Knowledge
เมื่อครูจะพาชาติก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง มองการสร้างทักษะการเป็นผู้ประกอบการ แก่นักเรียนผ่านมุมการศึกษานิวซีแลนด์
5 years ago 4395จากแนวทางพัฒนาการศึกษาสู่ทศวรรษที่ 2030 ของสหประชาชาติภายใต้การกำกับดูแลของ UNESCOในปฏิญญาอินชอน ที่ว่า “การศึกษาคือบริการสาธารณะที่รัฐต้องจัดให้มีคุณภาพที่ดีเท่าเทียมแก่เยาวชนทุกคนในประเทศ”ในขณะที่ประเทศไทยมีเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ว่า ภายใน พ.ศ. 2579 “ประเทศไทยต้องหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง และ สร้างนวัตกรรมใหม่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิต และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ”
การจัดการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship Education) เป็นกลวิธีหนึ่งในการขับเคลื่อนการสร้างนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิตด้วยธุรกิจ Start-up จากการจัดตั้งธุรกิจนวัตกรรมขนาดเล็กในแต่ละภาคส่วนย่อยในภาคธุรกิจต่างๆ และขับเคลื่อนโดยการเกื้อหนุนกันจากลักษณะธุรกิจของแต่ละคน
สิ่งสำคัญหนึ่งในการจะสร้างผู้ประกอบการ คือ การเตรียมพร้อมในการจัดการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นผู้ประกอบการให้แก่นักเรียนที่จะมาเป็นกำลังสำคัญในการก้าวผ่านกับดักรายได้ปานกลางในอนาคต ทั้งความเข้าใจต่อการเป็นผู้ประกอบการว่าไม่ใช่เพียงแค่การทำธุรกิจ แต่ต้องมีความเข้าใจในองค์ประกอบทางสังคม มีความสามารถในการบูรณาการความรู้เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม และที่สำคัญที่สุดคือ มีทักษะที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในฐานะผู้ประกอบการในสภาวะที่มีการแข่งขันสูงขึ้น
ศาสตราจารย์เจมี คอลลินส์ ประธานสาขาความเป็นผู้ประกอบการและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยแคนเทอเบอรี่ เมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ ได้ให้ข้อคิดหนึ่งเกี่ยวกับการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการ คือ “โลกได้เปลี่ยนไปแล้ว ตอนนี้บนโลกมีคนฉลาดๆมากมาย แต่ความฉลาดเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอในโลกแห่งการแข่งขัน แต่เขาจะต้องมีความสามารในการแก้ปัญหาด้วย”
ข้อได้เปรียบอย่างหนึ่งก็คือ การศึกษาของนิวซีแลนด์เน้นที่การฝึกทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และการปฏิบัติประยุกต์ใช้ความรู้อย่างลึกซึ้ง ดังนั้นนักเรียนในประเทศนิวซีแลนด์จึงมีโอกาสในการฝึกวิเคราะห์ปัญหา และคิดหาแนวทางในการแก้ปัญหา ซึ่งเป็นทักษะจำเป็นที่เขาจะสามารนำไปปรับใช้ได้ตลอดชีวิตการทำงาน
หลักสูตรการสร้างความเป็นผู้ประกอบการโดยศาสตราจารย์เจมี คอลลินส์ จึงเน้นไปที่การเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ เพื่อสร้างทักษะที่นักเรียนสามารนำไปได้จริงทันทีที่สำเร็จการศึกษา ซึ่งเป็นไปได้ด้วยดีในสังคมที่มีความใกล้ชิดกันอย่างในประเทศนิวซีแลนด์ ที่เพิ่มโอกาสให้นักเรียนเข้าถึงธุรกิจในระดับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจที่หวังผลประกอบการ ธุรกิจที่ไม่หวังผลกำไร หน่วยงานรัฐบาล หรือ องค์กรนิสิตนักศึกษา
องค์ประกอบสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ส่งผลให้การจัดการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นผู้ประกอบการของนิวซีแลนด์ได้ผลดี ก็คือ ทัศนคติเรื่องความรู้สึกร่วมมือร่วมใจกันของคนในชาติ ที่ช่วยลดอุปสรรคในการที่นักเรียนจะเข้าไปเรียนรู้ตามบริบทจริงในโครงการของแต่ละภาคส่วนต่างๆ ทั้ง องค์กรขนาดเล็ก ธุรกิจของครอบครัว จนไปสู่องค์กรความร่วมมือนานาชาติ
จากองค์ประกอบนี้จึงทำให้นักเรียนได้ฝึกฝนทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ทั้งในการบริหารจัดการองค์กร หรือทดลองแนวความคิดในการจัดทำธุรกิจ โดยมีการแนะนำช่วยเหลือจากเหล่าผู้ประกอบการและเครือข่ายทางธุรกิจ นอกจากนี้นักเรียนยังสามารฝึกทักษะผ่านความท้าทายและการแข่งขันในบริบทการประกวดทางธุรกิจอีกด้วย
จากกรณีตัวอย่างนักเรียนที่ได้เข้าร่วมการประกวดทางธุรกิจ พบว่านักเรียนเหล่านี้สามารถเริ่มสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับธุรกิจของตนเองและพัฒนาความเชื่อมโยงทางธุรกิจได้ในระดับสากลทันที่ที่สำเร็จการศึกษา หรือเข้าไปเป็นผู้เชี่ยวชาญการแก้ปัญหาในธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีอยู่ในตลาดแล้วได้เช่นกัน
เมื่อมองย้อนกลับมาในบริบทของประเทศไทยที่เป็นสังคมที่มีความใกล้ชิดไม่ต่างกัน เราก็เห็นโอกาสจากการเรียนรู้เรื่องราวของประเทศนิวซีแลนด์ในเรื่องการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการโดยเฉพาะจากคำพูดทิ้งท้ายของศาสตราจารย์คอลลินส์ที่ว่า “ไม่ว่านักเรียนจะเลือกเส้นทางชีวิตแบบไหน สิ่งสำคัญคือครูต้องจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่นักเรียนสามารถไปประยุกต์ใช้ได้จริง ฝึกทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และสร้างสนับสนุนให้พวกเขามีความมั่นใจต่อความต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงได้”
เช่นนี้แล้วโอกาสในการที่ครูจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการศึกษาเพื่อก้าวผ่านกับดักประเทศรายได้ปานกลางและสร้างการศึกษาคุณภาพที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละคนคงไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินจริงอีกต่อไป
https://www.studyinnewzealand.govt.nz/blog/giving-entrepreneurship-students-the-skills-to-succeed/