Knowledge

เพราะครูคือหัวใจของการจัดการความรู้ พัฒนาวิชาชีพครูด้วยกระบวนการจัดการความรู้

เพราะครูคือหัวใจของการจัดการความรู้ พัฒนาวิชาชีพครูด้วยกระบวนการจัดการความรู้

 1 year ago 3046

อาทิตยา ไสยพร

          การพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ลำดับแรก ๆ ที่ต้องใส่ใจคือการพัฒนาคุณครูให้มีความรู้ความสามารถในการออกแบบการเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ กระบวนการที่มีส่วนช่วยให้คุณครูพัฒนาตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพวิธีหนึ่งคือกระบวนการจัดการความรู้ (Knowledge Management: KM) กระบวนการนี้สำคัญต่อคุณครูอย่างไร และมีสิ่งใดบ้างที่คุณครูควรรู้เพื่อเป็นประโยชน์ในการนำไปปรับใช้พัฒนาวิชาชีพของตน บทความนี้มีคำตอบ

การจัดการความรู้คืออะไร
          ความรู้ในกระบวนการ KM มี 2 ประเภท ได้แก่ ความรู้ที่ชัดแจ้ง (explicit knowledge) หมายถึง ความรู้เชิงวิชาการ หลักวิชาทฤษฎี ที่สามารถรวบรวมถ่ายทอดออกมาในรูปแบบต่าง ๆ เช่น หนังสือ คู่มือ ปฏิบัติงาน เอกสารและรายงานต่าง ๆ ฯลฯ และความรู้ฝังลึก (tacit knowledge) เป็นความรู้ที่อยู่ในตัวบุคคล ความเชื่อ ค่านิยม ภูมิปัญญา เหตุผล ทักษะ เป็นเทคนิคเฉพาะตัว เกิดจากประสบการณ์ กระบวนการ KM จะเข้ามาจัดการความรู้ทั้งสองประเภทให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้อง โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการจัดการความรู้ ประสบการณ์ และความสามารถทางวิชาชีพของครูผู้สอน รวมถึงส่งเสริมให้ครูผู้สอนมีโอกาสแลกเปลี่ยน และพัฒนาความรู้ร่วมกันในโรงเรียน

คุณครูในโรงเรียนจะจัดการความรู้ร่วมกันได้อย่างไร
          คุณครูต้องนำความรู้ที่ชัดแจ้งและความรู้ฝังลึกมาจัดเป็นกระบวนการ โดยใช้โมเดลเซกิ (SECI Model) มี 4 กระบวนการ องค์ประกอบของกระบวนการง่าย ๆ คือ แลกเปลี่ยน - เขียนออกมา - ยกระดับ - นำไปใช้ มีรายละเอียด ดังนี้
          แลกเปลี่ยน (socialization) ผ่านการวางแผนบทเรียนร่วมกัน พร้อมแลกเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนรู้จากประสบการณ์ของคุณครูแต่ละคน โดยขั้นตอนนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือกันของคุณครูในการเลือกหัวข้อการสอนหรือเลือกปัญหาที่เคยพบเจอ นำมาพูดคุยแลกเปลี่ยนหาวิธีการพัฒนาให้การสอนดีขึ้น หรือแก้ปัญหาที่เคยพบจากการสอนในชั้นเรียน เช่น ปัญหาผู้เรียนไม่สนใจเรียนในบทเรียนที่สอน คุณครูจะออกแบบกิจกรรมอย่างไรให้ผู้เรียนสนใจกับบทเรียนนั้นมากขึ้น
          เขียนออกมา (externalization) หลังจากขั้นตอนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ครูจัดทำแผนการสอนออกมาแล้วดำเนินการตามที่ได้รับคำแนะนำมา ขั้นตอนนี้เป็นการเก็บประสบการณ์ของคุณครูจากการนำกิจกรรมการสอนขึ้นใหม่ไปใช้ ซึ่งสามารถช่วยให้คำตอบว่าประสบความสำเร็จมากขึ้นหรือไม่ ในชั้นนี้คุณครูผู้สอนและที่เข้าไปอยู่ในชั้นเรียนจะสังเกตบรรยากาศและกิจกรรมที่เกิดขึ้นพร้อมบันทึกเพื่อใช้ในการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคุณครูท่านอื่นในครั้งถัดไป
          ยกระดับ (combination) เมื่อได้บันทึกมาแล้วจะมีการประชุมอีกครั้งหลังสอนจบบทเรียน โดยคุณครูในกลุ่มจะมาแลกเปลี่ยนกับคุณครูในกลุ่มท่านอื่นว่าคิดเห็นอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างนำกิจกรรมไปใช้ โดยครูแต่ละท่านจะรวบรวมข้อเสนอแนะเหล่านี้นำไปปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาแผนการสอนให้สมบูรณ์กว่าเดิม
          นำไปใช้ (internalization) เมื่อถึงขั้นตอนสุดท้าย จะมีการประเมินผลและสรุปผลการจัดการเรียนรู้ของคุณครูในแต่ละครั้งที่ผ่านมา โดยคุณครูและผู้บริหารจะจัดการประชุม ไม่ใช่เพียงรับข้อเสนอแนะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเท่านั้น แต่รวมไปถึงการทำเป็นเอกสารหรือสื่อรูปแบบต่าง ๆ ที่คุณครูทั้งโรงเรียนสามารถเข้าถึงองค์ความรู้นี้ได้ เช่น รายงานกรณีศึกษา สื่อวิดีโอเกี่ยวกับวิธีการออกแบบการสอน หรือแหล่งความรู้อื่นที่คุณครูควรเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง

          หากสังเกตจากกระบวนการทั้ง 4 ขั้นตอนนี้ก็จะพบว่ามันคือการศึกษาบทเรียนร่วมกันหรือ Lesson Study นั่นเอง ที่เน้นการพัฒนาคุณครูผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันและกัน นำไปสู่การต่อยอดหาความรู้ของตัวคุณครูเอง จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการพัฒนาวิชาชีพของคุณครูในโรงเรียน

เครื่องมือในการจัดการความรู้
          เริ่มจากเครื่องมือจัดการความรู้ที่ฝังในตัวคน (tacit knowledge) เช่น การรวมกลุ่มกันของคุณครูจากรายวิชาเดียวกันหรือมีความสนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งร่วมกัน มีการแลกเปลี่ยนความรู้ของสมาชิกจนเป็นกิจวัตร เกิดเป็นชุมชนนักปฏิบัติการ (Communities of Practice หรือ CoP) ซึ่งเป็นครูไทยอาจคุ้นเคยมากกว่าในชื่อวง PLC นอกจากนี้ ระบบพี่เลี้ยงก็จัดเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะสำหรับนิสิตนักศึกษาฝึกสอนน่าจะคุ้นเคยเป็นอย่างดี พี่เลี้ยงมีส่วนช่วยในการแนะนำวิธีการทำงาน ช่วยเหลือสนับสนุน คอยให้คำปรึกษาชี้แนะ ถ้าเราเรียนรู้จากตัวพี่เลี้ยงได้มากเท่าไหร่ เราก็จะได้รับคำแนะนำและวิธีการในการปรับใช้มากเท่านั้น
          เครื่องมือจัดการความรู้ความรู้ชัดแจ้ง (explicit knowledge) ได้แก่ แหล่งความรู้ต่าง ๆ ที่สามารถเข้าถึงได้ เช่น ระบบฐานข้อมูลที่มีอยู่ในอินเทอร์เน็ต ระบบการจัดการความรู้ (Learning Management System: LMS) ของโรงเรียน ซึ่งใช้ในการรวบรวมและจัดระบบความรู้ของคุณครูในโรงเรียน รวมไปถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ เช่น สื่อสังคมออนไลน์ ระบบคลาวด์ หรือ Webpage ต่าง ๆ ในการเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนความรู้ จัดเก็บ และนำเสนอผลงานต่าง ๆ ของคุณครู ทาง EDUCA เคยได้นำเสนอตัวอย่างแหล่งข้อมูลสำคัญที่คุณครูไม่ควรพลาดไว้แล้ว คุณครูสามารถลองเข้าไปรับชมได้ที่นี่

          การจัดการความรู้มีประโยชน์ในการพัฒนาคนให้มีศักยภาพสูงขึ้นผ่านการเรียนรู้จากเครื่องมือต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้รู้ที่ถ่ายทอดความรู้และแหล่งเรียนรู้ที่ช่วยให้คนเข้าถึงความรู้ ในโรงเรียนก็เช่นกัน เมื่อคุณครูทุกคนเข้าถึงความรู้จะทำให้มีการพัฒนา และปรับปรุงกระบวนการทำงานอยู่ตลอดเวลา ย่อมทำให้คุณภาพการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนสูงขึ้นไปด้วย จนนำไปสู่การพัฒนาโรงเรียนให้มีมาตรฐาน และคุณภาพสูงขึ้นตามมา

อ้างอิง
เขมกร ไชยประสิทธิ์ และภาคภูมิ สุภาพันธ์. (2557). การพัฒนาระบบการจัดการความรู้สำหรับงานสอนของครูประถมศึกษา โรงเรียนดาราวิทยาลัย เชียงใหม่ [มหาวิทยาลัยเชียงใหม่]. CMU Intellectual Repository. http://cmuir.cmu.ac.th/handle/6653943832/37843

มหาวิทยาลัยแม่โจ้. (2562, 14 กุมภาพันธ์). การจัดการความรู้ (Knowledge Management). https://researchex.mju.ac.th/km/index.php/blogkm/kmman/6-kmanagement

มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา. (n.d.). เครื่องมือการจัดการความรู้ (KM TOOLS). https:// arit.rmutl.ac.th/page/เครื่องมือการจัดการความรู้-km-tools

Cheng, E. C. K. (2015) Knowledge management for school development. In Knowledge management for school education (pp.11-23). SpringerBriefs in Education. Springer. https://doi.org/10.1007/978-981-287-233-3_2

Cheng, E. C. K. (2019). Reconceptualising lesson study as knowledge management. In Integrated language learning & social awareness: Research and practice (pp. 17–28). SpringerBriefs in Education. https://doi.org/10.1007/978-981-13-2472-7_2

EDUCA. (n.d.). EDUCA เอ็ดดูเคชั่นเพลส (Education Place) รวบรวมแหล่งเรียนรู้ออนไลน์เพื่อครูและนักเรียน. https://www.educathai.com/knowledge/articles/332


TAG: #กระบวนการจัดการความรู้ #Knowledge Management #KM #ความรู้ที่ชัดแจ้ง #Explicit knowledge #ความรู้ฝังลึก #Tacit knowledge #โมเดลเซกิ #SECI Model #LS #Lesson Study #แหล่งเรียนรู้ #PLC #PROFESSIONAL LEARNING COMMUNITY