Knowledge

Gaslight กับการศึกษา | ตอนที่ 1 คุณครูกำลังเป็น Gaslighter โดยที่ไม่รู้ตัวอยู่หรือเปล่า

Gaslight กับการศึกษา | ตอนที่ 1 คุณครูกำลังเป็น Gaslighter โดยที่ไม่รู้ตัวอยู่หรือเปล่า

 11 months ago 1748

วรเชษฐ แซ่เจีย

          จากข้อมูลของคณะจิตวิทยา จุฬาฯ ได้นำเสนอนิยามของคำคำนี้ไว้ว่าเป็นเทคนิคการควบคุมทางจิตใจ (psychological manipulation) รูปแบบหนึ่งผ่านการค่อย ๆ ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในความสามารถ-ความทรงจำ-การรับรู้ นำไปสู่การขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ผ่านการสื่อสารที่ดูเผิน ๆ จะไม่มีอะไรแฝงอยู่ แถมยังดูหวังดีด้วยซ้ำ ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นได้ในความสัมพันธ์รูปแบบต่าง ๆ ทั้งที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างคู่รัก คนในครอบครัว คนรัก เพื่อนฝูง หรือแม้แต่ในที่ทำงาน แน่นอนว่าในห้องเรียนก็เช่นเดียวกัน

คุณครูเคยใช้คำพูดเหล่านี้บ้างไหม


“โจทย์ข้อนี้ครูไม่เห็นจะมองว่ามันยากขนาดนั้นเลย ทำแค่นี้ก็แก้ได้แล้ว นักเรียนคิดมากไปเองหรือเปล่า?”
“ครูไม่รู้หรอกนะว่าเธอนำเสนออะไรมา แต่ครูรู้ว่าเธอน่ะรู้ไม่จริง เดี๋ยวครูจะบอกให้ว่าจริง ๆ มันเป็นยังไง”
“เพราะนักเรียนทำตัวแบบนั้น ครูเลยต้องเป็นคนมาโมโหพวกเธอแบบนี้ไง”
“ที่ครูคอยจ้ำจี้จำไชพูดอยู่แบบนี้ ก็เพราะว่าครูเป็นห่วงพวกเธอนะ ไม่เชื่อใจกันเลยใช่ไหม”
“ทำไมเธอไม่อดทนเลย เพื่อนคนอื่นในห้องเขายังทนได้เลย”
“ครูว่าพวกเธอใช้เวลามานานมากพอแล้ว นักเรียนหยุดทำได้แล้ว เดี๋ยวครูเฉลยให้เลย”

          ข้อความเหล่านี้หากเรานักเรียนที่เป็นฝ่ายรับฟัง แม้เราอยากจะปฏิเสธและโต้แย้งแค่ไหน แต่ก็ไม่สามารถตอบกลับได้ในทันทีว่าผู้พูดโกหก และนั่นทำให้นักเรียนเลือกที่จะเชื่อและยอมรับไปแทนว่าเป็นเรื่องจริง หรือตนเป็นฝ่ายผิดจริง เพราะนักเรียนย่อมได้รับการปลูกฝังทั้งในพื้นที่ครอบครัวและสังคมว่าจะต้องเคารพผู้ใหญ่ คำพูดของครูในโรงเรียนย่อมมีน้ำหนักให้รับฟังมากกว่าเสียงในใจของตนเอง ฉะนั้นนักเรียนจึงเลือกที่จะเงียบ ปล่อยสิ่งที่เกิดขึ้นให้เป็นเรื่องที่ผ่านเลยไป ตนจะได้ไม่ดูก้าวร้าวมากไปกว่านี้

          ซ้ำร้ายกว่านั้นหากไม่มีใครทัดทาน หรือหยุดวงจรนี้ คุณครูที่พูดข้อความเหล่านี้ซ้ำ ๆ ก็จะบั่นทอนความมั่นใจในตนเองและส่งผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียนไปเรื่อย ๆ หากพื้นที่ในห้องเรียนยังไม่เป็นพื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้ คำพูดของคนเป็นครูจึงอาจเป็นได้ทั้งกำแพงที่ปิดกั้นโอกาสในการเรียนรู้และเติบโต ในขณะเดียวกันก็เป็นอุโมงค์ที่ช่วยนำทางให้ก้าวข้ามผ่านอุปสรรคเหล่านั้นไปได้ในที่สุด

บางสถานการณ์ที่ครูอาจ gaslight โดยไม่รู้ตัว

เมื่อนักเรียนทำพลาด…

          ในบางครั้งครูมักใช้คำที่ระบุคุณลักษณะของนักเรียนที่เป็นการแปะป้ายหรือวิจารณ์เมื่อนักเรียนทำผิดพลาด เช่น เธอช่างไร้ความรับผิดชอบ เธอช่างไม่รู้อะไรเลย เธอไม่ตั้งใจเรียน คำเหล่านี้เป็นการผลักความผิดพลาดให้อยู่กับเด็กแต่เพียงฝ่ายเดียว ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่ใช่เช่นนั้น เพราะครูและผู้ใหญ่รอบตัวต่างมีส่วนช่วยให้นักเรียนมีความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น รอบรู้ และขยันขึ้นได้ ดังนั้น หากอยากให้นักเรียนพัฒนาตนเองไม่ว่าจะในกรณีใด ควรใช้ข้อความที่ส่งเสริมกำลังใจและให้ความมั่นใจว่ามีผู้ใหญ่รอบตัวที่พร้อมสนับสนุนเขาอย่างจริงใจด้วย

ตำหนิโดยไม่มีหลักฐาน และไม่ช่วยให้เกิดการพัฒนา…

          การสื่อสารระหว่างนักเรียนกับคุณครูที่มาในรูปแบบของการแปะป้ายมักไม่ระบุรายละเอียดหรือบอกให้ชัดถึงที่มาของข้อความดังกล่าว เช่น ข้อความ "เธอไม่ตั้งใจเรียนเลยนะ" มักถูกพูดแบบลอย ๆ โดยไม่บอกว่าอะไรทำให้ครูตัดสินใจพูดแบบนั้นออกมา ทำให้ผู้ฟังก็ตั้งตัวไม่ถูกว่าจะอธิบายหรือหักล้างความเข้าใจผิดนั้นอย่างไร รวมไปถึงไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรจึงจะปรับปรุงตัวให้ดีขึ้นได้ ฉะนั้น หากต้องการให้นักเรียนปรับปรุงหรือพัฒนาตนเอง จึงควรเตรียมหลักฐานที่จะสนับสนุนคำพูดของตน รวมถึงสร้างแรงผลักดันเชิงบวกให้นักเรียนรู้สึกมั่นใจและพัฒนาตนเองต่อไปได้

เลือกปฏิบัติจนเป็นปกติ…

          ในบางครั้ง ครูอาจแสดงออกต่อนักเรียนแตกต่างกันไปตามสถานการณ์หรือตัวบุคคล เช่น เมื่อนักเรียนคนหนึ่งที่เก่งมีปัญหาเรื่องการทำงาน คุณครูก็เลือกช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด แต่เมื่อนักเรียนอีกคนที่อาจไม่โดดเด่นเท่าเกิดปัญหาในลักษณะเดียวกัน บรรยากาศในชั้นเรียนอาจเปลี่ยนไป เพราะคุณครูอาจแสดงออกต่อนักเรียนอีกคนด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน โดยอาจมาในรูปของอารมณ์ทางลบ และไม่ช่วยแก้ไขและผลักให้ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากความไม่พร้อมของนักเรียนเอง เหล่านี้ย่อมทำให้นักเรียนเกิดความสับสน และรู้สึกว่าเป็นเพราะตนเองไม่เก่งพอจึงถูกเลือกปฏิบัติ ฉะนั้น การปรับรูปแบบการสื่อสารเพื่อนำสู่การแก้ปัญหาที่ชวนสับสนให้ไปสู่การเรียนรู้ร่วมกันของนักเรียนคงจะเป็นทางออกที่ดีกว่า

แหล่งข้อมูล
บุณยาพร อนะมาน. (2565, 23 มีนาคม). Gaslighting…ผิดจริงหรือแค่ทริคทางจิตใจ?. คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/gaslighting

Fraser, J. (2023, January 11). How adults gaslight children. Psychology Today. https://www.psychologytoday.com/us/blog/the-bullied-brain/202301/when-adults-gaslight-children


TAG: #ควบคุมทางจิตใจ #จิตวิทยาแนะแนว #จิตวิทยาการเรียนรู้ #จิตวิทยา #Gaslight #Gaslighting #psychological manipulation