฎกติกาการเล่น ให้ครูเข้าร่วมเล่นกิจกรรมกับนักเรียนด้วย เพื่อคอยแนะนำทักษะทางสังคมและอารมณ์ให้แก่นักเรียน และต้องสังเกตพฤติกรรมที่นักเรียนแสดงออกด้วย ยกตัวอย่างเช่น ครูบอกกับนักเรียนว่า “วันนี้ครูสนุกและมีความสุขมาก ๆ ที่นักเรียนทุกคนให้ความร่วมมือดีมากและปฏิบัติตามกฎกติกา แต่ถ้านักเรียนไม่ทำตามกฎกติกา เปลี่ยนกฎตามใจตนเอง และไม่รู้จักแพ้ชนะ นักเรียนจะไม่ได้ทำกิจกรรมนอกห้องสนุก ๆ แบบนี้อีก” โดยครูอาจมีการโต้ตอบกับนักเรียนด้วยการถามคำถามที่สะท้อนความรู้สึกนึกคิดของเด็กได้ ว่าพวกรู้สึกอย่างไรที่ได้ทำกิจกรรม หรือต้องทำอย่างไรถึงจะได้เล่นกิจกรรมสนุกแบบนี้ต่อไป

          ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทักษะทางสังคมและอารมณ์ นับเป็นทักษะที่มีเฉพาะในสิ่งมีชีวิตที่ต้องอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มสังคมเพื่อความอยู่รอดในการดำเนินชีวิต ดังนั้น ครูจึงไม่ควรมองข้ามที่จะเสริมทักษะนี้แก่เด็กนักเรียน เพราะเป็นทักษะที่ AI ไม่มี และถูกแทนที่ด้วย AI ไม่ได้ เพียงแต่การฝึกฝนให้นักเรียนมีทักษะ SEL จะต้องมีความสม่ำเสมอ ตราบที่นักเรียนยังสามารถช่วยเหลือตนเองและดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ ย่อมไม่ตกเป็นเหยื่อของคำกล่าวหาที่ว่า “ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด”

แหล่งอ้างอิง
จิราพัชร นิลแย้ม. ทักษะทางสังคมฝึกได้ เริ่มต้นง่ายๆ ที่บ้าน. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://www.manarom.com/blog/social_skills.html (สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2564)

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์. Positive Learning : ถอดบทเรียนแห่งความสุข ต้นแบบการศึกษาจากฟินแลนด์.(2563). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://www.the101.world/positive-learning-finland (สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2564)


TAG: #การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม #ทักษะทางด้านสังคมและอารมณ์ #Social Emotional Learning #Social Learning #Emotional Learning #SEL #ทักษะศตวรรษที่21 #ห้องเรียนในศตวรรษที่21 #การใช้สื่อและเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ #ปัญญาประดิษฐ์ #AI #เทคโนโลยี