Knowledge
ไม่เป็นไรเลยที่วันนี้เธอยังไม่รู้ว่า โตขึ้นอยากเป็นอะไร ชวนครูมาทำความรู้จักกับ Multipotentialite เพื่อช่วยให้เด็กได้ค้นพบตัวเอง
4 years ago 5583เรื่อง: ภัทรพร บุญนำอุดม
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ
เมื่อนำห้องเรียนเข้าสู่บทสนทนาว่าด้วย ‘อาชีพในฝัน’ หรือแทบทุกครั้งที่เราเอ่ยถามเด็กๆ ว่า ‘โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร’ นอกจากเด็กที่ยกมือขึ้นตอบด้วยความมั่นใจแล้ว ทุกห้องเรียนย่อมต้องมีเด็กอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งได้แต่นั่งเงียบหรือพยายามทำตัวให้เล็กเข้าไว้ เพื่อให้พ้นจากคำถามเหล่านี้ การที่เขาไม่สามารถตอบได้ อาจจะเป็นเพราะพวกเขาไม่เคยคิด หรือคิดไม่ออก และก็อาจจะเป็นไปได้เช่นกันที่พวกเขาเคยมั่นอกมั่นใจมากต่อเป้าหมายในอนาคต แต่บ่อยครั้งที่การสูญเสียมันไปในระหว่างทางทำให้พวกเขาไม่กล้ายืนยันอะไรอีกต่อไป
แนวคิดในการสนับสนุนการค้นพบศักยภาพของตัวเองที่เราคุ้นเคยมักจะมาพร้อมกับความเชื่อที่ว่า คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตคือคนที่สามารถค้นหาพรสวรรค์หรือสิ่งที่ตัวเองสนใจใคร่รู้ จากนั้นจึงทุ่มเทเพื่อสิ่งๆ นั้นจนเรากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญที่แท้จริง เข้ากับภาษิตที่ว่า ‘รู้อะไรให้กระจ่างแต่อย่างเดียว ขอให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล’
ความเชื่อดังกล่าวอาจจะใช้ตอบโจทย์สังคมในยุคอุตสาหกรรมได้ แต่ขณะนี้โลกเราก้าวมาสู่ยุคที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสร้างการเรียนรู้ที่เชื่อมต่อกันแบบข้ามพรมแดน เด็กที่เกิดและเติบโตมาพร้อมกับโลกใบใหม่นี้ย่อมมีรูปแบบการเรียนรู้ที่แตกต่างไปจากเดิม
การเรียนรู้ที่ไร้ข้อจำกัดของพื้นที่ เวลา และปริมาณ ทำให้ใน 1 วัน หรือเพียง 1 ชั่วโมง พวกเขาสามารถเรียนรู้ข้อมูลข่าวสารใหม่ๆ มากมาย ซึ่งอาจจะต้องแลกมาด้วยการสูญเสียสมาธิที่จะจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เป็นเวลานานๆ แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือ ความสามารถในการเรียนรู้ที่รวดเร็วและหลากหลาย ทำให้ข้อมูลความรู้ใหม่ๆ ไหลบ่ามาสู่พวกเขาอย่างมหาศาล
เป็นไปได้ไหมว่า การที่เด็กๆ ไม่สามารถตอบคำถามว่า เขาอยากเป็นหรืออยากทำอะไรในอนาคต เพราะมุมมองของเขาที่มีต่อโลกไปนี้ช่างเต็มไปด้วยเรื่องราวน่าตื่นเต้น และจักรวาลที่เขาอาศัยอยู่นี้มีสิ่งต่างๆ ให้เรียนรู้ได้อย่างไม่จบสิ้น
เอมิลี วาพนิค (Emilie Wapnick) คือผู้ที่ได้ให้คำอธิบายถึงบุคคลเหล่านี้ไว้อย่างน่าสนใจ โดยเธอได้ให้คำนิยามว่า ‘Multipotentialite’ หรือ ‘ผู้ที่มีศักยภาพหลากหลาย’ ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว ในเวที TEDxBend 2015 เธอได้แบ่งปันเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเธอ ผู้ที่มีความมุ่งมั่นต่อการทำสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลาแต่มักก็จะเกิดความเบื่อหน่ายขึ้นอยู่เสมอๆ
“จะมีสักกี่คนในโลกใบนี้ที่ไม่เคยเกิดความวิตกกังวลเลยสักครั้งเมื่อถูกถามว่า คุณอยากเป็นอะไรเมื่อโตขึ้น?” คำถามและ เรื่องเล่าของเธอที่คล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับอีกหลายต่อหลายคนที่อยู่รอบตัวเรา สามารถทำให้ใครหลายคนรู้สึกมั่นใจต่อการใช้ชีวิตโดยยอมรับสิ่งที่ตัวเองเป็นมากขึ้น
เรื่องเล่าของเอมิลี วาพนิค
วาพนิคเล่าถึงตัวเองในวัยมัธยมว่า เธอชอบภาษาอังกฤษและ คณิตศาสตร์ พร้อมๆ กับมีความสามารถในการสร้างเว็บไซต์ แถมยังเล่นกีต้าร์อยู่ในวงพังค์ร่วมกับเพื่อนๆ จนกระทั่งวันหนึ่งเธอได้ค้นพบรูปแบบนิสัยของตัวเองคือ เมื่อเกิดความสนใจในบางสิ่งบางอย่าง เธอจะทำมันได้ค่อนข้างดี แต่เมื่อไปถึงจุดหนึ่งเธอกลับเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายขึ้นมา ในขั้นแรก เธอเลือกที่จะอดทนทำต่อไปเพราะเสียดายทั้งเวลา ความทุ่มเท และเงิน แต่ความเบื่อหน่ายเหล่านั้นยังคงเล่นงานเธอไม่หยุดหย่อน เธอจึงตัดสินใจปล่อยสิ่งที่ทำมาทั้งหมดทิ้งไป และในวันหนึ่งเธอก็ได้พบสิ่งที่เป็นความสนใจใหม่ๆ และตั้งใจว่าจะลองทุ่มเทดูอีกสักครั้ง โชคร้ายที่ความเบื่อหน่ายได้หวนกลับมาเล่นงานเธออีกครั้ง และมันก็รุนแรงเสียจนกระทั่งเธอได้ละทิ้งความฝันครั้งใหม่ในที่สุด เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับเธอซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนสร้างความวิตกกังวลต่อและ ทำให้เธอกลัวว่าตัวเองอาจจะมีบางอย่างที่ไม่ปกติ ไร้ความรับผิดชอบ หรืออาจจะเป็นคนที่กลัวความสำเร็จของตัวเอง ค่านิยมของสังคมและวัฒนธรรมที่เรียกร้องให้ เราทุกคนค้นหาจุดโฟกัสที่ชัดเจน และบอกว่าการมีชีวิตอยู่ที่มีคุณค่าคือ การค้นหาความพิเศษในตนเองจนพบและ อุทิศตัวทุ่มเทเพื่อสิ่งๆ นั้นทั้งชีวิต และความคิดที่ว่ามานี้มันได้ไปบดบังคนที่มีธรรมชาติไม่สอดคล้องกับทัศนะดังกล่าว และสร้างความวิตกกังวลให้กับคนอย่างวาพนิคและ อีกหลายๆ คนที่เป็นเหมือนกับเธอ ซึ่งลูกศิษย์ของของเราก็อาจจะเป็นหนึ่งในนั้น
ถ้าลูกศิษย์ของคุณครูเข้าข่ายผู้ที่มีศักยภาพอันหลากหลาย คุณครูสามารถวางใจได้เลยว่า สิ่งที่พวกเขาเป็นนั้นคือเรื่องน่ายินดี โดยครูสามารถสังเกตได้จากลักษณะนิสัยต่างๆ ดังนี้
มีขอบเขตความสนใจกว้างขวาง
เขามีความสนใจที่กว้างขวางสุดๆ โดยในตัวของคนๆ เดียว อาจจะสนใจได้หลากหลายมาก ตั้งแต่เรื่องปรัชญา การเงิน และการเขียนโค้ดโปรแกรมคอมพิวเตอร์
สามารถทำได้หลายอย่าง
เขามีความสามารถที่หลากหลาย ทำได้หลายสิ่งหลายอย่างและทำได้ดีเสียด้วย โดยเขาอาจจะสามารถทำงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ 2-3 ชิ้นได้ในเวลาเดียวกัน
ไม่ย่ำอยู่กับที่
แม้จะดูเหมือนว่าพวกเขาไม่มีสิ่งที่ใช่ที่สุดเป็นของตัวเอง ในอนาคตเขาอาจจะเปลี่ยนอาชีพไปเรื่อยๆ จนดูเหมือนคนขี้เบื่อหน่าย แต่นั่นก็เป็นเพราะว่า ความสุขของเขาคือการใช้ชีวิตไปกับการทดลองสำรวจสิ่งต่างๆ รอบตัวที่ดูน่าสนใจใครรู้ไปหมดทุกอย่าง
ข้อมูลเพิ่มเติม
เอมิลี วาพนิค (Emilie Wapnick) คือบุคคลที่มีศักยภาพหลากหลาย เธอเคยเป็นทั้งนักดนตรี นักแต่งเพลง คนออกแบบเว็บไซต์ คนทำหนัง และไลฟ์โค้ช และเป็นนักเขียน เจ้าของผลงาน How to Be Everything: A Guide for Those Who (Still) Don’t Know What They Want to Be When They Grow Up ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลที่มีลักษณะแบบ Multipotentialite ทั้งยังเป็นคู่มือในการนำศักยภาพที่หลากหลายในตัวเราไปปรับใช้ในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้เธอยังเป็นผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ puttylike.com ชุมชนสำหรับการให้คำปรึกษาเพื่อการพัฒนาตัวเองของบุคคลที่มีศักยภาพหลากหลาย
อ้างอิงข้อมูล
www.amillennialsguidetolife.com/3-traits-every-multipotentialite-shares www.ted.com/talks/emilie_wapnick_why_some_of_us_don_t_have_one_true_calling
ภาพ : emiliewapnick.com
Photo by Eean Chen on Unsplash
Photo by Blaz Erzetic on Unsplash
Photo by Annie Spratt on Unsplash