Knowledge
Like Stars On Earth (2007) ภาพยนตร์ที่บอกเล่า ‘ความเป็นครู’ ผู้สามารถสัมผัสหัวใจของเด็กที่มีภาวะดิสเล็กเซียได้อย่างดีเยี่ยม
4 years ago 18348เรื่อง: ภัทรพร บุญนำอุดม
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ
บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์
‘เด็กทุกคนล้วนมีความพิเศษอยู่ในตัวเอง และครูคือคนที่จะทำให้เด็กแต่ละคนได้ค้นพบพรสวรรค์นั้น‘ ภาพยนตร์เล่าเรื่องของเด็กชายวัย 8 ปี ‘อิชาน’ ผู้มีความพิเศษและพรสวรรค์อยู่ในตัวเอง เขาแตกต่างจากเด็กคนอื่นๆ รอบตัว ถ้าใช้เกณฑ์คะแนนสอบในโรงเรียนมาเป็นบรรทัดฐานในการวัดผล เขาคือเด็กชายหัวอ่อน ถึงขั้นเรียนไม่เอาไหน ช่างแตกต่างจากเพื่อนในโรงเรียนและพี่ชายคนโตของบ้านที่ผลการเรียนเป็นเลิศ
พ่อแม่ของอิชานต่างรู้สึกวิตกกังวลและเหนื่อยใจกับพฤติกรรมต่างๆ ของลูก อย่างเช่น ผลการเรียน การโดดเรียน การนอนตื่นสาย ความไร้ระเบียบวินัย และพฤติกรรมอื่นๆ ที่ทำให้ครูในโรงเรียนต่างเอือมระอา พ่อของอิชานจึงมีความคิดว่าจะสร้างระเบียบวินัยและเปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนของลูก ด้วยการพาอิชานไปเรียนในโรงเรียนประจำแห่งหนึ่งซึ่งขึ้นชื่อลือชาว่า ‘เข้มงวดในระเบียบวินัยเป็นที่สุด’ แต่ทว่าความปรารถนาดีที่มาพร้อมความไม่เข้าใจทำให้อิชานต้องตกอยู่ในความทุกข์ทรมาน เพราะไม่มีใครสักคนเข้าใจว่า การเรียนรู้ของเขาแตกต่างจากเพื่อนคนอื่นๆ เขาไม่สามารถ ‘อ่านออกเขียนได้’ ในระดับเดียวกับเพื่อนวัยเดียวกัน เพราะอิชานคือเด็กที่มีภาวะ ‘ดิสเล็กเซีย’
ระเบียบวินัยในห้องเรียนและผลการเรียนที่ไม่เป็นที่พึงพอใจของครูใหญ่และครูในโรงเรียนส่งผลกดดันให้อิชานตกอยู่ในภาวะใกล้เคียงกับความว่าตายทั้งเป็น เขากลายเป็นคนซึม เหม่อลอย และแยกตัวออกจากเพื่อนฝูง จนกระทั่งได้พบกับครูสอนศิลปะนามว่า ‘นิคุมบ์’ ผู้ซึ่งมองเห็นความแตกต่างและพรสวรรค์ของอิชาน ทันที่ที่พบว่าอิชานตกอยู่ในปัญหา ครูนิคุมบ์ไม่รีรอที่จะหยิบยื่นความช่วยเหลือ ทั้งยังทุ่มเทเพื่อทำให้คนรอบข้างและครอบครัวยอมรับอิชาน ที่สำคัญที่สุดคือเขาได้ทำให้อิชานกล้า ‘เปิดใจ’ และ ‘นับถือตนเอง’ เชื่อว่าสิ่งที่ตนเองเป็นนั้นมีด้านดีอยู่ และเขาสามารถใช้พรสวรรค์ด้านศิลปะมาขับเคลื่อนชีวิตให้ประสบความสำเร็จได้เช่นกัน
สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ เราอยากแนะนำให้ครูทุกคนได้ดู ทั้งนี้เพื่อสร้างความตระหนักว่า บางครั้งเราอาจหลงลืมไปว่า ‘เกณฑ์ในการวัดผลเด็กแต่ละคน สามารถก่อให้เกิดผลร้ายต่อเด็กอีกคนหนึ่งได้’
นอกจากนี้ภาพยนตร์ยังให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ว่าด้วยเกร็ดความรู้พื้นฐานที่ช่วยให้ครูสังเกตและเข้าใจเด็กที่กำลังเผชิญภาวะดิสเล็กเซีย
- ไม่สามารถอ่านหรือเขียนหนังสือได้ ไม่สามารถจดจำตัวอักษร หรือสามารถจดจำได้ช้ากว่าเพื่อนวัยเดียวกัน
- เด็กจะไม่สามารถทำตามคำสั่งที่ซับซ้อนได้
- ทักษะในการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อบางอย่างของเด็กมีความบกพร่อง รวมทั้งไม่สามารถกำหนดขนาด ระยะทาง และความเร็วได้
ฉากความเป็นครูที่น่าประทับใจ
1 ตอนที่ครูนิคุมบ์พยายามจะทำให้เพื่อนในห้องเข้าใจและยอมรับในความแตกต่างของอิชาน โดยการยกตัวอย่างถึงบุคคลที่สำคัญของโลกที่ต่างประสบภาวะดิสเล็กเซีย แต่กลับมีพรสวรรค์อันน่าทึ่งสามารถสร้างผลงานที่ทำให้โลกจดจำอย่าง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์, โทมัส อัลวา เอดิสัน, ลีโอนาโด ดาวินชี และพาโบล ปิกัสโซ ฯลฯ
นับเป็นวิธีการเปลี่ยนทัศนคติของนักเรียนที่ครูหลายคนน่าเอาเป็นตัวอย่าง ต่างจากครูคนอื่นๆ ที่ใช้วิธีการบังคับ ออกคำสั่ง ให้เด็กท่องจำและทำตามโดยปราศจากความเข้าใจ แต่ครูนิคุมบ์ได้สร้างความเข้าใจโดยมันได้เข้าไปในใจพวกเขาจริงๆ
2 ฉากที่ครูช่วยให้อิชานได้แสดงให้คนรอบข้างได้เห็นพรสวรรค์ที่ตัวเองมีอยู่ โดยถึงแม้ว่าครูนิคุมบ์ต้องการจะให้กำลังใจต่ออิชานอย่างไรก็ตาม วิธีการที่ดีที่สุดคือ ทำให้เด็กได้เห็นความสามารถจากการลงมือทำด้วยตัวเอง ซึ่งฉากที่ดีที่สุดของเรื่องก็คือ การที่ครูได้จัดการประกวดผลงานศิลปะที่เปิดให้เด็กๆ รวมทั้งครูในโรงเรียนสามารถเข้าร่วม นับเป็นวิธีการที่ช่วยให้เด็กเห็นศักยภาพของตัวเองได้ดีที่สุด
ข้อมูลเพิ่มเติม
Like Stars on Earth (2007) หรือ Taare Zameen Par คือภาพยนตร์สัญชาติอินเดียที่กำกับโดย อาเมียร์ ข่าน (นอกจากนี้เขายังอำนวยการสร้างและแสดงนำเป็นครู) โดยจัดอยู่ในประเภท PG หรือภาพยนตร์สามารถชมได้ทุกวัย โดยแนะนำให้เด็กและเยาวชนควรมีผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่ร่วมชมและคอยให้คำแนะนำ สำหรับครูที่สนใจ สามารถหาชมได้ทาง netflix.com
หรือชมตัวอย่างภาพยนตร์ที่ www.youtube.com/watch?v=DBg6HSMF9X8