Knowledge
เพราะหนังมาจากสังคม : ชวนเรียนรู้ “สังคม” จากภาพยนตร์
11 months ago 1931สุรศักดิ์ แซ่ลิ้ม
“มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” ประโยคอมตะของอริสโตเติล นักปราชญ์ชาวกรีกผู้ยิ่งใหญ่ที่ได้สรุปลักษณะหนึ่งของมนุษย์คือการอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นสังคม และถ้าหากเรามองภาพยนตร์เป็นเหมือนสังคมหนึ่งของมนุษย์คนหนึ่ง การชมภาพยนตร์ก็เหมือนเป็นการชมช่วงชีวิตหนึ่งของมนุษย์ในสังคมที่แตกต่างกันไป และด้วยแนวคิดนี้เองเราจึงสามารถนำภาพยนตร์มาศึกษา “สังคม” ภายในเรื่องได้และคงดีไม่น้อยถ้าหากครูได้ยกประเด็นจากในภาพยนตร์ให้นักเรียนได้ขบคิด วิเคราะห์ และลองสวมบทบาทว่าถ้าหากชีวิตตัวเองเป็นเหมือนกับในภาพยนตร์แล้วเราจะเอาตัวรอดและแก้ไขปัญหานั้นอย่างไร
คัดเลือกหนังเข้าสู่ห้องเรียน
ครูสามารถเลือกใช้ภาพยนตร์เป็นสื่อได้อย่างไม่จำกัดแนวเรื่องหรือความล้ำลึกของเนื้อหา ขึ้นอยู่กับไอเดียและความเหมาะสมของเนื้อหารายวิชากับเนื้อหาภาพยนตร์ ครูอาจใช้ภาพยนตร์หรือละครที่กำลังเป็นกระแสในปัจจุบันเข้ามาเป็นสื่อในชั้นเรียน เพราะนักเรียนจะให้ความสนใจกับสื่อและรู้สึกกระตือรือร้นที่จะนำเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับภาพยนตร์ดังกล่าว เพราะว่าเป็นสื่อใกล้ตัว ตัวอย่างไอเดียที่น่าสนใจ เช่น ในช่วงนี้ภาพยนตร์เรื่อง “สัปเหร่อ” และ “ธี่หยด” กำลังเป็นกระแส ครูอาจชวนให้นักเรียนมองถึงความเชื่อและความผูกพันเกี่ยวกับเรื่องผีสางว่าแตกต่างกันอย่างไร แล้วถ้าหากย้าย “สังคม” ในภาพยนตร์ดังกล่าวไปภูมิภาคอื่นแล้วความเชื่อดังกล่าวนี้จะเปลี่ยนไปเป็นอย่างไร หรือการยกละครเรื่อง “พรหมลิขิต” ที่อิงจากประวัติศาสตร์สมัยอยุธยามาเชื่อมโยงกับภาพยนตร์แนวไซไฟ (Sci-fi) ว่าพวกเขามี “สังคม” ที่เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
หนังที่ดี ต้องมีคำถามที่ดีประกบด้วย
สิ่งหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นให้การเลือกใช้สื่อภาพยนตร์เป็นมากกว่าการเรียกความสนใจในชั้นเรียน คือการเลือกใช้คำถามปลายเปิด ให้นักเรียนได้นำเนื้อหาในชั้นเรียนเข้ามาวิเคราะห์และตีความ เกิดการถกเถียงกันภายในชั้นเรียน บรรยากาศดังกล่าวก็จะกลายเป็นบรรยากาศแห่งการเรียนรู้อันจะนำมาซึ่งผลพลอยได้ทางการเรียนรู้มากมาย เช่น ทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะการนำเสนอ ทักษะการตีความ รวมถึงครูยังสามารถเลือกใช้ภาพยนตร์เข้ามาเป็นสื่อเพิ่มเสริมทักษะเฉพาะให้กับนักเรียน เช่น ทักษะการรู้เท่าทันสื่อ หรือการเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนก็ได้
การเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้ “สังคม” จากภาพยนตร์เป็นหนึ่งในไอเดียที่ช่วยพัฒนาชั้นเรียนให้เกิดความน่าสนใจและเสริมสร้างให้นักเรียนเข้าใจและเข้าถึง “สังคมมนุษย์” ที่นักเรียนในฐานะพลเมืองคนหนึ่งของโลกอาจพบเจอได้ในชีวิตประจำวันในภายภาคหน้า ไม่ว่าจะเป็นสังคมในระดับชุมชนใกล้บ้านหรือในชุมชนที่ห่างไกลออกไป ไม่ว่าระยะห่างจะเป็นตัวเลขเท่าไหร่หรือไกลเข้าไปในโลกแห่งจินตนาการ ครูก็สามารถชวนมองให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ได้ นอกจากนี้นักเรียนยังได้ฝึกทักษะอื่นพ่วงด้วย และเปิดโอกาสให้นักเรียนได้คิดวิเคราะห์ ตีความ นำเสนอ ผ่านการศึกษาชีวิตและสังคมของตัวละครในภาพยนตร์
ประโยชน์ของการใช้ภาพยนตร์นั้นมีอยู่รอบด้าน หากครูเลือกใช้อย่างเหมาะสมก็ถือเป็นสื่อการเรียนรู้ที่ทรงพลังชิ้นหนึ่งทีเดียว ไม่แน่ว่าในตอนนี้ อาจมีเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งในแวดวงสังคมของมนุษย์คนหนึ่งกำลังเกิดขึ้นอยู่แล้วกลายเป็นพล็อตภาพยนตร์ในอนาคตก็ได้ เพราะชีวิตมนุษย์ก็เหมือนเป็นภาพยนตร์เพียงเรื่องหนึ่งเท่านั้นเอง
อ้างอิง
Drew, J. (2020, November 13). 6 Key Benefits of Using Movies in Education. Live For Film. https://www.liveforfilm.com/2020/11/13/6-key-benefits-of-using-movies-in-education/
อรรถพล ประภาสโนบล. (2564, 25 พฤษภาคม). Global Citizenship Education: เราจะสอนให้นักเรียนเป็นพลเมืองโลกได้อย่างไร. The Potential. https://thepotential.org/knowledge/global-citizenship-education/