Video

EDUCA Cafe Podcast: บทเรียนสู้ COVID-19 จากนิวซีแลนด์ และสิงคโปร์

 4 years ago 4171

EDUCA Podcast พาไปฟังการจัดการเรียนรู้ เตรียมความพร้อมของประเทศนิวซีแลนด์ และสิงคโปร์ ที่นิวซีแลนด์มีความพร้อมเรื่องเทคโนโลยี ในการสอนออนไลน์ค่อนข้างสูง กระทรวงศึกษาธิการของนิวซีแลนด์ ช่วยรวบรวมสื่อที่ใช้เรียนทางไกลให้ทันสมัย และทำเพิ่มขึ้น ส่วนประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง อย่างสิงคโปร์ที่กำลังจะเปิดภาคการศึกษาอีกครั้ง ได้มีการใช้ Platform การเรียนรู้ออนไลน์ที่ชื่อ SLS ที่เปิดใช้งานตั้งแต่ 2018 มาใช้โดยมีเนื้อหา สื่อการเรียนสอนสำหรับเด็กประถมฯ จนถึงมหาวิทยาลัย รวมทั้งตัวอย่างของเวียดนาม และเนเธอร์แลนด์ ที่ใช้จัดการเรียนการสอนในรูปแบบอื่นๆ

Script

สวัสดีค่ะ ยินดีต้อนรับครูผู้ฟังทุกท่าน เข้าสู่ EDUCA CAFÉ PODCAST คุยกันตามภาษา COOL...ครู กับดิฉัน นิภาพร กุลสมบูรณ์ หรือครูนิค่ะ จาก 2 ตอนที่ผ่านมา เราพูดถึงเรื่องการปรับตัวในเรื่องของการจัดการเรียนการสอนของครูจีน และครูที่สหรัฐอเมริกาและแคนาดาไปแล้วนะคะ ทีนี้เราจะมาดูครูที่นิวซีแลนด์ และครูที่ประเทศใกล้ๆ อย่างสิงคโปร์ว่า คุณครูเขาปรับตัวอย่างไรบ้างค่ะ

เริ่มกันที่นิวซีแลนด์ก่อนเลยนะคะ นิวซีแลนด์มีความพร้อมในเรื่องเทคโนโลยี ที่นิวซีแลนด์มีการเปิดเว็บไซต์เพื่อช่วยเหลือคุณครูและผู้ปกครองในเรื่องการจัดการเรียนการสอนแบบทางไกลค่ะ และนิวซีแลนด์มีการขยายเวลาที่จะปิดโรงเรียนที่เริ่มต้นตั้งแต่ 30 มีนาคม ตอนนี้บางโรงเรียนมีการขยายออกไปถึง 14 เมษายนแล้วนะคะ เพื่อที่ครูเองจะได้มีเวลาในการเตรียมตัว และก็เตรียมความพร้อมสำหรับการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ขึ้นมา กระทรวงศึกษาธิการก็ได้มีการเปิดเว็บไซต์ขึ้นมา 2 เว็บไซต์ และหนึ่งในนั้นมีชื่อว่า Learning from Home ซึ่งมีแหล่งข้อมูลมากมายสำหรับผู้ปกครอง คุณครู และผู้บริหารโรงเรียน ตั้งแต่ระดับอนุบาล จนถึงมัธยมศึกษาตอนปลายที่เข้าไปดูได้นะคะ อันนี้จะช่วยในการสนับสนุนการเรียนการสอนแบบทางไกล และก็จะมีการ update สื่อการเรียนรู้ใหม่ๆ ในเว็บไซต์ทุกๆ สัปดาห์ค่ะ กระทรวงศึกษาธิการของนิวซีแลนด์เองมีการประเมินการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของนักเรียนนิวซีแลนด์ และก็พยายามจะเข้าไปช่วยเหลือเด็กๆ ที่ขาดโอกาสจำนวนมากนะคะ และสำหรับโรงเรียน นักเรียนที่ไม่มีอุปกรณ์ ถ้าอินเทอร์เน็ตไม่มีความเสถียรพอก็จะได้รับสื่อการเรียนการสอนในรูปของเอกสาร หรือว่าคู่มือแทน โรงเรียนจะสื่อสารกับผู้ปกครองด้วยเพื่อให้สนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียน และให้ติดต่อกับโรงเรียนหรือคุณครูเพื่อที่จะขอรับความช่วยเหลือ และก็ช่วยเด็กๆ อย่างต่อเนื่อง

ข้ามมาดูที่สิงคโปร์ค่ะ ประเทศเล็กๆ ที่อยู่ใกล้กับเรา และก็เป็นประเทศชั้นนำทางด้านการศึกษาด้วย สิงคโปร์นะคะ ในสัปดาห์นี้สิงคโปร์จะมีการเปิดการเรียนการสอนอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่พ้นช่วงเวลาปิด 2 สัปดาห์จากวิกฤตโควิด และสิงคโปร์เปิดให้มีตัวเลือกในการจัดการเรียนการสอนค่ะ นักเรียนที่อาจจะยังไม่พร้อม มีอาการป่วย หรืออยู่ในช่วงกักตัว หรือมีความจำเป็นต้องลา ก็สามารถเรียนรู้จากที่บ้านได้ โดยจะต้องติดต่อสื่อสารกับคุณครู และก็เพื่อนร่วมชั้นเรียนผ่าน platform ที่ชื่อว่า SLS ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการก็เปิดให้ใช้งานมาตั้งแต่ปี 2018 แล้วค่ะ SLS นี่มีชื่อเต็มๆ ว่า Student Learning Space เป็น platform การเรียนรู้ออนไลน์ ซึ่งรวบรวมสื่อการเรียนการสอน แหล่งข้อมูลมากมาย และเป็นไปอย่างสอดคล้องกับหลักสูตรที่มีคุณภาพสูงของสิงคโปร์ ใช้ได้ตั้งแต่เด็กก่อนประถมศึกษา จนถึงเข้ามหาวิทยาลัยเลยนะคะ นอกจากนี้ตัว platform SLS ยังเปิดโอกาสให้คุณครูเข้าไปเลือกเครื่องมือ สื่อการเรียนการสอน สร้างแบบฝึกหัดเอามาแชร์กัน หรือสร้างการบ้านออนไลน์ให้กับนักเรียนได้ด้วย รวมถึงการประชุมทางไกลกับเพื่อนครูด้วยกัน หรือว่านักเรียนได้ด้วยค่ะ

นั่นคือความเคลื่อนไหวของ 2 ประเทศหลักๆ นะคะ นอกจากนี้ นิยังมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากอีก 2 ประเทศก็คือ เวียดนาม และเนเธอร์แลนด์ เวียดนาม โรงเรียนนานาชาติในเวียดนามค่ะ มีการจัดการศึกษาให้เด็กปฐมวัย หรือเรียกว่าโรงเรียนอนุบาลที่เป็นนานาชาติของเวียดนามนี่ในช่วงวิกฤตนี้อย่างไร โรงเรียนที่เวียดนามเขาส่งอุปกรณ์งานฝีมือไปตามบ้านของเด็กๆ และในกล่องนั้นจะมีสื่อในการช่วยส่งเสริมพัฒนาการ คู่มือการจัดกิจกรรม ตารางการจัดกิจกรรม เพื่อช่วยให้ผู้ปกครองสามารถที่จะทำกิจกรรมกับนักเรียนได้ สื่อในนั้นมีอะไรบ้าง ก็เช่น แป้งโด ขนนก ลูกประคำ กาวแท่ง การ์ดเกมต่างๆ ให้เด็กๆ ทำกิจกรรมที่เรียกว่า hands on หรือว่าทำด้วยมือกับผู้ปกครองได้ ซึ่งเหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กๆ ปฐมวัยนะคะ และพบว่าเด็กๆ ชื่นชอบมากเลยนะคะกับการมีส่วนร่วมในการทำอุปกรณ์การฝีมือเหล่านั้นมากกว่าที่จะเรียนรู้ผ่านวิดีโอ ซึ่งก็สอดคล้องกับเด็กเล็กๆ นะคะที่จะมีธรรมชาติอย่างนั้น

และสำหรับที่เนเธอร์แลนด์ สิ่งที่สำคัญคือสมาคมผู้ปกครอง และเครือข่ายโรงเรียนให้ความสำคัญในเรื่องการสอนออนไลน์และเว็บไซต์ คือโดยทั่วไปโรงเรียนจะใช้การสอนออนไลน์และเว็บไซต์ อย่างไรก็ตาม สำหรับเด็กๆ ที่จะมีปัญหา สมาคมจะให้ความช่วยเหลือในเรื่องการใช้โทรศัพท์ การส่ง SMS และการใช้เอกสารคู่มือต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเด็กที่อาจจะไม่เข้าถึงสื่ออุปกรณ์และก็อินเทอร์เน็ตค่ะ ซึ่งนับว่าเป็นการวางแผนที่ระมัดระวังมาก

สรุปประเด็น Key takeaway จาก 2 ประเทศหลักคือ นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากเวียดนาม และเนเธอร์แลนด์ มี 3 เรื่องคือ หนึ่ง สื่อที่เราใช้ต้องทันสมัย แต่ต้องคำนึงถึงความพร้อมและวัยของเด็กๆ อย่าลืมสื่อที่เป็น hardcopy เอกสาร และสื่อที่อาจจะดูโบร่ำโบราณ แต่ก็อาจจะช่วยเด็กๆ ที่อาจจะขาดแคลนโอกาสได้เรียนรู้ได้เหมือนกัน สอง platform ที่รวบรวมความรู้ต่างๆ และ update อยู่เสมอเพื่อจะช่วยครูและผู้ปกครองเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันในการที่จะช่วยเหลือเด็กๆ และ สาม การมีเครือข่ายที่สำคัญ ทั้งกับกลุ่มครู ผู้ปกครอง และผู้บริหาร และเครือข่ายโรงเรียนด้วย

ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างของประเทศต่างๆ ที่เรียนรู้สู่โควิดไปพร้อมๆ กับพวกเรา พวกเขามีเวลาเตรียมตัวน้อยกว่าเราค่ะ สำหรับเราแล้วคุณครู ผู้บริหาร และนักการศึกษา ตลอดจนกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐของเรายังมีเวลาที่จะปรับใช้ และเลือกรูปแบบที่เหมาะกับบริบทของตัวเอง เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญนะคะ และเราคงจะร่วมฝ่าฟันโดยใช้บทเรียนของต่างประเทศ เพื่อที่จำพร้อมรับการเปิดเทอมใหม่ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดค่ะ

ท้ายนี้ นิมีกิจกรรมนะคะ ชื่อว่า “โควิดหยุดการเรียนรู้ของครูไม่ได้” ครูท่านไหนนะคะมีไอเดียดีๆ เกี่ยวกับการสอน การทำแบบฝึกหัด การใช้สื่อต่างๆ ในการสร้างการเรียนรู้ของเด็กๆ เราเพื่อที่จะฝ่าวิกฤตการณ์โควิด-19 ไปด้วยกัน ก็แชร์กันมาได้นะคะ นิมีของรางวัลให้ 5 ชุด เป็นหนังสือในโครงการหนังสือเพื่อครูจาก EDUCA ค่ะ เราจะคัดเลือกไอเดียที่น่าสนใจและมาแชร์ออกอากาศผ่าน podcast กันต่อนะคะ และกลับมาพบกับ EDUCA CAFÉ PODCAST คุยกันภาษาครู cool ได้ใหม่นะคะ ในโอกาสต่อไปค่ะ และท่านที่สนใจอย่าลืมติดตาม กดไลก์ กดแชร์ เพจของ EDUCA ที่ www.educathai.com เรามีเฟซบุ๊กและก็ไลน์ด้วยนะคะ และมา update ความรู้ทั่วโลก และความรู้ที่น่าสนใจ สำหรับวันนี้ สวัสดีค่ะ


TAG: #EDUCAPodcast #การจัดการเรียนรู้ #โควิด19 #Covid19 #โรคระบาดใหญ่ #สอนออนไลน์ #การจัดการเรียนการสอนต่างประเทศ #การจัดการเรียนการสอนออนไลน์