Knowledge
ทำความเข้าใจ และรู้จักนักเรียนของตัวเองให้มากขึ้น
4 years ago 13388ผู้เขียน: ครูฐาปนีย์ ดวงฉายจรัสไชย ครูจากโครงการ Teach for Thailand
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ
ในห้องเรียนห้องหนึ่ง ที่มีคุณครูเพียงแค่ 1 คน กับ นักเรียนร่วม 30 กว่าคน และแต่ละคนล้วนมาจากครอบครัว และบริบทสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน การที่คุณครูจะทำความเข้าใจในตัวนักเรียนแต่ละคน ที่ทุกๆ คนล้วนแตกต่างกันนี้ จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายเป็นอย่างมาก
แต่แน่นอนว่าการทำความเข้าใจนักเรียนแต่ละคนให้มากขึ้น เป็นสิ่งที่คุณครูทุกคนพยายามทำกันอยู่ตลอด เนื่องจากมันมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการวางแผนและจัดกระบวนการเรียนการสอนของแต่ละคาบให้เหมาะสม กระตุ้นความสนใจของนักเรียน และพัฒนานักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนทำให้คาบเรียนของคุณครู เป็นคาบเรียนที่ ‘ใช่’ สำหรับนักเรียนทุกคน
คำถามสำคัญจึงเกิดขึ้นในหัวของคุณครู
‘แล้วเราจะทำความรู้จัก และเข้าใจนักเรียนให้มากขึ้นได้อย่างไรบ้าง’
วันนี้พวกเราจึงมีตัวอย่างวิธีการที่หลากหลายในการทำความรู้จัก และเข้าใจนักเรียนทุกคนที่เราสอนมากขึ้นมาแนะนำกัน
(1) การพูดคุยกับนักเรียน
การพูดคุยในที่นี้ จะเป็นการพูดคุยในเรื่องอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเรื่องสัพเพเหระทั่วไป จนถึงเรื่องส่วนตัวของนักเรียน ซึ่งการพูดคุยจะทำให้คุณครูได้รู้ และเข้าใจนักเรียนผ่านทั้งคำพูดที่นักเรียนพูดออกมา รวมถึงการแสดงออกทางสีหน้า ท่าทางต่างๆ ที่คุณครูสามารถสังเกตได้ด้วยเช่นกันว่านักเรียนคิดเห็นอย่างไร เป็นคนนิสัยประมาณไหน และอื่นๆ โดยในวิธีการพูดคุยนี้ มีสิ่งสำคัญอยู่สองอย่าง คือ การสร้างบรรยากาศที่ทำให้นักเรียนรู้สึกปลอดภัยที่จะพูดคุยกับเรา และการพูดคุยสื่อสารทั้งสองฝ่าย โดยให้คุณครูเป็นผู้ได้เล่าถึงเรื่องราวของตนเองให้นักเรียนได้ฟังด้วย
(2) การสังเกตปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันของนักเรียน
คุณครูสามารถสังเกตปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันของนักเรียน เพื่อทำความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ที่นักเรียนแต่ละคนมีให้กัน หรือที่นักเรียนคนหนึ่งมีต่อเพื่อนกลุ่มๆ หนึ่งได้ ซึ่งแน่นอนว่ามันสำคัญมากในการที่คุณครูจะรู้ และเข้าใจถึงลักษณะนิสัย และบุคลิกของนักเรียน นักเรียนที่เป็น Extrovert แน่นอนว่าจะแสดงออกไม่ว่าจะผ่านคำพูดหรืออารมณ์เป็นอย่างมาก ในขณะที่นักเรียนที่เป็น Introvert จะเงียบ และเก็บตัวมากกว่า ยิ่งไปกว่านั้นมันยังสำคัญในการวางแผน และจัดการเรียนรู้ในแต่ละคาบเรียน ไม่ว่าจะเป็นการจับกลุ่มนักเรียนในการทำกิจกรรม หรือ การจัดที่นั่งของนักเรียนในการเรียน ที่แน่นอนว่าการจับกลุ่มนักเรียนที่ไม่ถูกกันไว้ในกลุ่มเดียวกันคงไม่ค่อยเหมาะสม หรือการจัดกลุ่มนักเรียนที่ extrovert ไปนั่งใกล้ๆ กัน มันคงทำให้ห้องเรียนมีความไม่สมดุล และควบคุมยากสำหรับคุณครู
(3) การอ่านบันทึกผลการเรียนในอดีตของนักเรียน
การอ่านบันทึกผลการเรียนที่ผ่านมาของนักเรียน จะทำให้คุณครูเข้าใจถึงแนวโน้มด้านความรู้ทางด้านวิชาการของนักเรียนห้องนั้นๆ ได้ และรู้ว่านักเรียนแต่ละคนต้องการความช่วยเหลือในวิชาไหนเป็นพิเศษบ้าง สมมติว่า จากผลการเรียนของนักเรียนคนหนึ่งในเทอมที่ผ่านมา เขาได้เกรด 4 ในวิชาคณิตศาสตร์ แต่ได้เกรด 2 ในวิชาภาษาอังกฤษ จะทำให้คุณครูคาดเดาได้ว่านักเรียนคนนี้ถนัดใช้สมองซีกซ้าย มีความสามารถด้านการใช้เหตุผล และตรรกะ แต่ต้องการความช่วยเหลือด้านภาษา
(4) การเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนตัวของนักเรียน
ในการเก็บรวบรวมนี้ แนะนำว่าให้เป็นการทำแบบสอบถามเพื่อให้นักเรียนตอบคำถามในเรื่องส่วนตัวต่างๆ ที่คุณครูต้องการจะรู้ และทุกคำถามควรมีจุดประสงค์ว่าคุณครูควรรู้เพื่ออะไร และการทำเป็นแบบสอบถามนั้น จะทำให้คุณครูมีโอกาสในการเขียนตอบกลับคำตอบของนักเรียนได้เช่นกัน คำตอบที่นักเรียนได้ตอบลงในแบบสอบถามนั้น จะทำให้คุณครูรู้ถึงสิ่งที่นักเรียนสนใจ และสิ่งที่สามารถใช้กระตุ้นนักเรียนได้ และนำข้อมูลดังกล่าวมาสร้างเป็นคาบเรียนที่น่าสนใจกับนักเรียนทุกคนได้
(5) การสร้างหรือมีส่วนร่วมในกิจกรรมนันทนาการ
แน่นอนว่านักเรียนแต่ละคน มีความสนใจในสิ่งต่างๆ ที่นอกเหนือจากด้านวิชาการ ซึ่งการที่คุณครูเข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมที่นักเรียนชื่นชอบ ไม่ว่าจะเป็นในคาบเรียนที่คุณครูสร้างกิจกรรมนันทนาการที่นักเรียนสนใจขึ้นมา หรือนอกห้องเรียนที่มีการจัดกิจกรรมนันทนาการ จะทำให้คุณครูได้เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น นักเรียนเข้าถึงคุณครูง่ายขึ้น จนส่งผลให้คุณครูกับนักเรียนได้เชื่อมสัมพันธ์กันมากขึ้น
(6) การทำบอร์ดที่แสดงถึงตัวตนของนักเรียน
คุณครูสามารถให้นักเรียนแต่ละคนได้ใช้บอร์ดของห้องเรียนเพื่อแสดงถึงตัวตนของตัวเองสลับกันคนละหนึ่งอาทิตย์ได้ (หรือแล้วแต่คุณครูพิจารณาว่าเหมาะสม) โดยอาจจะให้นักเรียนนำสิ่งที่ตนเองชอบ และสิ่งที่ตัวเองอยากจะเป็นมาจัดแสดงบนบอร์ด ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ดีมากในการให้นักเรียนรู้สึกถึงความมีตัวตน เป็นที่ยอมรับ และทำให้คุณครูได้รู้จักนักเรียนมากขึ้นเช่นกัน
(7) การจัดกิจกรรมละลายพฤติกรรมในช่วงอาทิตย์แรกของการเปิดเทอม
ในคาบแรกหรือคาบที่สองของการเปิดภาคเรียน คุณครูสามารถนำกิจกรรมละลายพฤติกรรมต่าง ๆ มาใช้เพื่อรู้จักนักเรียนมากขึ้น และสานสัมพันธ์กับนักเรียนได้ และยังทำให้นักเรียนได้สานสัมพันธ์ระหว่างกันเช่นเดียวกัน กิจกรรมแบบนี้ หากคุณครูทำมันขึ้นอย่างเหมาะสม จะทำให้จุดเริ่มต้นระหว่างคุณครูและนักเรียนเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และส่งผลให้คาบถัด ๆ ไปเป็นคาบเรียนที่ดี และมีความสุขของทั้งคุณครูและนักเรียนได้มากขึ้น
แล้วคุณครูท่านอื่นๆ มีวิธีการทำความรู้จักนักเรียนที่อยากแนะนำให้เพื่อนครูท่านอื่น นำไปปรับใช้กันอย่างไรบ้าง
อ้างอิง:
บทความ Understanding Students โดย Brianne Vigen https://www.d.umn.edu/~hrallis/courses/3204fa04/assignments/eg_assignments/brianne_us_eg.htm