Knowledge
การเรียนรวม Inclusive education
3 years ago 31473เรียบเรียงโดย สุรเชษฐ์ ตรรกโชติ Content Developer Cohort 2 Alumni Teach For Thailand
ภาพ: นัชชา ชัยจิตรเฉลา
การเรียนรวม (Inclusive Education) คืออะไร การเรียนรวมคือ รูปแบบของการศึกษาทั่วไปที่ทุกคนควรจะได้รับอย่างเท่าเทียมกัน และสำหรับเด็กพิเศษหรือเด็กที่เป็นโรคบกพร่องทางการเรียนรู้ การศึกษาในรูปแบบรวม ไม่ควรเป็นเพียงทางเลือกสำหรับพวกเขา เมื่อความผิดปกติทางร่างกาย และสมองของพวกเขาคือสิ่งที่ดูเหมือนจะพรากโอกาสหลายๆ อย่างจากพวกเขาไป เนื่องจากความสามารถทางการอ่าน เขียน และการคำนวณนั้นเป็นอุปสรรค์ต่อกระบวนการเรียนรู้ ดังนั้นการได้เข้าถึงโอกาสในการเรียนรวมจึงมีความสำคัญ โดยไม่เพียงแต่ในห้องเรียน แต่รวมถึงชุมชน และผู้คนในสังคมที่สามารถเป็นส่วนหนึ่งที่มีสามารถเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนการเติบโตของเด็กๆ กลุ่มดังกล่าว ผ่านการออกแบบบทบาทหน้าที่ของตัวเองในลักษณะที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และเติบโตของพวกเขามากขึ้น และร่วมกันเป็นตัวอย่างของสังคมที่ไม่ได้กีดกันพวกเขาออกจากการมีส่วนร่วมทั้งในรั้วโรงเรียน และเมื่อพวกเขาก้าวออกไปจากรั้วโรงเรียนในฐานะมนุษย์คนหนึ่งในสังคม
เช่นเดียวกับการก้าวเข้ามาของสิ่งที่แตกต่างจากความคุ้นเคยของผู้คนทั่วไปในสังคม การจัดการศึกษาที่รองรับการเรียนรวม อาจชวนให้เกิดคำถามขึ้นในหมู่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะพ่อแม่ ผู้ปกครอง รวมไปถึงครูผู้สอนที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ว่าการเรียนรวมนั้นดีต่อนักเรียนกลุ่มที่เป็นโรคบกพร่องทางการเรียนรู้จริงหรือเปล่า เราจึงจะสำรวจความเป็นไปได้เมื่อมีการเรียนรวมที่มีประสิทธิภาพ ดังนี้
1.ด้านนักเรียน จากการศึกษาจำนวนมากในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมาพบว่า นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ มีผลลัพธ์ทางการเรียน และมีทักษะที่ดีขึ้นในห้องเรียนที่มีการเรียนรวม รวมทั้งพวกเขามีแนวโน้มที่จะแสดงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ และมีการขาดเรียนที่ลดลง ซึ่งการวิจัยชี้ว่าในห้องเรียนที่สามารถจัดการเรียนรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น หนึ่งในสิ่งที่นักเรียนจะได้ฝึกฝนคือทักษะการเข้าสังคม ซึ่งเป็นกระบวนการที่จะสะท้อนให้พวกเขามองเห็นตัวเอง และคนอื่นๆ ชัดเจนขึ้น และงานวิจัยยังระบุอีกว่านักเรียนที่ไม่ได้เป็นโรคบกพร่องทางการเรียนรู้ ก็มีแนวโน้มที่จะพัฒนาขึ้นในห้องเรียนที่มีการเรียนรวมด้วยเช่นกัน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการที่การสื่อสารในห้องเรียนลักษณะดังกล่าว จำเป็นต้องเป็นมิตรกับลักษณะของผู้เรียนที่มีความต้องการหลากหลายมากขึ้น เช่นนักเรียนที่เรียนรู้จากการฟัง การได้ดูภาพ และการได้ลงมือทดลองและหยิบจับสิ่งต่างๆ และนั่นทำให้นักเรียนทุกคนในห้องได้สำรวจ และค้นพบแนวทางการเรียนรู้ที่เหมาะกับตัวเองมากขึ้นด้วย
2.ด้านครอบครัว การศึกษาในปี 2010 พบว่าผู้ปกครองของเด็กที่เป็นโรคบกพร่องทางการเรียนรู้ส่วนหนึ่งยังมีความรู้สึกไม่มั่นใจอยู่บ้างเมื่อพูดถึงการส่งบุตรหลานเข้าสู่ระบบเรียนรวม แต่การศึกษาดังกล่าวก็พบว่าทัศนคติของผู้ปกครองมีแนวโน้มที่จะดีขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะเวลาที่เด็กๆ ที่มีความท้าทายพิเศษในการเรียนรู้ได้เข้ามาเรียนรวม และในขณะเดียวกันผู้ปกครองของเด็กคนอื่นๆ ในห้องก็มีทัศนคติ และความรู้สึกที่เป็นไปในเชิงบวกต่อการเรียนรวมด้วยเช่นกัน
3.ด้านคุณครู ในการศึกษาชิ้นเดียวกันนั้นยังพบความคล้ายคลึงในด้านของความรู้สึกต่อการเรียนรวมจากมุมของคุณครู กล่าวคือถ้าหากคุณครูมีประสบการณ์มากขึ้นกับการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบดังกล่าว หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้รับการอบรมเฉพาะทางในด้านดังกล่าวมา ก็จะมีแนวโน้มที่จะมองการเรียนรวมด้วยทัศนคติในเชิงบวกมากขึ้น ซึ่งความรู้สึกดีๆ ที่มองเห็นความเป็นไปได้ และการออกแบบการสอนไปจนถึงก้าวเข้าห้องเรียนไปด้วยความรู้สึกนั้น เป็นหนึ่งในหัวใจที่สำคัญที่ทำให้การเรียนรวมประสบความสำเร็จ
การออกแบบห้องเรียนที่เป็นมิตรต่อผู้เรียนทุกคน
ใช้รูปแบบการเรียนการสอนที่หลากหลาย โดยเราสามารถเริ่มต้นจากการสอนนักเรียน และพาให้นักเรียนทำกิจกรรมร่วมกันทั้งห้องก่อน ก่อนจะปรับเปลี่ยนให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นด้วยการค่อยๆ ทำให้ขนาดของกลุ่มที่เล็กลงเพื่อให้นักเรียนทุกคนได้มีบทบาทมากขึ้น รวมถึงการเลือกใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่จะสามารถเชื่อมต่อการสื่อสาร ทั้งระหว่างนักเรียนด้วยกันเอง หรือนักเรียนกลับมาที่คุณครูเพื่อตรวจสอบความเข้าใจว่าเราไม่ได้กำลังทิ้งใครไว้ข้างหลังโดยไม่ได้เจตนา ยกตัวอย่างเช่นการให้นักเรียนทำกระดานไวท์บอร์ดจากแฟ้มใส และแผ่นพลาสติกสำหรับใช้เขียนสิ่งต่างๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นการสื่อสารที่เป็นมิตรมากขึ้นกับนักเรียนที่ในช่วงแรกๆ อาจจะยังรู้สึกไม่พร้อมต่อการส่งเสียงดังๆ ออกมาในห้องเรียน กระบวนการในการทำกิจกรรมร่วมกันยังจะเป็นโอกาสในการพัฒนาความสัมพันธ์ และเรียนรู้ซึ่งความแตกต่างของกันและกันในหมู่นักเรียนด้วย
การออกแบบ และตรวจสอบโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาในห้องเรียน โดยเริ่มจุดแรกจากการมีเป้าหมายร่วมกันในห้องเรียนนั้นๆ และในแต่ละคาบที่เราเข้าไปสอน และมีเส้นทางที่ชัดเจนที่เป็นมิตรต่อนักเรียนทุกคนในห้องเรียนรวม หนึ่งในสิ่งที่คุณครูสามารถทำได้เลยในคาบต่อๆ ไปคือการออกคำสั่งอย่างชัดเจน เป็นรูปธรรม เช่น นักเรียนจับกลุ่ม กลุ่มละ 5 ถึง 6 คน กลุ่มไหนได้คนครบแล้วให้ “ทุกคน” ในกลุ่มยกมือขึ้น เป็นต้น การจัดการห้องเรียนที่เป็นมิตรต่อการเดินทางของผู้เรียนนคาบนั้นๆ ยังมีประโยชน์อีกหนึ่งต่อคือถ้านักเรียนรู้ว่าตอนนี้พวกเขาจะต้องทำอะไร จะต้องโฟกัสกับอะไร และต่อไปจะทำอะไรต่อ โอกาสในการเกิดพฤติกรรมที่นอกลู่นอกทางขึ้น (ทั้งในกรณีของนักเรียนที่เป็นโรคบกพร่องทางการเรียนรู้ และนักเรียนคนอื่นๆ ในห้อง) ก็จะลดน้อยลง
การออกแบบห้องเรียนที่สื่อสารกับทุกคน การจะสอนเนื้อหาสักบทหนึ่งนั้นย่อมมีความเป็นไปได้ในการถ่ายทอดออกผ่านรูปแบบที่หลากหลาย เช่นการพูดบรรยาย หรือการให้นักเรียนได้กลับไปค้นคว้าเองเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ โดยในห้องเรียนรวมคุณครูเองจำเป็นที่จะต้องศึกษาถึงเครื่องมือที่เป็นจุดร่วมของความเหมาะสมระหว่างการสอนนักเรียนที่เป็นโรคบกพร่องการเรียนรู้ และการสอนเด็กๆ คนอื่นๆ ยกตัวอย่างกิจกรรมเช่นการให้ดูสื่อการสอนภาพขนาดใหญ่ การใช้หูฟังเพื่อลดสิ่งที่อาจรบกวนนักเรียนจากภายนอก และเปิดกว้างในการรับฟังเสียงตอบกลับจากนักเรียนที่หลากหลาย แม้จะเป็นในใบงานที่ถามหาข้อเท็จจริง ซึ่งนักเรียนบางคนอาจเลือกที่จะวาดภาพมา แทนการเขียนตอบ รวมถึงคุณครูอาจต้องวางแผนเผื่อสำหรับ “เวลาสำหรับหยุดคิด ก่อนที่จะลงมือทำพร้อมกัน” เพื่อให้นักเรียนทุกคนได้ทบทวนแผนของตัวเอง และเพื่อให้นักเรียนทุกคนได้รับโอกาสในการก้าวเข้าสู่บทเรียนในเรื่องนั้นพร้อมๆ กัน
แหล่งอ้างอิง
(1) “Inclusive Education: What It Means, Proven Strategies, and a Case Study” By Lilla Dale McManis, PhD, retrieved on September 11, 2020 from https://resilienteducator.com/classroom-resources/inclusive-education/
(2) Erasmus Training Course on “Special needs and inclusive education, the Italian experience of overcoming segregation”, retrieved on September 11, 2020 from https://www.erasmustrainingcourses.com/special-needs-inclusive-education.html