Knowledge

อิคิไก: แนวคิดต่อการใช้ชีวิตอย่างมีความหมายที่สามารถช่วยนักเรียนในการค้นหาตนเอง

อิคิไก: แนวคิดต่อการใช้ชีวิตอย่างมีความหมายที่สามารถช่วยนักเรียนในการค้นหาตนเอง

 5 years ago 18113

เรื่อง: มนาปี คงรักช้าง
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

          นักเรียนมักเกิดความสับสนเมื่อต้องเลือกระหว่าง ‘ฟังเสียงจากภายใน’ หรือ ‘ความคาดหวังของพ่อแม่’ ครูจะช่วยให้นักเรียนค้นหาความหมายของการใช้ชีวิตอย่างเป็นสุขได้อย่างไร อะไรคือคำตอบที่รอพวกเขาอยู่ในภายภาคหน้า?

          จากประเด็นการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยระบบ TCAS ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นความรู้สึกกดดันต่อชีวิตและความสับสนในการเลือกคณะของนักเรียนที่จะเป็นเส้นทางสู่อาชีพและการดำรงชีวิตของพวกเขา ความกดดันที่ต่างถาโถมมาสู่เด็กๆ ทั้งความคาดหวังต่อตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดี หรือการหาค่าตอบแทนที่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตัวเองหรือคนในครอบครัว ครูจะช่วยให้นักเรียนมีเป้าหมายในการมาโรงเรียนแต่ละวันและค้นพบความสุขของชีวิตได้อย่างไร?

          มีแนวความคิดที่น่าสนใจอยู่อย่างหนึ่งเรียกว่า ‘อิคิไก’ หรือ ความหมายของการมีชีวิตอยู่ อันเป็นปรัชญาของชาวญี่ปุ่นนับแต่ยุคเฮอัน (ค.ศ.794 ถึง 1185) ว่าด้วยการใช้ชีวิตอย่างเป็นสุข ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้เราอยากตื่นเช้ามาทำบางสิ่งในทุกๆ วัน เริ่มต้นจากการทำความรู้จักตนเองอย่างลึกซึ้งผ่านการตอบ 4 คำถาม คือ

1. สิ่งที่รัก (what you love) คือ เราชอบหรือรักในสิ่งใด

2. สิ่งที่ถนัด (what you are good at) คือ เราทำอะไรได้ดีหรือถนัดที่จะทำอะไร

3. สิ่งที่โลกต้องการ (what the world needs) คือ เราต้องการจะทำอะไรเพื่อเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาสังคมโลกนี้ได้

4. สิ่งที่ทำแล้วได้เงิน (what you can be paid for) คือ เรามีความสามารถหาค่าตอบแทนได้จากการทำอะไร

          ก่อนอื่นครูควรตระหนักว่าสิ่งสำคัญไม่ใช่เพียงแค่การช่วยให้นักเรียนทำความเข้าใจตนเองในประเด็นเหล่านี้ แต่เป็นการสนับสนุนให้นักเรียนหาความเชื่อมโยงระหว่างแต่ละสิ่งตามความเป็นจริง เพื่อหารูปแบบความสัมพันธ์ไปสู่ลักษณะงานหรือสิ่งที่เหมาะกับนักเรียน จากการทำความเข้าใจเบื้องต้นในแต่ละส่วน คือ

  • การได้ทำตามความปรารถนา จากการได้ทำในสิ่งที่รักและถนัด ซึ่งอาจจะเป็นเพียงแค่งานอดิเรกที่ไม่สามารถสร้างรายได้ให้กับเราในการดำรงชีวิตได้
  • การได้พัฒนาความเชี่ยวชาญ คือ สามารถหารายได้จากสิ่งที่ถนัดทำได้ดี แต่ไม่ใช่สิ่งที่ชอบหรือทำเพื่อตอบแทนสังคม
  • ความสามารถหาเลี้ยงชีพ คือ ได้ทำเพื่อคนอื่นและมีรายได้ที่ดี แต่ไม่ใช่สิ่งที่ชอบหรือถนัด
  • การทำเพื่ออุดมการณ์ คือ ได้ทำในสิ่งที่โลกต้องการและสิ่งที่รัก แต่มีข้อแม้ว่าเราไม่สนใจรายได้ได้จริงไหม ทำในสิ่งที่ไม่ถนัดได้ตลอดไปหรือไม่

          เมื่อให้นักเรียนตั้งคำถามกับตนเองในปัจจุบัน พวกเขาอาจพบเป้าหมายในการดำเนินชีวิตอยู่ในข้อใดข้อหนึ่ง หรือบางคนอาจจะมีกิจกรรมอื่นที่มาเสริมอีกเป้าหมายหนึ่งได้

          การฝึกให้นักเรียนคิดทบทวนและตั้งข้อสังเกตแม้เพียงสิ่งเล็กๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน เป็นสิ่งที่ช่วยให้นักเรียนรับรู้คุณค่าและสะท้อนความเป็นตัวของตัวเองว่าสิ่งใดเป็นความเชื่อมโยงที่จะนำไปสู่ ความรู้สึกสมหวังในชีวิต (Satisfaction) การดำเนินชีวิตได้อย่างราบรื่น (Comfortable) ความกระหายตื่นตัวและความอิ่มเอมใจ (Excitement and complacency) และ ความรู้สึกภาคภูมิใจและความรู้สึกได้รับการเติมเต็ม (Delight and fullness)

          อิคิไกจึงเป็นสิ่งที่เกิดร่วมกัน ระหว่าง ความรู้สึกสมหวังในชีวิต การดำเนินชีวิตได้อย่างราบรื่น ความกระหายตื่นตัว และ ความรู้สึกภาคภูมิใจ ดังนั้นเราอาจจะไม่บังคับให้นักเรียนรีบร้อนที่จะค้นหาอิคิไกได้ทุกคน

          การค้นพบความสัมพันธ์แต่ละส่วนแล้วค่อยๆ ขยับเข้าไปใกล้ความหมายและคุณค่าของชีวิตจากการเรียนรู้ในแต่ละวัน รวมทั้งเปิดโอกาสให้กับสิ่งใหม่ และการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

          ครูสามารถช่วยเหลือให้นักเรียนค้นพบตัวเองในประเด็นเหล่านี้ได้ เช่น สนับสนุนให้นักเรียนได้หยุดคิดใคร่ครวญต่อความสำเร็จ ความล้มเหลวหรือผิดพลาดของในแต่ละวัน โดยครูสามารถให้การสะท้อนความเป็นจริงของนักเรียนแต่ละคนในด้านความสำเร็จ สิ่งที่นักเรียนทำเป็นประจำจนเป็นสิ่งที่ชอบ และคำพูดสนับสนุนว่านักเรียนทำสิ่งใดได้ดีแล้ว ตลอดจนช่วยประสานความเข้าใจกับผู้ปกครองในการสนับสนุนนักเรียนตามความถนัดและสนใจที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคลด้วย

          แม้ว่าครูสะท้อนให้เห็นความเป็นจริงของนักเรียนจากสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่ง แต่สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้นักเรียนสะสมการเรียนรู้ เพื่อทำความเข้าใจความหมายของชีวิต แล้วตกผลึกเป็นความรู้สึกภายในที่จะผลักดันให้เขาตื่นขึ้นมาใช้ชีวิตและสร้างสรรค์โลกใบนี้ในแต่ละวันได้อย่างมีความสุข

          การพัฒนาความเป็นมนุษย์มีหัวใจสำคัญคือการสนับสนุนการเติบโตจากภายใน สิ่งนี้สามารถเกิดขึ้นได้โดยมีประเด็นสำคัญ คือ ครูจะต้องสนับสนุนให้นักเรียนได้มั่นใจในคุณค่าและความหมายของชีวิตของตนเอง และแสดงให้เห็นว่ารูปแบบความสำเร็จนั้นอาจจะไม่ใช่เพียงแค่คำตอบเดียวเท่านั้น รวมทั้งเคารพในการใช้ชีวิตอย่างมีความหมายที่แตกต่างกันของแต่ละคน

อ้างอิง
www.bbc.com/capital/story/20170807-ikigai-a-japanese-concept-to-improve-work-and-life 
www.weforum.org/agenda/2017/08/is-this-japanese-concept-the-secret-to-a-long-life/
www.forbes.com/sites/chrismyers/2018/02/23/how-to-find-your-ikigai-and-transform-your-outlook-on-life-and-business/


TAG: #Ikigai #อิคิไก