Knowledge
ชวนครูฟัง ‘เสียงแห่งความเงียบ’ เมื่อเด็กไม่อยากมีส่วนร่วมในชั้นเรียน
4 years ago 16894เรื่อง: ภัทรพร บุญนำอุดม
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ
เชื่อว่าบรรยากาศการเรียนรู้ที่เต็มไปด้วยความกระตือรือร้นในการโต้ตอบแสดงความคิดเห็นระหว่างครูและนักเรียนที่เป็นเป้าหมายที่หลายชั้นเรียนใฝ่ฝัน ทำให้หลายต่อหลายครั้งเราจึงเผลอคิดไปว่า เราต้องออกแบบห้องเรียนที่ทำให้เด็กทุกคนได้พูดสิ่งที่แต่ละคนคิดออกมาให้ ‘ดังที่สุด’ แต่บรรยากาศของความคึกคักที่เราคิดว่านักเรียนทุกคนกำลังเรียนรู้ร่วมกันอยู่นั้น กลับได้ก่อให้เกิดความอึดอัดขึ้นกับนักเรียนบางคน โดยที่ครูและเพื่อนร่วมชั้นอาจไม่ทันรู้ตัว ถ้าอย่างนั้นเรามาลองทบทวนกันสักหน่อยว่า การที่เราพยายามสร้างชั้นเรียนให้เด็กทุกคนได้แสดงความคิดเห็นหรือยกมือตอบคำถามเป็นการสร้างชั้นเรียนเพื่อนักเรียนทุกคนจริงหรือ?
ถ้าโจทย์คือการจัดการเรียนการสอนเพื่อนักเรียนทุกคน ครูไม่ควรลืมข้อคำนึงที่ว่า เด็กแต่ละคนมีธรรมชาติที่แตกต่างกัน คาร์ล จุง นักจิตวิทยาชาวสวิสแห่งศตวรรษที่ 20 ได้จำแนกคนออกเป็น 2 ประเภท คือ Introvert และ Extrovert ซึ่งเป็นการแบ่งโดยวิธีวัดจากความรู้สึกว่าสมองและร่างกายได้ถูกชาร์จพลังงานของแต่ละคน
Introvert หรือ คนที่มีลักษณะเก็บตัว จะรู้สึกถึงพลังงานอันเต็มเปี่ยมเมื่อได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเองเพียงลำพัง ธรรมชาติของคนประเภทนี้ชอบที่จะครุ่นคิดและใช้เวลาอยู่คนเดียวมากกว่าการออกไปพบปะผู้คน ซึ่งแน่นอนว่า การที่ต้องสนทนาหรือมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับคนอื่นเป็นเวลานานๆ ได้ไปกัดกร่อนพลังงานของพวกเขาลง
Extrovert หรือ คนที่มักเปิดเผยตัวเอง จะได้รับพลังงานจากการพบปะสนทนากับผู้คน สังเกตง่ายๆ คือ คนประเภทนี้มักจะมีทักษะในการพูดคุย และมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี แน่นอนว่า พลังงานของพวกเขาจะหมดลงเมื่อต้องอยู่คนเดียวเป็นเวลานานๆ
ไม่ใช่เด็กทุกคนที่ชื่นชอบการแสดงความคิดเห็นต่อหน้าคนอื่น
แน่นอนว่า การให้โอกาสเด็กได้พูดคุย ตอบคำถาม โดยครูและเพื่อนร่วมชั้นโยนความคิดเห็นกันไปมาย่อมถูกใจเด็กที่มีนิสัยเปิดเผย แต่สำหรับเด็กที่มีลักษณะเก็บตัว พวกเขาจะรู้สึกในทางตรงกันข้าม โดยในขณะที่ทุกคนยกมือแสดงความคิดเห็นกันออกมานั้น เขากลับต้องการเวลาในการครุ่นคิดหาคำตอบเพียงลำพัง และการยิ่งพยายามผลักดันให้เด็กประเภทนี้พูดแสดงความคิดเห็นยิ่งจะทำให้เขาอยากลุกออกจากห้องให้เร็วที่สุด บางรายกลัวการพูดหน้าชั้นมากเสียจนกระทั่งไม่อยากไปโรงเรียนอีกเลยก็มี
ประสบการณ์ที่มักจะเกิดขึ้นคล้ายๆ กันในบรรดาเด็กที่มีลักษณะเก็บตัวคือ ไม่มั่นใจว่าคำตอบที่ตัวเองคิดอยู่นั้นเป็นคำตอบที่ถูกต้อง หรือประหม่า และมักจะตื่นกลัวทุกครั้งเมื่อต้องพูดหน้าชั้นเรียน ในทางกลับกัน ถ้าครูได้ปล่อยให้พวกเขาใช้เวลาคิดหาคำตอบและเขียนลงในกระดาษ พวกเขาจะมีความสุขและรู้สึกว่าตัวเองกำลังเรียนรู้และเป็นส่วนหนึ่งของชั้นเรียน
ครูหลายๆ คนมีแนวโน้มที่จะมองว่าเด็กที่มีลักษณะเก็บตัวเป็นเด็กที่มีปัญหาและต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งการมุ่งให้ความช่วยเหลือนักเรียนมาจากเจตนาที่ดีของครู แต่หลายต่อหลายครั้งที่ครูกลับเลือกใช้วิธีการที่ก่อให้เกิดปัญหามากยิ่งขึ้น แล้วทำไมครูถึงได้เห็นอาการประหม่า ตกใจและพูดตะกุกตะกักที่เกิดขึ้นกับเด็กบางคนเมื่อถูกครูเรียกชื่อหรือเมื่อต้องรายงานหน้าชั้นเรียน ?
ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า การพยายามสร้างรูปแบบการเรียนการสอนที่มีลักษณะในเชิงของการบังคับให้เด็กต้องพูดต่อหน้าชั้นเรียนเป็นสิ่งที่ฝืนใจเด็กที่มีลักษณะเก็บตัว และเมื่อพวกเขาต้องพยายามทำในสิ่งที่ฝืนธรรมชาติของตัวเอง พรสวรรค์หรือศักยภาพในการเรียนรู้ที่พวกเขามีก็จะถูกเรื่องราวเหล่านี้รบกวน ทำให้เสียสมาธิในที่สุด
Susan Cain
การสร้างชั้นเรียนเพื่อเด็กทุกคนไม่ใช่เรื่องง่ายแต่เป็นสิ่งที่เราในฐานะ ‘ครู’ ควรพยายามทำให้ได้ หากเราต้องการให้นักเรียนทุกคนเรียนอย่างมีความสุขและเติบโตตามศักยภาพของตน การจัดห้องเรียนเพื่อเด็ก Introvert จึงมีความสำคัญที่ครูไม่อาจละเลย
Susan Cain นักเขียนชาวอเมริกันเจ้าของหนังสือ Quiet: The Power of Introverts in a World That Can’t Stop Talking ที่โด่งดังจากการขึ้นพูดในเวที TED Talks ได้แนะนำให้ครูสร้าง ‘ช่วงเวลาของความเงียบ’ ให้เกิดขึ้นในชั้นเรียน นอกจากจะเป็นการปล่อยให้นักเรียนได้อ่านและคิดด้วยตัวเอง เด็กยังมีช่วงเวลาของการพักผ่อนจากบทเรียนอันตึงเครียด นอกจากนี้เขายังเสนอไปถึงขั้นที่ว่า ครูควรเปิดโอกาสให้เด็กสามารถเลือกได้ว่า อยากจะนั่งเรียนคนเดียวหรืออยากจะนั่งรวมกลุ่มกับเพื่อน มากกว่าที่จะพยายามให้เด็กทุกคนต้องทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกัน
วิธีการรับฟังความคิดเห็นที่ถูกใจเด็ก Introvert
‘สื่อและเทคโนโลยี’ เป็นช่องทางที่หลายห้องเรียนใช้ประยุกต์ในการเรียนการสอน นอกจากจะอำนวยความสะดวก ลดการใช้ทรัพยากร และรวดเร็วทันใจแล้ว การใช้อีเมลโต้ตอบหรือการตั้งกรุ๊ปไลน์ของห้องเรียนยังสามารถช่วยให้ครูได้สื่อสารความคิดกับเด็กที่มีลักษณะเก็บตัว ทำให้เด็กได้สื่อสารความคิดเห็นของตัวเองในช่องทางที่สะดวกสบายต่อพวกเขา และได้อภิปรายแลกเปลี่ยนความเห็นกับครูโดยไม่ต้องประสบกับอาการประหม่าเมื่อต้องพูดหน้าเพื่อนทั้งชั้นเรียน ทั้งยังมีเวลาในการค้นคว้าหาข้อมูล ทบทวนแก้ไขก่อนจะตอบคำถาม ซึ่งจะช่วยลดอุปสรรคในการสื่อสารความคิดในชั้นเรียนของพวกเขา
หัวใจสำคัญในการจัดการชั้นเรียนคือ ‘เสียงของนักเรียนทุกคนต้องถูกรับฟัง’ การอภิปรายพูดคุยในชั้นเรียนทำให้ครูได้ฟังเสียงของนักเรียนกลุ่มหนึ่งไปแล้ว อย่าลืมเปิดใจฟัง ‘เสียงแห่งความเงียบ’ จากนักเรียนที่ไม่เคยยกมือตอบคำถามในชั้นเรียนแม้สักครั้ง ไม่แน่ว่าคำตอบที่ออกมาจากความคิดความอ่านของพวกเขาอาจจะเป็นคำตอบที่แม้แต่ตัวครูเองก็ไม่เคยคาดคิดมาก่อน
อ้างอิงข้อมูล:
www.fastcompany.com/3016031/are-you-an-introvert-or-an-extrovert-and-what-it-means-for-your-career
www.learningliftoff.com/why-schools-are-rethinking-how-to-teach-introverted-students/
www.hercampus.com/school/siena/why-participation-shouldnt-matter