Knowledge

Gaslight กับการศึกษา | ตอนที่ 2 ครูในฐานะผู้ถูก Gaslighted ตลอดมา ผ่านคำว่าเริ่มแก้ที่ตัวเอง

Gaslight กับการศึกษา | ตอนที่ 2 ครูในฐานะผู้ถูก Gaslighted ตลอดมา ผ่านคำว่าเริ่มแก้ที่ตัวเอง

 3 months ago 1252

วรเชษฐ แซ่เจีย

          ครูในฐานะผู้ใหญ่มักถูกมองว่าดูแลตัวเองได้แล้ว เมื่อประสบกับปัญหาชีวิตจะไปปรึกษากับใครก็ไม่ค่อยได้รับความช่วยเหลือ จึงไม่แปลกหากหนังสือแนว self-help หรือ self-care ต่างขายดิบขายดี หรือการแชร์โควตเสริมกำลังใจที่มักจะเป็นกระแสในโลกโซเชียล เพราะไม่ว่าจะประกอบอาชีพไหน การดูแลตัวเองก็ถูกกำหนดมาให้เป็นสิ่งที่ต้องทำก่อน และกลายเป็นสิ่งที่น่าเสียดายหากเรามัวแต่ดูแลใจตัวเองจนหลงลืมช่วยกันมองหาว่า อะไรเป็นเงื่อนไขและปัจจัยที่อยู่รายรอบสถานการณ์ชวนตึงเครียดหรือความท้าทายที่กำลังเผชิญอยู่

ครูเองก็ถูก gaslight ผ่านความคาดหวัง

          แม้คำว่า gaslight จะถูกมองในเชิงจิตวิทยาว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างคนที่เห็นกันตรงหน้าตัวเป็น ๆ แต่ในความเป็นจริงนั้นมีมิติทางสังคมเข้ามามีอิทธิพลด้วย ซึ่งอาจมาในรูปของความคาดหวังของสังคมจำนวนมาก กลายเป็นกรอบที่ต้องการให้ครูคิด-ปฏิบัติ-รู้สึก ซึ่งเกิดขึ้นมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา ไม่ว่าครูจะเหนื่อย เครียด ท้อแท้ หมดไฟ ฯลฯ ที่เกิดจากสถานการณ์บีบคั้นทั้งเรื่องงานสอน การดูแลนักเรียน อย่างไร ครูก็ไม่อาจจะปริปากบ่นได้เลย
          …ดังที่ Sweet (2019) กล่าวว่า gaslighting เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่ยิ่งส่งผลกระทบมาก เมื่ออยู่ใน "สังคมที่ความเหลื่อมล้ำสูง" ส่งผลให้ผู้ใช้มีอำนาจเหนือกว่าอีกฝ่าย
          แม้จะมีกรอบอยู่ แต่เมื่อมีเสียงเรียกร้องถึงความเห็นอกเห็นใจหรือส่งเสียงเรียกร้องจากทางฝั่งคุณครู ก็มักจะถูก gaslight ให้คุณครูเหล่านั้นสงสัยในความสามารถของตน มองว่าตน "เข้าใจผิด" และอื่น ๆ ตัวอย่างสถานการณ์ เช่น เมื่อคุณครูเรียกร้องให้ลดภาระงานนอกเหนือจากงานสอนลงบ้าง เงินเดือนไม่พอกับค่าครองชีพ หรือปัญหาบุคลากรไม่เพียงพอที่จะจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ ก็จะมีกระแสโต้กลับทันที

ข้อความบั่นทอนใจคนเป็นครูที่ควรหมดไป


"คนเป็นครูต้องอดทน ถ้าทนไม่ได้ก็ลาออกไปดีกว่า"
"คุณไม่มีจิตวิญญาณความเป็นครู"
"ถ้าหวังจะรวยอย่ามาเป็นครู เรื่องแค่นี้คุณก็รู้อยู่แล้วไม่ใช่เหรอ"
"ก็คุณเลือกมาเป็นครูเอง ถ้าไม่พอใจกับระบบการทำงานแบบนี้คุณจะมาเป็นครูทำไม"
"เรื่องนี้ก็ไม่เห็นจะเป็นปัญหาใหญ่อะไรขนาดนั้นเลย ครูก็เริ่มปรับที่ตัวเองก่อนสิ"

          เมื่อคุณครูได้รับฟังข้อความเหล่านี้ (และได้อ่านซ้ำ ๆ ต่อเนื่องในโลกโซเชียล) ก็คงหันมาสงสัยในเจตนาที่ออกมาเรียกร้อง ตั้งคำถามกับการกระทำของตนเอง หรืออาจถึงขั้นลดคุณค่าในตนเองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับตนเป็นเพราะอดทนไม่มากพอ ตั้งใจไม่มากพอ เห็นแก่ตัวมากเกินไป ฯลฯ แม้ว่าจะไม่อาจพิสูจน์ได้เลยก็ตามว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ แต่ก็ได้ยอมรับว่าตนเป็นฝ่ายผิดไปแล้ว

          แม้คุณครูเลือกที่จะลุกขึ้นมาเพื่อสาธยายถึงสาเหตุของปัญหาหรือออกมารวมตัวเพื่อเรียกร้อง ก็กลายเป็นว่าถูกมองว่าเป็นครูที่ก้าวร้าว หน่วยงานต้นสังกัดก็เพ่งเล็ง นำไปสู่การบีบบังคับให้ต้องหยุดเคลื่อนไหว รวมถึงมาตรการอีกสารพัดเพื่อให้ทุกอย่างอยู่ในความสงบเรียบร้อย และคนในสังคมไม่เข้าใจผิด "จากการสื่อสารที่ผิดพลาด" เหล่านี้นำไปสู่ปรากฏการณ์ครูหมดไฟและลาออกไป ซึ่งยิ่งกระทบกับบุคลากรที่ยังต้องปฏิบัติหน้าที่อยู่ เกิดเป็นวงจรแห่งวิกฤตที่ไม่สิ้นสุดเมื่อรวมกับความเหนื่อยล้าที่ถาโถม

ทางออกของเรื่องนี้ต้องเริ่มที่ตรงไหน?
          อ่านถึงตรงนี้ผู้อ่านคงคิดว่าไม่มีความหวังหลงเหลืออยู่เลยหรือ และบทความนี้ก็คงไม่อาจจบด้วยการกล่อมให้ครู “สู้ต่อไปนะ” ได้ เพราะหลากหลายปัญหาของการศึกษาไทยในปัจจุบันมีปัจจัยมาจากความเหลื่อมล้ำทางสังคม การบอกให้ครูแก้ที่ตัวเองจึงไม่อาจช่วยให้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่สั่งสมมานานนั้นให้หายไปได้ในชั่วพริบตา

          ในโลกแห่งความเป็นจริง ทางออกจากสถานการณ์ตรงหน้า คงต้องเริ่มที่หลีกเลี่ยงหรือหยุดรับสารเหล่านี้แทน และหันมาเชื่อมั่นในความสามารถของตนและเพื่อนร่วมวิชาชีพเพื่อรับมือกับสถานการณ์เป็นเบื้องต้น แต่ลำพังครูฝ่ายเดียวไม่อาจแก้ปัญหาที่ต้นตอได้ องค์ประกอบที่ขาดไม่ได้คือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับปัญหาเหล่านั้นที่ต้องลุกขึ้นมาแก้ไขให้ตรงจุด ป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก และไม่ทอดทิ้งคุณครูต้องดูแลใจตัวเองเพียงลำพังอีกต่อไป

แหล่งอ้างอิง
Dunn, A. H. (2023). Teacher self-care mandates as institutional gaslighting in a neoliberal system. Educational Researcher, 52(8), 491-499. https://doi.org/10.3102/0013189X231174804

Jotkoff, E. (2022, February 1). NEA survey: Massive staff shortages in schools leading to educator burnout; alarming number of educators indicating they plan to leave profession. National Education Association. https://www.nea.org/about-nea/media-center/press-releases/nea-survey-massive-staff-shortages-schools-leading-educator-burnout-alarming-number-educators

Lynch, M. (2021, June 13). The gaslighting of teachers, professors, and education administrators: The elephant in the room. The Edvocate. https://www.theedadvocate.org/the-gaslighting-of-teachers-professors-and-education-administrators-the-elephant-in-the-room/

Sweet, P. L. (2019). The sociology of gaslighting. American Sociological Review, 84(5), 851-875. https://doi.org/10.1177/0003122419874843

Tan, K., & Mahoney, J. (2022). Is self-care the answer? [Editorial]. Children and Schools, 44(3), 131-135. https://doi.org/10.1093/cs/cdac012


TAG: #ควบคุมทางจิตใจ #จิตวิทยาแนะแนว #จิตวิทยาการเรียนรู้ #จิตวิทยา #Gaslight #psychological manipulation #Gaslighting