Knowledge
ครั้งแรกในเมืองไทยที่ EDUCA 2018 กลยุทธ์สร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้แบบนิวซีแลนด์
5 years ago 2851ในการประชุมนานาชาติ EDUCA 2018 เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา เป็นโอกาสดีที่คุณครูได้มาเรียนรู้เกี่ยวกับ “พลังแห่งความร่วมมือรวมพลังของครูในชุมชนแห่งการเรียนรู้นิวซีแลนด์” โดย ดร. Camilla Highfield จาก University of Auckland ประเทศนิวซีแลนด์ ว่าในห้องเรียนที่มีความแตกต่าง เหมือนตัวแทนของสังคมที่มีความหลากหลาย นิวซีแลนด์ทำอย่างไรให้ความเฉพาะตัวของแต่ละบุคคลได้รับการพัฒนาและประสานกันได้อย่างเข้มแข็ง
Kāhui Akoคือความหมายของชุมชนแห่งการเรียนรูู้ (Community of Learning) ในแบบของนิวซีแลนด์ ที่ทุกคนต่างมีส่วนร่วมในการสร้างการศึกษาที่ดี คือ
– ครูร่วมมือในการจัดการเรียนการสอนเพื่อผลการเรียนรู้ที่ดีที่สุดสำหรับนักเรียนแต่ละคน ทั้งการพัฒนาความสามารถของนักเรียนเป็นรายบุคคล หลักสูตรที่ส่งเสริมการเรียนรู้ที่เฉพาะตัวของแต่ละคน รวมทั้งมีการแบ่งปันประสบการณ์การทำงานระหว่างครูเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้ที่ดีและเหมาะสมกับนักเรียนแต่ละคน
– ผู้บริหารให้ความสำคัญกับกระบวนการและประสิทธิผลของนักเรียนและครูทุกคน โดยรักษาเป้าหมาย มุ่งมั่น และรับผิดชอบ ผ่านการสร้างวัฒนธรรมแห่งความไว้เนื้อเชื่อใจ รวมทั้งพัฒนาภาวะผู้นำของครูและผู้บริหารอยู่เสมอ รวมทั้งเป็นผู้นำที่มีวิธีการปฏิบัติที่มีข้อมูลรองรับ
– ใช้หลักฐานข้อมูลเพื่อพัฒนาการปฏิบัติงาน จากกระบวนการเรียนรู้และผลการเรียนรู้ของนักเรียน แบ่งปันข้อมูลและใช้วิธีการที่สม่ำเสมอในการเก็บและใช้ข้อมูล รวมทั้งมีระบบการจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ
– มีกระบวนการพัฒนานักเรียนแต่ละบุคคลที่ครอบคลุมเชื่อมต่อทั้งเส้นทางการศึกษา คือ รวมเส้นทางการเรียนรู้จากปฐมวัยจนจบการศึกษาให้เป็นเส้นทางเดียวกัน ให้การสนับสนุนในช่วงการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้นักเรียนแต่ละคนเห็นเส้นทางอาชีพของตนเองได้
– ร่วมมือกับครอบครัว ภาคอุตสาหกรรม กลุ่มชาติพันธุ์ และชุมชน คือ เป็นส่วนหนึ่งกับครอบครัวของนักเรียนและค่านิยมความเชื่อในสังคมของนักเรียน ทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนานักเรียน เป็นภาคส่วนหนึ่งกับกลุ่มชาติพันธุ์ในสร้างการเรียนรูู้ มีความใกล้ชิดกับชุมชนและมีข้อตกลงในการสร้างกาเรียนรู้ของนักเรียนร่วมกัน
– ส่งเสริมการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ร่วมกันด้วยการแบ่งปันทรัพยากรที่มี ประสานการวางแผนและปรับปรุงพัฒนาแผนร่วมกัน และมีการส่งต่อการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
จากลักษณะของชุมชนแห่งการเรียนรู้ดังกล่าว เราสามารถเรียนรู้จากนิวซีแลนด์ผ่านคำแนะนำของอาจารย์ Camilla Highfield ด้วยกระบวนการสืบสอบแบบร่วมมือ ใน Collaborative Inquiry Model ใน 4 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 ระบุกรอบปัญหา – พัฒนาการสืบสอบความเชื่อมโยงระหว่างการปฏิบัติในการจัดกาเรียนรู้กับผลลัพธ์ของนักเรียน แล้วสร้างเป็นทฤษฎีความรู้ในการทำงาน
ระยะที่ 2 เก็บข้อมูลหลักฐาน – พัฒนาการสร้างความเข้าใจร่วมกัน หาความรู้เพิ่มเติม และระบุลักษณะของข้อมูลหลักฐานที่ต้องการเก็บข้อมูล รวมทั้งวิธีการเก็บข้อมูล
ระยะที่ 3 วิเคราะห์ข้อมูลหลักฐาน – วิเคราะห์ชุดข้อมูลหลักฐาน รูปแบบและแนวคิด กำหนดข้อสรุป กลั่นกรองความคิด ทบทวนทฤษฎีความรู้ในการทำงาน
ระยะที่ 4 จัดทำข้อมูลเอกสาร แบ่งปันข้อมูล และ เผยแพร่ – แบ่งปันสิ่งใหม่ที่ได้เรียนรู้และเป้าหมายในอนาคต โดยระบุความต้องการในการเรียนรู้อื่นๆ ของนักเรียน และให้ข้อเสนอแนะ
จากการทำงานร่วมกันในชุมชนแห่งการเรียนรู้ของนิวซีแลนด์ ทุกคนต่างเห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ที่เป็นสาเหตุสำคัญในการพัฒนานักเรียนในแต่ละบุคคล ผู้คนในชุมชนแห่งการเรียนรู้จึงเห็นความสำคัญในการร่วมมือกันของกลุ่มเพื่อนคู่คิดที่ให้การวิเคราะห์ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนข้อมูลหลักฐานที่ช่วยให้ครูแต่ละคนทบทวนการจัดการเรียนรู้สู่การพัฒนานักเรียนเป็นรายบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
เป้าหมายต่อไปของนิวซีแลนด์ คือ การพัฒนารูปแบบใหม่ในการส่งเสริมภาวะผู้นำทางการศึกษา การมุ่งพัฒนาผลลัพธ์ทางการศึกษาและทางสังคมของนักเรียนแต่ละคน การสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงระหว่างพัฒนาการแต่ละช่วงวัยจากศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน สู่อุดมศึกษา ร่วมทั้งการพัฒนาความร่วมมือและการแบ่งปันทรัพยากรข้อมูลและความรู้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
สิ่งสำคัญที่สุดในการเรียนรู้จาก “พลังแห่งความร่วมมือรวมพลังของครูในชุมชนแห่งการเรียนรู้นิวซีแลนด์” คือ ครู นักการศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้อง จะนำความรู้ไปใช้กับการจัดการศึกษาไทยได้อย่างไร เพราะนี่เป็นโอกาสสำคัญที่เราจะเห็นแนวทางในการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่เข้มแข็งและยั่งยืนในแบบของเราเอง