Knowledge
โควิด-19 สะท้อนโรงเรียน-ครู สถาบันผลิตครูต้องปรับโฉมหรือไม่ ?
3 years ago 2101 สถานการณ์โควิด-19 มีผลอย่างมากต่อการศึกษาไทย เนื่องจากวิกฤตครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงระบบการเรียนการสอนของไทย รวมถึงคำถามเกี่ยวกับการผลิตพัฒนาครูไทย และสถาบันผลิตครูมากมายว่า เกิดอะไรขึ้น? เมื่อเพียงปรับการเรียนออนไซต์ในชั้นเรียนสู่ออนไลน์ ส่งผลให้การเรียนรู้ของเด็กถดถอย แถมครูเองก็ไม่รู้ว่าจะใช้รูปแบบการเรียนการสอน การผลประเมิน และจะบริหารจัดการชั้นเรียนอย่างไร
“Teacher Education Forum มองครุศึกษาผ่านการจัดการศึกษาในช่วงโควิด-19” อีกหนึ่งวงเสวนา สำหรับอาจารย์ครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ "คิดใหม่...ครุศึกษาเพื่อการศึกษาของประเทศ" โดยมี ผศ.ดร.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่าความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนฝึกหัดครูกับโรงเรียนไม่สอดคล้องกัน อดีตใช้โรงเรียนเป็นฐานเรียนรู้ แต่ตอนนี้การฝึกหัดครูกลับอยู่ในมหาวิทยาลัยมากกว่าโรงเรียน เมื่อเกิดโควิด-19 นิสิตฝึกสอนต้องเจอเรียนออนไลน์ ซึ่งเขาสะท้อนกลับมาว่า สิ่งที่เรียน 4 ปี ในสถาบันการผลิตครูไม่สามารถนำไปใช้ในชั้นเรียนได้ และมีนิสิตครูบางคนที่บอกว่าสถาบันผลิตครูเป็นการสอนนิสิตครูให้เข้าใจผู้เรียน
รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เล่าว่าโควิด-19 ทำให้ครูและนักเรียนไม่ได้อยู่ในชั้นเรียน และเกิดปัญหาการศึกษามากขึ้น ซึ่งตนตั้งข้อสงสัยว่าการเปลี่ยนจากเรียนออนไซต์มาเป็นออนไลน์ได้สร้างปัญหามากขึ้นจริงหรือ ถ้ามากขึ้นสถาบันการผลิตครูที่ส่งครูไปในระบบการศึกษาได้สอนอะไรครูไปบ้าง และหากเป็นเช่นนั้นตอนนี้คงต้องกลับมา Set Zero ระบบการสอนครูทั้งหมด
ดิสรัปครั้งนี้ทำให้ครูและนักเรียนได้รับบทเรียนมากมาย ทำให้รู้ว่าการปรับระบบการเรียนรู้ครูจาก 5 ปีเป็น 4 ปี ไม่ใช่ประเด็น และมองเห็นกระบวนการผลิตครู ว่าเมื่อก่อนครูในสถาบันผลิตครู หรือครูของครูกับครูที่อยู่ในโรงเรียนจะเชื่อมต่อกัน เชื่อมไปถึงห้องเรียน แต่ตอนนี้ไม่ใช่ เมื่อลูกศิษย์ครูไปอยู่หน้าชั้นเรียน มักจะไม่สามารถนำสิ่งที่เรียนรู้ในสถาบันการผลิตครูไปใช้ได้
“ผมได้มีโอกาสไปเรียนรู้การผลิตครูในญี่ปุ่น และได้นำแนวทางใหม่มาสร้างลูกศิษย์ ครูประจำการที่มุ่งเน้นการลงสนามจริงๆ ทำให้ห้องเรียนของคนที่เรียนวิชาชีพครู มีประสบการณ์จริงผ่านตัวบุคคล ทำให้เมื่อเด็กไปอยู่หน้าชั้นเรียนสามารถสอนได้ เข้าใจนักเรียน และสถาบันการผลิตครูต้องรื้อฟื้นระบบ 2 2 2 เรียนครูและให้ครูออกไปฝึกสอนกลับมาสอบเทียบครู ทำให้ได้ครูที่มีประสบการณ์เข้ามาเรียนรู้ ไม่ว่าเจอสถานการณ์ไหนครูก็จะปรับการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ของเด็กได้”รศ.ดร.ไมตรีกล่าว
ระบบการผลิตครูของ “รศ.ดร.ไมตรี” จะขับเคลื่อนโดยการทำงานร่วมกัน เปิดกว้างทางความคิด นักศึกษาครูทุกชั้นปี ไม่ว่าจะปี 1-ปี 5 จะต้องมาทำกิจกรรม Social Activity ทำงานร่วมกัน และทุกกิจกรรมจะมีการสะท้อนคิด การที่นักศึกษาได้อยู่ในชั้นเรียน ห้องเรียนจริงๆ ทำให้รู้หน้างาน แก้ปัญหาและเข้าใจชั้นเรียนมากขึ้น ขณะเดียวกัน ครูของครูก็ต้องลงไปชั้นเรียน ไปร่วมสอนและร่วมสะท้อนคิดกับนักศึกษาครู
ผศ.ดร.จุฑารัตน์ วิบูลผล อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่าโควิด-19 ได้สะท้อนการทำหน้าที่ของครูในหลายเรื่อยๆ โดยเฉพาะการเตรียมนิสิตครูออกสู่ชั้นเรียน ก่อนเจอโควิดเชื่อเสมอว่านิสิตครูมีความพร้อม และเป็นครูที่มีคุณภาพ แต่เมื่อเกิดโควิด ชั้นเรียนไม่ได้เปิดและครูต้องมาสอนออนไลน์ เจอเด็กนักเรียนที่หลากหลายมีทั้งพร้อมไม่พร้อมเรียนออนไลน์ ทำให้เรารู้ว่านิสิตครูของเราต้องเจออะไร และนิสิตครูพร้อมที่จะออกสู่ชั้นเรียนจริงๆ หรือไม่
“สถาบันผลิตครูไม่ได้เตรียมครูหากเจอสถานการณ์กะทันหัน และทิศทางการผลิตครูกับครูที่สอนในชั้นเรียนไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกัน ภาพครูที่อยู่ในชั้นเรียนเทียบเคียงกับครูที่ต้องไปสอนออนไลน์ไม่ชัดเจนว่าเป็นแบบไหน ทุกครั้งที่ดูนิสิตฝึกสอนออนไลน์ หลายเรื่องไม่มีหลักการเชื่อมโยง นิสิตครูมักจะพูดเสมอว่าลักษณะห้องเรียนอาจารย์ไม่เหมือนห้องเรียนหนู ฉะนั้น ครูในสถาบันผลิตครูต้องหันกลับมามองตัวเองว่าสิ่งที่สอนนิสิตครูนั้นเป็นอย่างไร” ผศ.ดร.จุฑารัตน์ กล่าว
สิ่งที่ครูประจำการณ์ทำได้ คือ พยายามปรับหลักการเรียนการสอนที่ใช้ในห้องเรียนปกติมาใช้ในบริบทการเรียนออนไลน์ ขณะที่ครูในสถาบันผลิตครู ต้องไปสอนอยู่หน้าชั้นเรียนแบบเดียวกับนิสิตครู เพื่อเข้าใจมุมมองนิสิตครู รวมถึงควรอุดช่องว่างระหว่างครูกับนิสิตครู เพราะตอนนี้ต่อให้นิสิตครู หรือบัณฑิตครูเจอปัญหาอะไร พวกเขาก็ไม่เคยกลับมาขอความรู้จากสถาบันผลิตครู
ผศ.ดร.จุฑารัตน์ เล่าต่อไปว่า สถาบันการผลิตครูต้องไม่ใช่เพียงแหล่งผลิตครู แต่ต้องเป็นสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตของครู ต้องเป็นแหล่งอัพสกิล เพิ่มความรู้แก่ครูทุกคน และต้องมีการเพิ่มทักษะความอิสระในการตัดสินใจของครู ตอนนี้ครูไทยมีอิสระในการตัดสินใจน้อยมาก เขาไม่แน่ใจว่าต้องจัดการเรียนการสอนอย่างไร เลือกรูปแบบไหน ครูยังต้องรอรับนโยบายหรือแนวทางจากหน่วยงานต้นสังกัด สถาบันการผลิตครูต้องสร้างสมรรถนะให้ครูตัดสินใจอย่างอิสระได้
ตบท้ายด้วย รศ.ดร.ชาตรี ฝ่ายคำตา อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล่าว่าโควิด-19 ทำให้เห็นว่าครูสอนยึดหลักสูตร ประเมินผลแบบเดิม ไม่กล้าพลิกแพลง ซึ่งหากครูทุกคนดีไซน์ หลักสูตร ปรับการประเมินผล และรู้ว่าจะนำอาวุธหรือสิ่งที่เรียนรู้ในสถาบันการผลิตครูไปใช้ในห้องเรียนอย่างไรต่อให้เกิดสถานการณ์โควิด พวกเขาก็สามารถรับมือได้ แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิดทุกคนช็อก ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร จัดการเรียน หลักสูตร ประเมินผลแบบไหน ดังนั้น เรื่องเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นปัญหาจากการเตรียมครูของสถาบันการผลิต และไม่มีการการส่งเสียงต่อสาธารณะ ครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ มีการเตรียมลูกศิษย์ให้ลงชั้นเรียนมากขึ้น แต่ไม่ได้เชื่อมโยงกับโรงเรียน หลังจากนี้คงต้องมีการหารือร่วมกัน และกำหนด How to หลักคิดร่วมกันว่าจะเตรียมพร้อมลูกศิษย์ครูอย่างไรให้สามารถอยู่รอดได้ ปรับตัวได้เมื่อเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ