Knowledge
You are what you think ทำไมคนที่มีความสามารถใกล้เคียงกัน ถึงประสบความสำเร็จต่างกัน
5 years ago 4992You are what you eat กินอย่างไรได้อย่างนั้น ดูจะเป็นคำกล่าวที่ใช้ได้จริงเสมอ แต่เชื่อไหม ไม่ใช่แค่สิ่งที่เราเลือกหยิบเข้าปากจะเป็นตัวกำหนดว่า สุขภาพหรือชีวิตของเราจะเป็นอย่างไรเท่านั้น แต่สิ่งที่เราคิดหรือเชื่อ ก็มีผลต่อชีวิตของเราไม่ต่างกัน ถึงขั้นบอกได้เลยว่า คนคนนั้นมีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จในอนาคตมากแค่ไหน
You are what you think คิดอย่างไรได้อย่างนั้น
ในเมื่อใครๆ ก็อยากประสบความสำเร็จในอนาคตกันทั้งนั้น แล้วความคิด หรือ Mindset แบบไหนที่นำเราไปสู่ความสำเร็จได้ ก่อนอื่นต้องรู้ว่า เราเป็นคนมี Mindset แบบไหน ระหว่าง Fixed Mindset หรือ Growth Mindset
หากเราเชื่อว่าสติปัญญา ความสามารถ เกิดมามีเท่าไรก็มีเท่านั้น เปลี่ยนแปลงไม่ได้ คนเราเก่งได้เพราะพรสวรรค์ แสดงว่าเราเป็นคนที่มี Fixed Mindset แต่หากเราเชื่อในการเรียนรู้ และพัฒนาให้ดีขึ้น ให้คุณค่ากับความตั้งใจและความพยายาม แสดงว่าเรามี Growth Mindset คุณสมบัติสำคัญที่ทำให้คนเราประสบความสำเร็จแตกต่างกัน
มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งในชิลี ทดสอบเด็ก ป.5 พบว่า เด็กที่มี Growth Mindset กับ Fixed Mindset จะมีคะแนนต่างกันในทุกระดับรายได้ของครอบครัว ครอบครัวที่ยากจนจะพบเด็กที่มี Growth Mindset น้อย ยิ่งยากจนมาก ความต่างคะแนนของเด็กก็ยิ่งมากตาม ที่น่าสนใจคือ หากเด็กกลุ่มนี้มี Growth Mindset เมื่อไร เด็กจะทำคะแนนได้ดีกว่าเด็กบ้านรวยที่มี Fixed Mindset เสียอีก
ทำไมเด็กๆ ถึงควรมี Growth Mindset
เราทุกคนล้วนมีทั้ง Fixed Mindset และ Growth Mindset ในคนเดียวกัน บางเรื่องเราอาจคิดแบบ Fixed Mindset บางเรื่องก็เป็น Growth Mindset เมื่อกาลเวลาเปลี่ยน เรื่องที่เคยคิดแบบ Fixed Mindset ก็กลับเปลี่ยนเป็น Growth Mindset ได้เช่นเดียวกัน สำหรับเด็กๆ แล้ว การมี Growth Mindset นั้นดีทั้งต่อเด็กเรียนเก่งและเรียนอ่อน โดยเฉพาะที่เด็กเรียนอ่อน พบว่าคะแนนจะยิ่งดีขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเรียนจบมากขึ้นด้วย
Growth Mindset ของเด็ก เริ่มต้นมาจากไหน
ครอบครัวคือรากฐานของทุกสิ่ง การเลี้ยงดูของพ่อแม่นี่เองที่หล่อหลอมเด็กให้มี Growth Mindset ต่างกัน หากพ่อแม่ชมลูกบ่อยๆ ตอนยังเด็ก เราทายได้เลยว่า อีก 5 ปีถัดมา เด็กกลุ่มนี้จะมีทัศนคติอย่างไรเมื่อเจอปัญหายากๆ
มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งสำรวจเด็กอายุ 9-12 ปี ที่พ่อแม่ชม “ความฉลาด” กับ “ความพยายาม” ของลูก พบว่า เด็กที่พ่อแม่ชมความฉลาดจะหลีกเลี่ยงปัญหาที่ท้าทายมากกว่าเด็กที่พ่อแม่ชมความพยายาม วิธีการทดลองคือ ให้เด็กทำข้อสอบ โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกชมความฉลาด กลุ่มสองชมความพยายาม ในการทำข้อสอบครั้งแรกนี้ เด็กทุกคนจะได้ทำข้อสอบชุดเดียวกัน
เมื่อทดสอบครั้งที่ 2 จะให้เด็ก 2 กลุ่ม เลือกข้อสอบได้เอง ซึ่งมีทั้งง่ายและยาก พบว่าเด็กที่ชมความฉลาดจะเลือกทำข้อสอบที่ง่าย และมักจะเปรียบเทียบตัวเองกับเด็กคนอื่น ตรงข้ามกับเด็กที่ชมความพยายามกลับเลือกทำข้อสอบที่ยาก เด็กจะโฟกัสที่ตัวเอง ผลสุดท้ายคะแนนของเด็ก 2 กลุ่ม ก็เป็นไปตามที่คาด เด็กที่ชมความฉลาดมีคะแนนลดลง ส่วนเด็กที่ชมความพยายามคะแนนกลับสูงขึ้น
ทำไมแค่ชมต่างกัน ผลลัพธ์ที่เกิดกับเด็กถึงต่างกัน
จากการทดสอบเห็นได้ชัดเจนว่า พ่อแม่ที่ชมความพยายามของลูก โดยไม่เน้นที่ผลลัพธ์ว่าจะต้องตอบถูก ผลงานออกมาดี คือพ่อแม่ที่สร้าง Growth Mindset ที่ดีให้ลูก เพราะเมื่อไรที่พ่อแม่ชมว่าลูกฉลาด จะทำให้เด็กเข้าใจว่า คนฉลาดคือ คนที่ประสบความสำเร็จ แต่เมื่อไรที่พ่อแม่ชมความพยายาม ลูกจะค่อยๆ บ่มเพาะทัศนคติว่า เพราะความพยายามนี่แหละ เราถึงประสบความสำเร็จได้
บ่มเพาะ Growth Mindset ต้องเริ่มที่ตัวเอง
- เชื่อมั่นว่าทุกคนเรียนรู้และพัฒนาให้ดีขึ้นได้
- เมื่อไรที่เกิด Fixed Mindset ก็ไม่เป็นไร แค่รู้ตัว พยายามฝึกใช้มุมมองแบบ Growth Mindset มากขึ้น
เมื่อเราพัฒนาตัวเองให้มี Growth Mindset แล้ว ในฐานะครูและพ่อแม่ จะช่วยสร้าง Growth Mindset ให้เด็กๆ ได้อย่างไร
- เชื่อว่าตัวเรา คือแบบอย่างที่ดีที่สุดของการสร้าง Growth Mindset ให้เด็กๆ
- สอนให้เด็กรู้จักตั้งเป้าหมาย คนที่มีเป้าหมายจะประสบความสำเร็จกว่าคนที่ไม่มีเป้าหมาย 10 เท่า คนที่มีเป้าหมายและเขียนออกมาชัดเจน จะประสบความสำเร็จกว่าคนที่ไม่มีเป้าหมาย 30 เท่า
- ให้ผลตอบรับ เพื่อการพัฒนา
อาจจะดูเป็นเรื่องยากในการปรับเปลี่ยนความคิดจาก Fixed Mindset เป็น Growth Mindset แต่เราอาจนึกไม่ถึงว่าครั้งหนึ่ง เราทุกคนล้วนมี Growth Mindset เต็มเปี่ยม เมื่อยังเป็นทารกที่ยังเดินไม่ได้ เดินเมื่อไรก็ล้มตลอด แต่ล้มแล้วก็ลุกขึ้นมาใหม่ได้เสมอ เด็กทุกคนเกิดมามีความอยากรู้อยากเรียน พยายามไม่ย่อท้อ เราต้องไม่ลืมหล่อเลี้ยง Growth Mindset ในตัวเด็กคนนั้นให้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในตัวเรา
The Power of Growth Mindset for Learning Community
ทญ.สุภาพร เจริญเศรษฐศิลป์ และ ปาณิสสร์นันท์ อภิภัทรกิตติ มูลนิธิเด็กดี งาน EDUCA 2019
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ