Knowledge

ดนตรีกับเด็กปฐมวัย

ดนตรีกับเด็กปฐมวัย

 3 years ago 5826

เรียบเรียงโดย สุรเชษฐ์ ตรรกโชติ Content Developer Cohort 2 Alumni Teach For Thailand
ภาพ: นัชชา ชัยจิตรเฉลา

          รู้หรือไม่ว่าเพียงแค่การปรบมือตามจังหวะเพลงก็สามารถช่วยเพิ่มทักษะการเคลื่อนไหว และความรู้ความเข้าใจในเด็กเล็กหรือเด็กที่อยู่ในช่วงปฐมวัยได้ โดยในช่วง 7 ปีแรกนั้น การปรบมือตามจังหวะเพลงเป็นหนึ่งในพฤติกรรมที่ปรากฎขึ้นโดยธรรมชาติอันเป็นผลของการเจริญโตของร่างกายซึ่งรวมถึงมันสมองของเด็กๆ ที่เริ่มมีศักยภาพในการรับรู้ และเข้าใจสิ่งต่างๆ มาก การทำกิจกรรมที่เด็กๆ ได้มีการเคลื่อนไหวร่างกายประกอบกับ “จังหวะ” ซึ่งนับเป็นส่วนประกอบของดนตรีที่มีความซับซ้อนน้อยที่สุด จึงเป็นการออกแบบกิจกรรมที่สอดคล้องต่อการเจริญเติบโตของเด็กปฐมวัย และนอกเหนือจากการปรบมือตามจังหวะ เด็กปฐมวัยอาจใช้วิธีอื่นในการมีส่วนร่วมในบทเพลงนั้นๆ เช่น โยกลำตัวตามจังหวะ เคาะนิ้ว หรือกระดิกเท้าเบาๆ ภายใต้แนวคิดที่ว่าทุกส่วนในร่างกายของเราสามารถเป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรกที่มนุษย์สามารถเล่นได้ ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่ทำให้การปรบมือตามจังหวะเพลงเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ได้รับความนิยมเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดเสียงดังที่สุดด้วยวิธีที่เรียบง่ายที่สุด ในกระบวนการที่ต้องการให้เด็กๆ รู้สึกถึงการเป็นส่วนหนึ่งของเพลงผ่านการมีส่วนร่วมด้วยการสร้างจังหวะของพวกเขาร่วมไปเพลงดังกล่าวด้วยโดยใช้อวัยวะในร่างกายของพวกเขาเองซึ่งเปรียบเสมือนเครื่องดนตรีประจำตัวของแต่ละคน

          จากงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถของดนตรีที่มือส่วนต่อการพัฒนาสมองและอารมณ์ของมนุษย์ ในขณะที่เราฟังเพลงสมองบางส่วนจะถูกกระตุ้นให้ทำงานอย่างกระตือรือร้นมากขึ้น ร่วมกับอารมณ์ของผู้ฟังที่เปลี่ยนไปตามเนื้อหาหรือลักษณะของเพลงแต่ละเพลง และถ้าเรามีความสามารถในการเล่นดนตรีด้วยแล้วนั้น งานวิจัยของ Dr. Anita Collins นักการศึกษานักวิจัย และนักเขียนที่ได้รับรางวัลในสาขาการพัฒนาสมอง และการเรียนดนตรี พบว่าถ้าเราสามารถเล่นดนตรีได้ สมองส่วนต่างๆ จะถูกปรับให้ทำงานอย่างสอดประสานกัน และทำให้เรารู้สึกถึงความสุขในขณะที่เรากำลังบรรเลงเครื่องดนตรี สำหรับเด็กปฐมวัยทั่วไปในประเทศไทย เครื่องดนตรีสากลอาจเป็นสิ่งที่ยากทั้งต่อการได้มา และการจัดสรรเวลากว่าจะสามารถฝึกซ้อมจนสามารถเล่นจนเกิดสุนทรียะกับตัวพวกเขาเอง หนึ่งในสิ่งที่คุณครูทำได้เพื่อเปิดโอกาสให้มัดกล้ามเนื้อแห่งการเชื่อมโยงของนักเรียนได้เติบโต แม้ว่าจะโดยปราศจากการมีอยู่ของเครื่องดนตรีจริงๆ อาจเป็นการใช้เทคโนโลยีเช่นแอปพลิเคชันจำลองเครื่องดนตรีต่างๆ รวมถึงการกลับมาสู่การใช้การปรบมือ หรือขยับร่างกายตามจังหวะเพลง ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่สามารถร่วมสนุกไปด้วยกันได้ตั้งแต่ในระดับของครอบครัว และเป็นการปลุกพลังของสมองให้เด็กๆ พร้อมที่จะต่อยอดการเรียนรู้ของพวกเขาต่อไป โดยอาจเริ่มก้าวเล็กๆ ได้จากการเตรียมความพร้อมดังต่อไปนี้

สภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เด็กๆ ได้สัมผัส และเป็นส่วนหนึ่งของดนตรีมากขึ้น
- เมื่ออยู่ด้วยกันที่บ้าน หรือแม้แต่ในรถระหว่างการเดินทาง ผู้ปกครองของนักเรียนสามารถเปิดเพลงให้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเด็กๆ ได้ เช่นการเปิดสร้างบรรยากาศที่เกื้อหนุนต่อการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ตอนแต่งตัว หรือช่วงก่อนนอน เป็นต้น โดยเลือกเพลงที่มีลักษณะที่สอดคล้องกับกิจกรรม ณ ขณะนั้น
- คุณครูสามารถสร้างสภาพแวดล้อมผ่านการนำบทเพลง และการประกอบจังหวะมาปรับให้เนื้อหาที่สอนได้ เพื่อเพิ่มความรู้สึกที่ผ่อนคลายก่อนเรียน และเป็นการเพิ่มความสนุกที่จะทำให้เด็กปฐมวัยไม่เกิดความเบื่อหน่ายในการเรียนที่พวกเขาอาจจะไม่ได้ส่งเสียง หรือขยับตัวมากนัก

         การถ่ายทอดความรู้สึก การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ การเพิ่มความผ่อนคลาย สิ่งต่างๆ เหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการบรรเลงดนตรีที่เป็นศาสตร์ของศิลปะซึ่งมีผลต่ออารมณ์ และความรู้สึกได้ดีที่สุด ศิลปะไม่อาจเกิดขึ้นได้จากการ บังคับให้ทำ สิ่งที่เราทำได้คือส่งเสริมมันให้เป็นส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อมของพวกเขา มนุษย์จะเปิดรับสิ่งเหล่านี้ด้วยตนเอง โดยบทบาทของครูคือการอำนวยความสะดวกให้การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ จากนั้นสามารถให้ ศิลปะ ได้ทำหน้าที่ของมัน

แหล่งอ้างอิง
- “Hand-clapping songs improve motor and cognitive skills, research shows” Science News , May 3, 2010 from https://www.sciencedaily.com/releases/2010/04/100428090954.htm

- “How playing an instrument benefits your brain” by Anita Collins , Jul 22,2014 from https://youtu.be/R0JKCYZ8hng

- “The benefits of music education”by Anita Collins·TEDxCanberra from https://www.ted.com/talks/anita_collins_the_benefits_of_music_education/transcript?language=en

- “The importance of music in early childhood development” by Hopster , Jan 24 , 2020 from https://medium.com/@hopsterTV/the-importance-of-music-in-early-childhood-development-6684c6e7702c


TAG: #ดนตรี #ปฐมวัย #พัฒนาสมองและอารมณ์ #กิจกรรมเพื่อการเรียนรู้