Knowledge
วัยรุ่นอยากรู้ ครูจัดให้ สอนเพศศึกษาแบบไม่หยุดอยู่แค่ตำรา จากซีรีส์ Sex Education
4 years ago 20659ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ
แฟนไม่ยอมใช้ถุงยาง ทำไงดี...
ซื้อยาคุมฉุกเฉิน เป็นเรื่องน่าอาย...
สวนล้างก่อนการมีเซ็กส์ในกลุ่มเกย์ เขาทำกันยังไง
ป้องกันโรคหนองในเทียม แค่ใส่แมสก์ก็ได้เหรอ
สารพัดคำถามชวนสงสัย ที่อาจหาคำตอบไม่ได้ในตำราเรียนเพศศึกษาบ้านเรา แต่ Sex Education ซีซั่น 2 ซีรีส์ว่าด้วยเรื่องราวของวัยรุ่น กับปัญหาเพศศึกษาวุ่นๆ ทาง Netflix กล้าที่จะตั้งคำถามเหล่านี้แบบตรงๆ จนหลายคนยกให้เป็นตำราเพศศึกษานอกห้องเรียน ที่สนุก ดูเพลิน จนรู้ตัวอีกทีก็กดปุ่ม Next episode รวดเดียวจบทั้งซีซั่นได้ในวันเดียว
1. ดีลกับวัยรุ่นให้เป็น ลองใช้กฎ Trust-Talking-Truth
การพูดคุย ปรึกษาปัญหาเรื่องเพศในบ้านเราอาจไม่ได้เปิดกว้าง และทำกันเป็นเรื่องปกติเหมือนในต่างประเทศ จีน มิลเบิร์น นักบำบัดเรื่องเซ็กส์ ได้ให้คำแนะนำต่อที่ประชุมโรงเรียน หลังเกิดเหตุการณ์โกลาหล โรคหนองในเทียมแพร่ระบาดไปทั่วว่า กฎ 3Ts คือ เครื่องมือที่เราใช้สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้วัยรุ่นได้
- Trust ความเชื่อใจ โรงเรียนและบ้านต้องสร้างบรรยากาศความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นระหว่างเพื่อนกับเพื่อน ครูกับนักเรียน รวมถึงผู้ปกครองกับเด็กๆ
- Talking การพูดคุย เมื่อไรที่วัยรุ่นและผู้ใหญ่เปิดใจพูดคุยกัน เราจะค้นพบสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง
- Truth ความจริง การให้ข้อมูลที่ถูกต้องจะช่วยหยุดยั้งความเชื่อ หรือความเข้าใจผิดๆ ได้ เหมือนกับที่โอทิสบอกกับเพื่อนในโรงเรียนว่า โรคหนองในเทียมติดต่อกันทางเพศสัมพันธ์หรือสารคัดหลั่งเท่านั้น เพราะฉะนั้นการใส่แมสก์เพื่อป้องกัน ก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไร
2. เรียนรู้ที่จะปฏิเสธให้เป็น ทักษะที่ทุกคนต้องมี
“แฟนไม่ยอมใช้ถุงยาง ทำไงดี...” คำถามจากนักเรียนคนหนึ่งในชั้นเรียนจาก Sex Education สะท้อนความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับวัยรุ่นทั่วโลก ซีรีส์เรื่องนี้พาเรากลับมามองที่ตัวเอง ในเมื่อเราเป็นเจ้าของร่างกายเรา เราทุกคนล้วนมีสิทธิ์ปฏิเสธได้เสมอ สำคัญคือต้องเรียนรู้ที่จะปฏิเสธให้เป็น
3. ซื้อยาคุมฉุกเฉิน ไม่ใช่เรื่องน่าอาย
ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เป็นเรื่องที่วัยรุ่นทุกคนรู้จากห้องเรียน แต่ในชีวิตจริงหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ถุงยางรั่ว หรือเมามากจนจำไม่ได้ว่าได้ใส่หรือเปล่า ยาคุมฉุกเฉินคือวิธีเซฟตัวเองขั้นสุดท้าย ที่เรามักมีภาพจำว่า คนที่ใช้ยาคุมแบบนี้ คือคนที่ไม่ป้องกันตั้งแต่แรก
โอทิส ลูกชายของจีน มิลเบิร์น ที่เปิดคลินิกบำบัดโดยอาศัยครูพักลักจำจากแม่ กลับให้มุมมองอีกแง่ของการซื้อยาคุมฉุกเฉินมาใช้ว่า มันไม่ใช่เรื่องน่าอายแต่อย่างใด หากเราได้คุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นแล้ว แต่เกิดพลาดขึ้นมาด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างที่คาดเดาไม่ได้
4. โลกเราไม่ได้มีแค่ 2 เพศ รู้จักและเข้าใจความรัก ความสัมพันธ์ของเพศอื่นๆ
“สวนล้างก่อนการมีเซ็กส์ในกลุ่มเกย์ เขาทำกันอย่างไร” คำถามตรงๆ จากชีวิตจริงของเพศที่ 3 ที่ไม่มีสอนในห้องเรียนบ้านเรา ในซีซั่นนี้เราได้เห็นการถ่ายทอดความรู้จากเพื่อนสู่เพื่อนด้วยกัน อธิบายวิธีการสวนล้างแบบง่ายๆ แต่ใช้ได้จริง (ในซีรีส์มี Infographic ให้ดูด้วย) ซึ่งไม่เพียงมีประโยชน์ต่อกลุ่มเกย์เท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่คู่รักทุกเพศทุกวัยควรรู้
นอกจากประเด็นเพศที่ 3 ที่เข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ในซีซั่นนี้ ตัวละครเองมีความสัมพันธ์ที่หลากหลาย ซับซ้อนยิ่งขึ้น ซึ่งจีนให้คำอธิบายว่า “เพศสภาพมีความลื่นไหล” บางคนอยากไม่อยากมีเซ็กส์กับเพศไหนเลย แต่ยังอยากตกหลุมรักใครสักคน อยากมีความสัมพันธ์เชิงโรแมนติก แต่บางคนก็ไม่ต้องการทั้งสองอย่าง
โอล่า แฟนสาวของโอทิส ให้คำนิยามตัวเธอเองในท้ายซีรีส์ว่า เธอคือ Pansexual คนที่ชอบเพศไหนก็ได้ ชอบที่ตัวบุคคล โดยมองข้ามเพศสภาพของคนคนนั้น
5. อย่าปล่อยให้การคุกคามทางเพศ กลายเป็นเรื่องปกติที่ปล่อยผ่านได้
ถ้าวันหนึ่งคุณนั่งรถเมล์ไม่ได้ เพราะภาพของการถูกคุกคามทางเพศบนรถเมล์ยังคงฝังใจ พื้นที่สาธารณะกลับกลายเป็นพื้นที่อันตราย หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในบ้านเรา น่าตั้งคำถามว่าสังคมไทยจะเอาจริงเอาจังแค่ไหนกับการช่วยเหลือผู้ถูกคุกคามทางเพศ
เมฟ เพื่อนที่ทำคลินิกบำบัดร่วมกับโอทิส คือตัวแทนของการย้ำถึงปัญหาการคุมคามทางเพศว่า เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่ปล่อยผ่านได้ เธอยืนกรานให้เอมี เพื่อนที่โรงเรียน แจ้งตำรวจหลังถูกผู้ชายช่วยตัวเองใส่บนรถเมล์ แม้เอมีจะยืนยันว่า เธอโอเค เรื่องนี้เป็นเรื่องเล็กน้อย และดูจะเป็นการรบกวนเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียเปล่าๆ
ภาพของตำรวจที่เอาจริงเอาจังกับการช่วยเหลือผู้ถูกคุกคามทางเพศในซีรีส์ จึงเป็นการสร้างบรรทัดฐานว่า นี่เป็นงานปกติของตำรวจที่ต้องช่วยเหลือประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการถูกคุกคามที่บางคนมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยอย่างการถูกพูดจาลวนลามใส่ หรือรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อเกิดขึ้นกับร่างกาย
สอนเพศศึกษาให้สนุกและ “เข้าถึง” สิ่งที่วัยรุ่นอยากรู้จริงๆ ในยุคนี้ แค่ตำราเรียนไม่พอแน่ Sex Education ยังมีอีกหลายประเด็นน่าสนใจ ที่เราสามารถหยิบยกมาตั้งคำถาม และพูดคุยในห้องเรียนได้ เช่น การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย การมองเห็นคุณค่าในตัวเอง การรู้จักกาลเทศะ แยกแยะพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะ ใครมีโอกาสได้นำซีรีส์เรื่องนี้ไปเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการเรียนรู้ หรือมีสื่อการสอนเพศศึกษานอกตำราเรียนเจ๋งๆ อย่าลืมเขียนมาแนะนำกันนะ
ชมตัวอย่าง Sex Education ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=qZhb0Vl_BaM