Knowledge

“พื้นที่” + “เวลา” + “กิจกรรม” = “กิจวัตรประจำวัน” สร้างอิสระ และวินัยที่น่ามหัศจรรย์ให้เด็กๆ ชั้นอนุบาล

“พื้นที่” + “เวลา” + “กิจกรรม” = “กิจวัตรประจำวัน” สร้างอิสระ และวินัยที่น่ามหัศจรรย์ให้เด็กๆ ชั้นอนุบาล

 4 years ago 5566

ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

          มีคำถามให้ชวนขบคิด เราจะสร้างวินัยในเด็กเล็ก พร้อมปล่อยให้เขามีอิสระทางความคิด สร้างสรรค์จินตนาการไปพร้อมกันได้หรือไม่ EDUCA x TEACHERS as LEARNERS มีกิจกรรม การออกแบบแผนการเรียนการสอน บรรยากาศในห้องเรียน พร้อมคำแนะนำเล็กๆ น้อยๆ จากผู้เชี่ยวชาญด้านปฐมวัยของอังกฤษ สิ่งเหล่านี้จะช่วยฝึกให้เด็กเล็กมีอิสระทางความคิด พัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง และฝึกความมีวินัย ผ่านการกิจวัตรประจำวันของพวกเขา

          การออกแบบการเรียนรู้ กิจกรรมต่างๆ สำคัญที่ต้องหยุดฟังเด็กด้วย จดบันทึกไว้ เพื่อนำไปวางแผนจัดการเรียนการสอนต่อไป วางแผนไว้แค่ครึ่งหนึ่งของสิ่งที่ทำอยู่ แล้วให้เวลาเด็กทำกิจกรรมเป็น 2 เท่า ต้องมีแรงจูงใจและสนุกกับมัน

          ครูไทยมักกังวลเนื้อหา และจะต้องสอนให้จบแม้แต่เด็กอนุบาล แต่หลักสำคัญที่จะทำให้การสอน และการเรียนรู้ของเด็กเป็นไปด้วยดี คือ ครูต้องสร้างแรงจูงใจ และสนุกสนานไปกับการจัดการเรียนรู้ด้วย โรงเรียนจึงควรจัดห้องเรียนอย่างมีระบบ และเด็กๆ ต้องรู้ว่าพวกเขาต้องทำอะไรเป็นกิจวัตรประจำวัน ตัวอย่างของโรงเรียนที่อังกฤษ โดยเฉพาะเด็กที่เข้ามาในสิ่งแวดล้อมใหม่ เด็กควรรู้ว่าต้องจะเก็บใช้ส่วนตัวไว้ตรงไหน ถ้าจะเอารูปวาดหรืองานประดิษฐ์กลับบ้าน ต้องไปเอาที่ไหน ครูต้องให้เวลาอธิบายอย่างชัดเจน

ส่งเสริมความเป็นอิสระ
          เมื่อเด็กได้เข้ามาในสิ่งแวดล้อมใหม่ ครูต้องให้เวลาในการพูดคุย เรื่องทั่วไป เรื่องง่ายๆ กับเด็กๆ ครูให้เด็กเลือกรูปและสีสันต่างกันมาติดไว้ที่ป้ายชื่อของตัวเอง และติดไว้ที่ลิ้นชักไว้ด้วย เพื่อให้รู้ที่เก็บของใช้ส่วนตัวของตัวเอง การส่งเสริมให้เด็กเช็คชื่อเข้าห้องด้วยตัวเอง การใส่ตุ๊กตาไว้ในลิ้นชัก เมื่อมาถึงให้เอาตุ๊กตาไปแขวนไว้ที่บอร์ด เด็กๆ ก็จะรู้ว่าในห้องเรียนมาแล้วกี่คน โดยเด็กบางคนอาจจะยังอ่านชื่อตัวเองไม่ออกด้วยซ้ำ
          การส่งเสริมให้การทำกิจวัตรของเด็กเป็นอิสระ เช่นการเข้าห้องน้ำกับตุ๊กตา โดยไม่ต้องขออนุญาตครู ครูจะสังเกตจากตุ๊กตาที่หายไป การหยิบนมด้วยตัวเอง การปล่อยให้เด็กได้ทำอะไรด้วยตัวเอง เป็นการฝึกทักษะในตัว

เด็กสามารถเลือกกิจกรรมได้ด้วยตัวเอง
          การเลือกกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน ยิ่งเด็กได้เลือกกิจกรรมด้วยตัวเองมากเท่าไร เด็กจะรู้สึกมีส่วนร่วมมากขึ้นเท่านั้น การเรียนรู้ของเด็กก็จะเพิ่มขึ้น การเลือกทำกิจกรรมใดๆ ไม่ว่าจะเป็น การเล่นตัวต่อ การเล่นบทบาทสมมติ เด็กก็ต้องรู้ว่าควรไปหยิบอุปกรณ์ที่ไหนบ้าง ส่งเสริมให้เด็กไปหาของด้วยตัวเอง ส่วนครูอาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องยาก เพราะรู้สึกว่ามาโรงเรียนก็ต้องสอน หากวิธีนี้จะเปิดโอกาสให้เด็กได้เป็นตัวของตัวเองเต็มที่
          การศึกษามักฝึกเด็กให้อยู่ในกรอบที่ผู้ใหญ่วางไว้ แต่สำหรับเด็ก พวกเขาต้องการเวลา พื้นที่ของตัวเองในการได้เล่น เด็กไม่ได้เรียนรู้จากเรื่องที่คนอื่นเล่า แต่พวกเขาเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง
          ส่วนผู้ใหญ่ไม่อยากให้เด็กทำพลาด เลยให้ข้อมูลเด็กมากเกินไป ช่วยเหลือเด็กมากเกินไป ต้องปล่อยให้เด็กได้ดิ้นรน ให้เด็กได้คิด ได้ทำ หาทางแก้ปัญหา จะได้รู้สึกว่าตัวเองทำสำเร็จ เมื่อตัวเองหาทางได้

มีเวลาและพื้นที่เพื่อใช้ความคิด
          การให้เวลาและพื้นที่ของเด็กเป็นเรื่องสำคัญ บ่อยครั้งที่เด็กถูกถามและให้เวลาตอบเพียงสั้นๆ เมื่อเด็กตอบไม่ได้ ครูก็จะถามกลับไปอีกแบบ เด็กไม่มีระยะเวลาในการคิด เด็กต้องการเวลาที่จะคิด รวมทั้งเวลาในการวางแผนในกิจกรรมที่กำลังทำอยู่
          เราไม่ต้องการห้องเรียนที่มีแต่โต๊ะ เด็กต้องการพื้นที่ บางครั้งทำงานบนพื้น บางครั้งทำงานบนโต๊ะ บางครั้งเอาของออกมา แล้ววางแผน

ความรู้สึกร่วม
          การที่เด็กมีอารมณ์ร่วมกับการเรียน เป็นเรื่องสำคัญมาก ผ่านกิจกรรม กล่องความคาดหวัง (Anticipation Box) โดยครูหรือเด็กในห้องเรียน ใครก็ได้ สามารถใส่ของลงไปในกล่อง เด็กๆ จะได้จินตนาการทั้งวัน ว่ามีอะไรอยู่ในกล่องใบนั้น เด็กๆ ชอบ "การรอคอยอย่างคาดหวัง" สำคัญมากที่จะทำให้เด็กจินตนาการตลอดเวลา

          กิจกรรม การออกแบบแผนการเรียนการสอน และบรรยากาศในห้องเรียน สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เด็กมีอิสระทางความคิด พัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง และฝึกความมีวินัย ผ่านการกิจวัตรประจำวันของพวกเขา เริ่มต้นในช่วงปฐมวัย ปูพื้นฐานสำคัญให้แต่ยังเล็ก

เนื้อหาจาก TEACHERS as LEARNERS อิสระคู่วินัยสร้างได้ด้วยกิจวัตร - Early Years : Daily Routines https://www.educathai.com/videos/249 คำแนะนำในการประยุกต์ ตอน อิสระคู่วินัยสร้างได้ด้วยกิจวัตร https://www.educathai.com/knowledge/videos/250


TAG: #การจัดการเรียนรู้สำหรับนักเรียน #ปฐมวัย #การส่งเสริมการเรียนรู้