Knowledge
คิดใหม่...ครุศึกษา เพื่อการศึกษา พัฒนา “ครู” รับความต้องการประเทศ
3 years ago 2057 สถานการณ์โควิด-19 จากเงื่อนไขที่ว่าครูกับนักเรียนมาอยู่ด้วยกันในชั้นเรียนไม่ได้ ทำให้เกิดคำถามว่า ชั้นเรียนจะเดินต่อไปไม่ได้จริงหรือ ขณะเดียวกัน ครูที่เตรียมมาไม่สามารถก้าวข้ามรับมือความท้าทายเกิดขึ้นได้ การเตรียมครูแบบที่ทำกันมายังเวิร์คหรือไม่ สถาบันผลิตครูได้มีส่วนร่วมรับผิดชอบกับสถานการณ์นี้อย่างไร และทำไมโรงเรียนกับสถาบันฝึกหัดครูจึงไม่ได้อยู่ The same Frontline
หากมองอดีต เพื่อเรียนรู้ปัจจุบันและอนาคต เรื่องของ Teacher Education หรือครุศึกษา มีการตั้งคำถามว่าใครเป็นเจ้าภาพสำคัญในการผลิตครู โจทย์สำคัญ คือ “ปรัชญาการศึกษาคืออะไร” โดยเฉพาะปรัชญาของครุศึกษา มีการผลิตครูมากมายแต่สถิติกลับพบว่ามีเพียง 10% ที่สอบบรรจุได้ และมีคนที่ได้รับใบประกอบวิชาชีพครู แต่ไม่ได้เป็นครูราว 6 แสนคน
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ราชบัณฑิตประเภทวิชาศึกษาศาสตร์ กล่าวว่า มีประวัติศาสตร์ทางด้าน Teacher Education ที่ดีหลายประการ โดยในอดีตสังคมไทยมองเรื่องพัฒนาคนอย่างประณีต และมีคุณภาพ เน้นกระบวนการอบรมบ่มนิสัย ผ่านโรงเรียนฝึกหัดครูที่เน้นการปฏิบัติจริง และมีแนวปฏิบัติ แต่ปัจจุบันต้องกลับมาตั้งคำถามและทบทวน เช่น แนวคิดเรื่องของการเร่งผลิตครู การผลิตครูซึ่งมีความอิสระจึงต่างคนต่างทำ มีการผลิตครูมากมาย แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ หากดูสถิติ พบว่า ไม่ถึง 10% ที่สอบรับราชการแล้วผ่าน สะท้อนภาพเรื่องคุณภาพ ขณะเดียวกัน ในเรื่องของวิธีการบ่มเพาะ ที่ผ่านมา มีการมองเรื่องของ วัดแววความเป็นครู น่าสนใจมากว่าเขาต้องการครูที่ดีอย่างไร คนที่จะมาเป็นครู ต้องมี DNA เป็นพื้นฐาน ถามว่ากระบวนการแบบนี้ในปัจจุบันเหลืออยู่หรือไม่
“สิ่งสำคัญมากสำหรับ Teacher Educator คือ ความดี มีนัยยะสำคัญอย่างมากว่า คนดี สำคัญกว่าทุกสิ่ง ครูดี ที่มีความสามารถ คือ ความรู้ต้องมีแน่นอน ความสามารถคือปฏิบัติได้จริง แต่เป็นคนดีของสังคม ถามว่าจะสร้างครูที่มีลักษณะแบบนี้ได้อย่างไร นี่คือคำตอบของ Teacher Education” ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สมหวัง กล่าว
รศ.ดร.สมบัติ นพรัก ประธานสภาคณบดีครุศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า คำถามที่ว่า “ใครคือเจ้าภาพในการผลิตครู” ณ วันนี้หากให้ตอบ คือ ไม่มีเจ้าภาพ จะผลิตครูทางด้านใด จำนวนเท่าไหร่ ไม่มีใครกำหนด ฉะนั้น สิ่งที่เราทำทุกวันนี้ คือ สถาบันผลิตครูเปิดรับตามศักยภาพการผลิต ไม่ใช่เปิดรับตามความต้องการ ขณะเดียวกัน ประเทศสิงคโปร์ มีสถาบันผลิตครูแห่งเดียว ซึ่งกระทรวงศึกษามีหน้าที่รับนักศึกษา ต้องการเท่าไหร่อย่างไรในแต่ละปี กลับมาดูที่ประเทศไทย ซึ่งมีสถาบันผลิตครูอยู่ราว 170 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งความจริงมีแค่ 30 แห่งก็เพียงพอ ปัจจุบันมีการผลิตครูในหลักสูตรปริญญาตรีเกิน 80% เฉลี่ยปีละกว่า 50,000 คน แต่ใช้ครูเฉลี่ยปีละ 10,000 คน ขณะเดียวกัน ข้อมูลของครุสภา พบว่า มีคนที่จบครูและได้รับใบประกอบวิชาชีพครู ที่ไม่ได้เป็นครูราว 600,000 คน”
“ตอนนี้มีกระทรวงศึกษา และกระทรวง อว. ขึ้นมา เมื่อสถาบันผลิตครูไม่ได้อยู่ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ยิ่งไม่รู้ว่าจะผลิตครูเอกอะไร เท่าไหร่ ขณะเดียวกัน สถาบันผลิตครูแทบไม่มีโอกาสเข้าไปพัฒนาครู เพราะไม่มีช่อง รวมถึงการผลิตครูของครูให้ตามทันการศึกษาของโลก คำถาม คือ ถึงเวลาหรือยังที่กระทรวงศึกษาที่จะเข้ามาดูแลกระบวนการผลิตและพัฒนาครูทั้งระบบ”
ขณะเดียวกัน “มหาวิทยาลัยราชภัฏ” ซึ่งมีรากฐานจากโรงเรียนฝึกหัดครูในภูมิภาค สู่การเป็นวิทยาลัยครู สถาบันราชภัฏ และมหาวิทยาลัยราชภัฏ นับเป็นมหาวิทยาลัยเชิงพื้นที่ มีทั้งสิ้น 38 แห่งทั่วประเทศ “รศ.ดร.ไชยา ภาวะบุตร” คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ให้ความเห็นว่า ครูราชภัฏเป็นครูของแผ่นดินที่ดูแลคนในภูมิภาคต่างๆ เรามีโมเดลนำมาสู่การผลิตครูโดยเฉพาะ และร่วมกันพัฒนา อบรมปฏิบัติการ นำไปสู่การปฏิบัติการ ขับเคลื่อนยกระดับคุณภาพการศึกษาสอดคล้องกับกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติครู ทักษะสอดคล้องกับการปฏิบัติงาน ความรู้ นำไปสู่การปฏิบัติ ทัศนคติ จิตสาธารณะ เทคนิคการสอนหลากหลาย สู่การปฏิบัติ จบไปต้องมีครบ 17 สมรรถนะที่ได้กำหนดไว้ การขับเคลื่อนครูราชภัฏมีความเข้มข้นพอสมควร เพราะเรามองว่ารากฐานเรามาจากโรงเรียนฝึกหัดครู
ดร.วานิช ประเสริฐพร ผู้อำนวยการสำนักกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในฐานะสถาบันผลิตครูในภาคเอกชน ให้ความเห็นว่า มิติของการศึกษาใหม่ต้องมีความหลากหลายมากขึ้น สะท้อนและเป็นไปตามรูปแบบสภาวการณ์ปัจจุบัน เราตั้งคำถามหลายครั้งว่า ผลิตครูเพื่อไปรับราชการอย่างเดียวใช่หรือไม่ ในอนาคตทางสภาคณบดี ได้หารือว่าอาจจะต้องแบ่งเป็นกลุ่มในการผลิตครู เช่น แต่ละภูมิภาค คุณภาพมาตรฐานต้องอยู่ในระดับเดียวกันทั้งครู นักศึกษา และแนวความคิด ขณะนี้ มีการจับมือกับกลุ่มโรงเรียนเอกชน เพื่อผลิตครูที่เขาต้องการ สิ่งสำคัญของการพัฒนาครุศึกษา คือ การพัฒนาคนให้มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน แนวทางทางการศึกษาต้องสะท้อนผู้เรียน จุดเด่นแต่ละแห่งที่แตกต่างกัน และสร้างแรงบันดาลใจ รวมถึงเรื่องของการฝึกประสบการณ์ การผลิตครูเอกชน เรามองว่ารัฐบาลทำอย่างไร เกณฑ์มาตรฐานเป็นอย่างไร เกณฑ์ของครุสภาเป็นอย่างไร และปฏิบัติตามอย่างนั้น
รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า เรื่องของเจ้าภาพคิดว่าสำคัญ ขณะเดียวกัน สิ่งที่หายไปซึ่งเป็นสิ่งที่ดี คือ ทุนครู และทุนครูของครู รวมถึงวิธีการคัดเลือกคนให้ได้ทุน ตั้งแต่ปี 2512 จนถึงปัจจุบัน เรามีมรดกตกทอดมา คือ เรียนอะไรไม่ได้มาเรียนครู กลับมาที่ปรัชญาครุศึกษาจะเอาอย่างไร ปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้น สิ่งที่ต้องเติมในปรัชญาครุศึกษา คือ การฝึกครูให้คิด ตระหนัก ซึ่งสามารถแทรกทั้งในคุณธรรม การปฏิบัติ ความรู้ เพื่อเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง
ผศ.ดร.จุฑารัตน์ วิบูลผล อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ณ วันนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ เมื่อมีประเด็นทางการศึกษา เราไม่ถูกเป็นเป้า ทำให้ไม่มีแรงกดดันจากภายนอกที่จะทำให้เราขับเคลื่อนและพัฒนาอย่างรวดเร็ว คำถามคือทำอย่างไรจะขับเคลื่อนและพัฒนาการศึกษา หากสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสถาบันการผลิตครูได้ ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้ สถาบันผลิตและพัฒนาครูหน้าที่ของเราควรจะเกี่ยวข้องกับชีวิตครูทั้งกระบวนการ ไม่ใช่แค่ก่อนประจำการเท่านั้น สุดท้าย หัวใจสำคัญ คือ ทำอย่างไรให้สามารถผลิตงานวิจัยที่ช่วยชี้นำการพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้ และควรมีงานวิจัยที่ทำได้เร็วเพื่อให้ทันสถานการณ์หรือความท้าทายที่เกิดขึ้น”
รศ.ดร.ชาตรี ฝ่ายคำตา อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มองว่า ตอนนี้สถาบันผลิตครูเข้าใจตรงกันหรือไม่ว่าจะต้องผลิตครูแบบไหน และเราต้องมองไปอีกว่าประเทศต้องการพลเมืองแบบไหน สำหรับสถาบันผลิตครู สามารถผลิตให้มีสมรรถนะตามนั้นหรือไม่ ครูต้องพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกัน เรื่องของ How to ในการผลิตครูเราตกผลึกมากน้อยแค่ไหน ที่ผ่านมาอาจมีการพูดถึง แต่ปัจจุบันควรจะเป็นอย่างไร ต้องมองต่างประเทศทำแบบไหน และมองมาที่บริบทของเรา โดยเฉพาะพัฒนามายเซ็ต และการปฏิบัติสู่ทฤษฎี เพื่อความยั่งยืน
สกู๊ป Teacher Education Forum ฟอรั่มครุศึกษา