Knowledge

5 ขั้นตอน สำหรับครูและผู้ปกครอง รับมือเด็กหัวร้อน คุมอารมณ์ไม่อยู่ ด้วยการชี้ทางควบคุมอารมณ์ (Emotion Coaching)

5 ขั้นตอน สำหรับครูและผู้ปกครอง รับมือเด็กหัวร้อน คุมอารมณ์ไม่อยู่ ด้วยการชี้ทางควบคุมอารมณ์ (Emotion Coaching)

 4 years ago 39996

เรียบเรียงโดย ประเสริฐ ตันสกุล
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

          การชี้ทางควบคุมอารมณ์ (Emotion Coaching) คือ การช่วยให้เด็กรู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง สามารถควบคุมความรู้สึก โดยเฉพาะสถานการณ์ที่ “ทำไม่ถูกต้อง” ช่วยให้เด็กสร้างพฤติกรรมการเรียนรู้ในเชิงบวก และมีความมั่นใจในการปรับลดความรุนแรงของสถานการณ์ลงในกรณีที่ถูกยั่วยุ

          การชี้ทางควบคุมอารมณ์จึงเป็นการช่วยเหลือสนับสนุนเด็กๆ ให้เรียนรู้ ทำการควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมตัวเองให้ได้ มากกว่าจะเป็นการ “ชี้แนะ” ตามความหมายปกติที่เข้าใจกัน ในการชี้ทางควบคุมอารมณ์นี้ไม่จำเป็น และไม่สนับสนุนให้ครูใช้มาตรการทำโทษ หรือให้รางวัลเป็นเครื่องมือ เพื่อให้เด็กทำพฤติกรรมที่เหมาะสมใดๆ เลย แต่การกำกับอารมณ์จะเกี่ยวข้องกับสิ่งต่อไปนี้

  • การสอนให้เด็กรู้จักโลกของอารมณ์ “ชั่ววูบ”
  • การแสดงให้เด็กได้เห็นวิธีควบคุมความแปรปรวนขึ้นลงของอารมณ์
  • การสอนให้เด็กรู้จักเห็นใจ และยอมรับว่าอารมณ์ทางลบและไม่น่ารักนั้นเป็นเรื่องปกติ แต่ไม่ได้ให้ยอมรับพฤติกรรมทางลบ
  • การนำโอกาสช่วงที่เกิดพฤติกรรมที่เป็นปัญหามาใช้สอนเด็กๆ
  • การสร้างความสัมพันธ์ที่ดี เชื่อถือและไว้วางใจกันกับเด็กๆ

          Dr. John Gottman ได้กล่าวว่า การชี้ทางควบคุมอารมณ์ มี 5 ขั้นตอน ที่ครูและผู้ปกครองที่มีความสำคัญกับชีวิตเด็กสามารถทำได้ คือ

  1. ปรับคลื่นให้ตรงกัน (Tune in)
    สังเกต ตรวจสอบอารมณ์ของเราและของเด็กในขณะนั้น ให้แน่ใจว่า ตัวเราใจเย็นพอที่จะชี้ทางควบคุมอารมณ์ให้เด็ก ถ้ายังไม่แน่ใจ อาจให้เวลาสักอึดใจหนึ่งสำหรับทั้งสองฝ่ายได้ตั้งสติ
  2. ทำการเชื่อมต่อ (Connect)
    ใช้สถานการณ์เป็นโอกาสให้เราได้ฝึกหัดและเด็กได้เรียนรู้ ระบุให้แน่ชัดว่าเด็กกำลังมีอารมณ์อะไรอยู่ จะได้ช่วยให้เขาโยงอารมณ์ขณะนั้นเข้ากับพฤติกรรมที่แสดงออกได้
  3. รับรู้และรับฟัง (Accept and Listen)
    เป็นการแสดงความเห็นใจ เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ของเด็ก นึกถึงสถานการณ์ที่ตัวเรามีอารมณ์แบบเดียวกัน และนึกทบทวนว่าตอนนั้นความรู้สึกเป็นอย่างไร
  4. แสดงความคิดเห็น (Reflect)
    เมื่อทุกคนเย็นลงแล้ว ให้ย้อนกลับไปดูว่าเด็กพูดหรือทำอะไรลงไป ให้พูดเฉพาะที่เห็นกับตา ได้ยินกับหู หรือตามสถานการณ์ที่เราเข้าใจ แล้วแสดงความคิดเห็นว่าเกิดอะไรขึ้น และเกิดขึ้นเพราะเหตุใด
  5. สรุปด้วยการแก้ปัญหา/ ทางเลือก/ กำหนดขอบเขต (End with Problem Solving/ Choices/ Setting Limits)
    เมื่อสบโอกาสให้พยายามยุติสถานการณ์ด้วยการแนะนำ หรือเข้าช่วย หรือชักนำให้เด็กเข้าร่วมในการแก้ปัญหา

 


TAG: #EF #Emotion Coaching #จิตวิทยาแนะแนว #จิตวิทยา #รู้เท่าทันอารมณ์