Knowledge

ทำความรู้จัก “SEN”... แนวทางส่งเสริมนักเรียนผู้มีความต้องการการดูแลแบบพิเศษอย่างมีคุณภาพ

ทำความรู้จัก “SEN”... แนวทางส่งเสริมนักเรียนผู้มีความต้องการการดูแลแบบพิเศษอย่างมีคุณภาพ

 3 years ago 7250

เรียบเรียง: นางสาวกนกวรรณ สุภาราญ
ภาพ: พิพัฒน์ ยุติธรรม

          การจัดการเรียนรู้หรือการส่งเสริมการศึกษารูปแบบพิเศษให้แก่นักเรียนที่มีความต้องการการพัฒนาการเรียนรู้เฉพาะทางนั้น ล้วนต้องอาศัยแนวทาง และวิธีการที่เหมาะสมเพียงพอต่อความต้องการ ทั้งนี้ รูปแบบการจัดการเรียนรู้รวมทั้งการดูแลสนับสนุนนักเรียนพิเศษ หรือที่เรียกว่า Special Education Needs (SEN) เป็นแนวทางดูแลนักเรียนที่ค่อนข้างมีความเฉพาะกลุ่มซึ่งครูผู้สอน และโรงเรียนต่างก็นำแนวทางดังกล่าวมาปรับใช้เพื่อจัดการเรียนรู้ และส่งเสริมศักยภาพนักเรียนทั้งในด้านวิชาการ และการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ เข้าถึงโอกาสที่ดีในสังคมมากยิ่งขึ้น

“อะไร คือ Special Educational Needs (SEN)”
          การจัดการส่งเสริมหรือให้การสนับสนุนนักเรียนที่มีความจำเป็นเฉพาะทางอย่างมีประสิทธิภาพได้นั้น ครูผู้สอน และโรงเรียนควรทำการประเมินทักษะความสามารถ และความจำเป็นของนักเรียนแต่ละคนที่จะได้รับการพัฒนา ส่งเสริมเพิ่มเติมได้เหมาะสม และตรงประเด็นมากยิ่งขึ้น ในเบื้องต้นก่อนที่จะทำการประเมินอย่างเป็นทางการอย่างละเอียดในชั้นเรียนต่อไป
          โดยหัวข้อการประเมินในเบื้องต้นนั้นแบ่งออกเป็น 4 หัวข้อ ดังต่อไปนี้ การสื่อสาร และการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ความสามารถในการรับรู้ และการเรียนรู้ ความสามารถในการเข้าสังคม การจัดการอารมณ์ และสุขภาพจิตใจ รวมทั้ง ทำการประเมินสมรรถภาพทางร่างกาย และการรับรู้ผ่านประสาทสัมผัส เป็นต้น ในแต่ละหัวข้อยังประกอบไปด้วยรายละเอียดซึ่งเชื่อมโยงสัมพันธ์ระหว่างประเด็นอย่างน่าสนใจอีกด้วย การเข้าใจแนวทาง “SEN” นั้นจะช่วยให้โรงเรียนสามารถวางแผน เตรียมฝึกอบรมให้ความรู้บุคลากรครู จัดการรับมือ และพัฒนานักเรียนได้เหมาะสม ตรงกับความต้องการของนักเรียนได้ดีมากยิ่งขึ้น

“ขั้นตอนในการสนับสนุนนักเรียนที่มีความต้องการเฉพาะทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
          ขั้นตอนการทำความเข้าใจ และเข้าถึงข้อมูลของนักเรียนในการสนับสนุนอย่างเฉพาะทางนั้น สามารถทำได้โดยปรับใช้วิธีการ ดังต่อไปนี้ ขั้นตอนแรกเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจ และประเมินทักษะพื้นฐานของนักเรียน ในขั้นตอนนี้ครูผู้สอน ครูที่ปรึกษาทำงานร่วมเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการเก็บข้อมูลจากแบบสอบถาม การสังเกต และสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการจากนักเรียน ผู้ปกครองและบุคคลรอบข้าง นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อทำความรู้จักนักเรียนเพิ่มมากยิ่งขึ้นและสามารถพัฒนาศักยภาพของนักเรียนได้อย่างเหมาะสม
          หลังจากนั้นก็เข้าสู่ขั้นของการวางแผน ตระเตรียม และค้นหาแนวทางในการพัฒนาที่เหมาะสมต่อการถ่ายทอดความรู้ด้านต่างๆ ให้แก่นักเรียน ซึ่งครูที่ปรึกษา และครูผู้สอนจะทำการประชุม แลกเปลี่ยนวิธีการที่ประสบความสำเร็จ และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการสนับสนุนนักเรียนได้เต็มศักยภาพ
          ทั้งนี้ นอกจากบทบาทของครู และผู้เชี่ยวชาญที่คอยให้คำปรึกษาแล้วนั้น บทบาทของครอบครัวก็สำคัญ และมีอิทธิพลต่อการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของนักเรียนเป็นอย่างมาก การสื่อสารเพื่อสร้างความสัมพันธ์ และความร่วมมือที่ดีจากผู้ปกครอง ผ่านการประชุมพบปะระหว่างครู ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ปกครองร่วมกันอย่างน้อยปีละ 3-4 ครั้ง จะก่อให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวกต่อการปฏิบัติตนให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับครูผู้สอนตามแผนที่ได้วางไว้
          เมื่อครูทำความเข้าใจนักเรียน และเตรียมการวางแนวทางปฏิบัติที่ครอบคลุมเพียงพอแล้วนั้น ขั้นตอนการลงมือนำแนวทางที่ตระเตรียมไว้ไปปฏิบัติให้เกิดผลกับนักเรียนนั้นจะต้องอาศัยบทบาทของครูที่ปรึกษา ครูประจำวิชา และครูแนะแนวหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในการดูแลให้คำแนะนำแก่นักเรียนที่มีความต้องการอย่างใกล้ชิดตามแผนงานที่เตรียมการไว้ เมื่อครูผู้สอนได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่ได้กล่าวมาในข้างต้นแล้วนั้น ก็นำผลการดำเนินการมาทบทวน และทำความเข้าใจสาเหตุที่มีผลต่อความสำเร็จ หรือถ้าหากพบข้อควรปรับปรุงจากการปฏิบัติงาน การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันภายหลังการทำงานจะช่วยให้ครูผู้สอนสามารถปรับปรุง และพัฒนาแนวทางดูแลนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นระบบมากยิ่งขึ้น การทบทวนแนวทางการปฏิบัติงานนั้นไม่จำเป็นต้องทำเป็นขั้นตอนสุดท้ายเสมอไป แต่สามารถทำการทบทวนได้ในทุกๆ ขั้นตอนเพื่อประเมินว่าแนวทางที่ตนใช้นั้นก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้หรือไม่ เพราะอะไร และควรทำเช่นไรเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ เป็นต้น

          นอกจาก 4 ขั้นตอนที่กล่าวมาในข้างต้นจะเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญสำหรับครูผู้สอนในการทำความเข้าใจ และประเมินลักษณะนิสัย ความต้องการเฉพาะทาง เพื่อทำการประสานงานกับผู้ปกครอง ผู้เชี่ยวชาญในการดูแลส่งเสริมนักเรียนขั้นอย่างเหมาะสมในเบื้องต้นแล้วนั้น ความสัมพันธ์ และการทำงานร่วมกันระหว่างครูและผู้ปกครองก็นับเป็นอีกปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาแนวทางสนับสนุนนักเรียนที่มีความต้องการการจัดการเรียนรู้ และการดูแลเป็นพิเศษให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งควรให้ความสำคัญ และส่งเสริมการดำเนินงานให้เป็นไปตามแนวทางที่วางร่วมกันให้มากที่สุด

ที่มา
IPSEA. (2015). What does SEN Support in school mean?. เข้าถึงแหล่งข้อมูลวันที่ 3 กันยายน 2563 จาก https://www.ipsea.org.uk/FAQs/what-does-sen-support-in-school-mean

Department of Education. (2015). Special educational needs and disability code of practice: 0 to 25 years. เข้าถึงแหล่งข้อมูลวันที่ 3 กันยายน 2563 จาก SEND Code of Practice January 2015, หน้า 19 – 28, https://assets.publishing.service.gov.uk/government/uploads/system/uploads/attachment_data/file/398815/SEND_Code_of_Practice_January_2015.pdf


TAG: #Special Education Needs #การศึกษาพิเศษ #เด็กพิเศษ