Knowledge

การสนับสนุนเด็ก LD เพื่อเชื่อมต่อพวกเขากับโอกาสในการเติบโต

การสนับสนุนเด็ก LD เพื่อเชื่อมต่อพวกเขากับโอกาสในการเติบโต

 3 years ago 2420

เรียบเรียงโดย สุรเชษฐ์ ตรรกโชติ Content Developer Cohort 2 Alumni Teach For Thailand
ภาพ: นัชชา ชัยจิตรเฉลา

          เมื่อเกิดมามีชีวิต และชีวิตคือโอกาสให้เราได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ เพื่อเติบโต และส่งต่อสิ่งที่ดีๆ สู่โลก สู่สังคม สู่ครอบครัว แต่บางชีวิตอาจจะได้รับโอกาสให้เรียนรู้ยากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากปัญหาทางด้านสมองที่ทำให้เกิดความบกพร่องทางการเรียนรู้ ทักษะการอ่าน การเขียน การสะกดคำ การคำนวณ และเหตุผลเชิงคณิตศาสตร์ ซึ่งมีชื่อเรียกของโรคในลักษณะนี้ว่าโรคการเรียนรู้บกพร่อง หรือ Learning Disorder (LD) เมื่อบางครอบครัวมีความต้องการที่จะให้บุตรหลานที่มีลักษณะของ LD มีโอกาสได้ใช้ชีวิตร่วมกับเด็กปกติคนอื่นๆ ปัญหาด้านการเรียนรู้อาจจะเป็นสิ่งแรกที่ก่อให้เกิดช่องว่างทางความรู้สึก เช่นความรู้สึกน้อยใจ เบื่อหน่าย หรือท้อแท้ ที่อาจนำมาสู่พฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง และมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ที่เฉียบพลัน เพื่อทำงานกับความท้าทายเหล่านี้ และเพื่อสนับสนุนให้เด็กกลุ่มนี้ค่อยๆ เรียนรู้ และก้าวเดินต่อไปอย่างมั่นใจบนเส้นทางของพวกเขา สิ่งที่เราทำได้คือความช่วยเหลือ และการให้ความร่วมมือต้องเกิดขึ้นทั้งที่บ้าน โรงเรียน และคุณครู ผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูล และวิธีการสอนซึ่งกันและกัน เพราะความร่วมมือดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะสร้างสภาพแวดล้อม และส่งเสริมให้เด็กๆ ได้พัฒนา และฝึกฝนทักษะในการเรียนรู้ได้ดีขึ้น
          เมื่อในโรงเรียนมีความหลากหลายของเด็ก และส่วนหนึ่งในนั้นมีเด็กกลุ่ม LD รวมอยู่ นอกจากความเข้าใจถึงความท้าทายที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่แล้ว เราสามารถสนับสนุน และให้การช่วยเหลือพวกเขาได้ดังต่อไปนี้
1. สนับสนุนให้พวกเขาหาความสามารถที่เป็นจุดเด่น และพัฒนามันให้เป็นจุดแข็ง
          เนื่องจากทักษะทางการเรียนรู้ในเรื่องของการอ่าน เขียน สะกดคำ หรือคิดคำนวณ เป็นสิ่งยากต่อพวกเขาในการจะใช้ทักษะเหล่านี้พัฒนาความสามารถ ซึ่งเรายังคงต้องอยู่ใกล้ๆ พวกเขาเพื่อสนับสนุนในมิติดังกล่าว แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องหมั่งสังเกต และชวนพวกเขาค้นหาความสามารถอื่นๆ ที่สามารถกลายเป็นจุดแข็งสำหรับพวกเขาได้ ไม่ว่าจะเป็น กีฬา หรือ งานศิลปะ และถึงแม้ว่าเขาอาจจะไม่ได้กลายเป็นนักเรียนที่เก่งที่สุดในกิจกรรมหรือความสามารถเหล่านี้ แต่ถ้ามันคือสิ่งที่พวกเขาชอบที่จะทำหรืออยากทำมัน เราควรสนับสนุนผ่านการให้พื้นที่กับพวกเขาได้ลอง
2. เตรียมรูปแบบการสอนที่ตรงกับลักษณะการเรียนรู้ที่แตกต่าง
          ไม่มีบุคคลสองคนที่เหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพูดถึงเด็กในกลุ่ม LD ที่ต้องต่อสู้กับร่างกายหรือความแตกต่างในการเรียนรู้เฉพาะบุคคลที่มีการแสดงออกที่หลากหลาย ซึ่งเราจำเป็นต้องออกแบบการเรียนที่มีคุณภาพ และหลากหลายด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น การใช้บัตรคำในการเรียนรู้การอ่านสะกดคำ หรือการใช้คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคต่างๆ มาช่วยในการเรียนการสอน เพื่อเชื่อมต่อพวกเขาเข้ากับสิ่งที่พวกเขาสนใจ และอาจจะเป็นแรงบันดาลใจต่อสำหรับเด็กๆ กลุ่มดังกล่าว อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือการทบทวนความคืบหน้าของเด็กเป็นระยะๆ เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาปรับกลยุทธ์ และแผนการสอนเพื่อให้พวกเขาได้มีโอกาสเจอกับการเรียนรู้ที่เป็นมิตรต่อพวกเขามากที่สุด
3. การกระตุ้นและการให้กำลังใจ
          ในห้องเรียนทั่วไปนั้น เด็กในกลุ่ม LD จะต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการเรียนรู้เพื่อที่จะให้ได้ผลลัพธ์แบบเดียวกันกับเด็กทั่วไป ในหลายๆ ครั้งตัวเด็กเองอาจจะเกิดความท้อใจ เหนื่อย และเริ่มรู้สึกไม่อยากที่จะเรียนรู้ และในบางครั้งคุณครูที่ดูแล และให้ความช่วยเหลือก็อาจหมดกำลังใจไปเช่นเดียวกัน กำลังใจจึงเป็นสิ่งสำคัญ สถานการณ์ที่อาจจะเลวร้ายที่สุดคือการที่พวกเขารู้สึกว่า บุคคลที่คอยช่วยเหลือพวกเขา ทั้งโรงเรียน ครอบครัว หรือคุณครู เริ่มที่จะหลีกเลี่ยงการให้ความช่วยเหลือ ให้ความใส่ใจ หรือมองเห็นพวกเขาน้อยลง รวมทั้งมวลก้อนความรู้สึกที่อาจตามมาถ้าพวกเขามองว่าตัวเองเป็นปัญหา และแตกต่างจากคนรอบข้าง เพื่อสนับสนุนพวกเขา เราสามารถหมั่นเป็นกำลังใจให้กับพวกเขาได้เพียงแค่เรามีความเข้าใจ มีการสร้างแรงจูงใจ และแรงกระตุ้นเพื่อให้พวกเขายังรู้ว่า วันพรุ่งนี้ก็จะเป็นใหม่ให้ได้สนุกและเรียนรู้ไปด้วยกันกับเรา
          เมื่อชีวิตเลือกที่จะเกิดไม่ได้ และเมื่อการต่อสู้กับความบกพร่องต่างๆ ในร่างกายกลายเป็นวิชาภาคบังคับ ย่อมทำให้เกิดความเหนื่อยล้าที่เกิดขึ้น และแม้ว่าเราไม่สามารถที่จะรู้สึกหรือเข้าใจสิ่งเหล่านี้ได้ดีเท่ากับตัวของพวกเขาเอง แต่สังคมของเราที่เริ่มต้นจากในหัวใจ และในห้องเรียนของเรา ก็คงจะเป็นสังคมที่อบอุ่น และเอื้อต่อการเติบโตของนักเรียนทุกคนมากขึ้น ถ้านักเรียนรู้ว่ามีคนที่กำลังคอยให้กำลังใจพวกเขา มีความเข้าใจในกระบวนการเรียนรู้ที่บกพร่องนี้ และตั้งใจที่จะต่อสู้ไปเคียงข้างกัน และสื่อสารผ่านการกระทำว่าถึงแม้มันจะเป็นเส้นทางจะต้องเหนื่อย แต่พวกเขาก็ไม่ได้กำลังก้าวเดินไปอย่างโดดเดี่ยวในการต่อสู้ครั้งนี้

แหล่งอ้างอิง
(1) “โรคบกพร่องทางการเรียนรู้” by ผศ. นายแพทย์ มนัท สูงประสิทธิ์ retrieved on September 4, 2020 from https://med.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/child/09042014-1907

(2) “3 Ways to help students in special education” by Meredith Cicerchia and Chris Freeman, retrieved on September 4, 2020, From https://www.readandspell.com/students-in-special-education


TAG: #Learning Disorder #LD #การจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กพิเศษ #เด็กพิเศษ #การเรียนรู้บกพร่อง