Knowledge
ครูจะปล่อยให้เด็กเล็กเรียนรู้ด้วยตัวเองได้มั้ย?
2 years ago 2402 เด็กวัยอนุบาลไปจนถึงวัยประถมเป็นวัยแห่งการตั้งคำถามและอยู่ในช่วงของการเรียนรู้สิ่งรอบตัว เมื่อความต้องการอยากเรียนรู้เกิดขึ้นจากภายใน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องฝึกฝนให้เด็กเล็กสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ การเรียนรู้ด้วยตนเองช่วยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเลือกกระบวนการ ทักษะ เนื้อหา เส้นทางการเรียนรู้ ผลลัพธ์ทั้งหมดด้วยตนเอง แต่การเรียนรู้ด้วยตนเองในเด็กเล็กจะประสบความสำเร็จได้ต้องมีเพื่อน คุณครู ผู้ปกครอง ช่วยสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ บทความนี้จะเชิญชวนคุณครูและผู้ปกครองมาดูกันว่าเราจะฝึกฝนให้เด็กเล็กเรียนรู้ด้วยตนเองได้อย่างไร
ออกแบบวิธีการเรียนรู้ใหม่ - เสริมทักษะการเรียนรู้ตัวเอง
ถ้าอยากฝึกการเรียนรู้ด้วยตนเองให้ผู้เรียน คุณครูจะต้องออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ผู้เรียนและสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียนให้มากที่สุดโดยเฉพาะในเด็กเล็กที่ต้องเข้าใจข้อจำกัดการเรียนรู้ของเขามากเป็นพิเศษ บทความนี้ จะลองเสนอโมเดลการออกแบบที่เรียกว่า Modern Classroom Project ของ Kareemและ Rob ที่เปิดตัวเมื่อปี 2018 การใช้วิธีการนี้แพร่หลายในสหรัฐอเมริกาแล้วพบว่าสร้างการเรียนรู้ด้วยตนเองในเด็กเล็กได้จริง เริ่มต้นจาก
Blended Instruction คือ การสร้างวิดีโอเนื้อหาการเรียนรู้ของคุณครูให้ผู้เรียนเข้าถึง โดยได้จำแนกออกเป็นบทเรียนเพื่อให้ผู้เรียนได้ศึกษาด้วยตนเองในบทเรียนที่ผู้เรียนสนใจ คำแนะนำเพิ่มเติมคือการจัดเรียงบทเรียนจากง่ายไปยากจะช่วยให้ผู้เรียนจัดลำดับการเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น
Self-Pace Structure คือ ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเองในแต่ละหน่วยการเรียนรู้
Mastery-Based Grading คือ การดูความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของผู้เรียน
เคล็ดลับที่สำคัญที่จะช่วยให้เด็กเล็กมีแรงจูงใจในการเรียนรู้ด้วยตนเองนั่นก็คือ การสร้างกิจกรรมให้ผู้เรียนเช็กความก้าวหน้าของตนเองอย่างสม่ำเสมอ เช่น การทำสื่อการเรียนรู้ที่เน้นภาพ เน้นในรูปแบบเกม ที่ให้ผู้เรียนได้ลองท้าทายตัวเอง ยิ่งเรียนรู้มากผู้เรียนจะไต่ไประดับที่ขึ้น ช่วยสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ผู้เรียนได้มากขึ้น เพื่อให้เห็นภาพกิจกรรมการเรียนรู้ ขอยกตัวอย่างกิจกรรม 1 DAY ALONE ของคุณครูปรางชิด เส้นสุข กิจกรรมนี้ให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนการจัดการตนเองอย่างเป็นระบบโดยมี 4 ขั้นตอน 5 กิจกรรม
Step 1 รู้เกี่ยวกับคุณลักษณะผู้เรียนของตน จำนวนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการใช้เพื่อการศึกษาที่พร้อมใช้ รวมไปถึงความสามารถในการใช้เทคโนโลยีของผู้เรียน
Step 2 วางจุดประสงค์การเรียนรู้ของกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลัก K S A ตัวอย่างของคุณครูปรางชิดคือจุดประสงค์การเรียนรู้เชิงสมรรถนะ
Step 3 ส่วนนี้เป็นส่วนของกิจกรรมที่คุณครูมีการวางไว้เป็นด่านกิจกรรม
กิจกรรมที่ 1 รู้จักฉัน ชื่นชมเธอ ให้ผู้เรียนได้แบ่งกลุ่มทำกิจกรรมและเขียนเล่าว่าแต่ละวันผู้เรียนทำอะไรบ้าง จากนั้นให้เพื่อนได้อ่านและแสดงความคิดเห็นชื่นชมกิจกรรมที่ได้เล่าพร้อมแลกเปลี่ยนกิจกรรมระหว่างกัน
กิจกรรมที่ 2 คิด สำรวจ ให้ผู้เรียนวางแผนกิจกรรมที่อยากลองท้าทายตัวเองใน 1 วัย
กิจกรรมที่ 3 ซ้อมก่อนลุย ให้ผู้เรียนไปซ้อมกิจจกรรมที่ตนเองยังทำไม่ได้ โดยมีผู้ปกครองคอยช่วย
กิจกรรมที่ 4 1 DAY ALONE ปฏิบัติตามแผนที่วางไว้และบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้น
กิจกรรมที่ 5 นำเสนอผลงาน มีการนำเสนอของแต่ละกลุ่มและร่วมกันสะท้อนคิด
Step 4 เป็นการดูพัฒนาการของผู้เรียนที่คุณครูสามารถสังเกตได้ผ่านแต่ละกิจกรรม กิจกรรมนี้สามารถนำไปปรับใช้กับห้องเรียนของคุณครูได้โดยประยุกต์และออกแบบให้เหมาะสมกับผู้เรียนของตนเอง
วิธีการฝึกการเรียนรู้ด้วยตนเองที่บ้าน
Modern Classroom ของคุณครูที่ได้กล่าวไปข้างต้นค่อนข้างจะใช้ในการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเองในด้านวิชาการในโรงเรียน ในส่วนของการเรียนรู้นอกห้องเรียนสามารถทำได้เช่นกัน โดยผู้ปกครองสามารถเข้ามาสนับสนุนได้ เริ่มต้นจาก Mindset ของผู้ปกครองเองที่เชื่อมั่นว่าเด็ก ๆ ของเราเรียนรู้ด้วยตนเองได้ จากนั้นลองปล่อยให้เขาได้เรียนรู้อย่างอิสระโดยที่เราไม่ต้องไปบังคับ เมื่อเราสังเกตเห็นว่าเด็ก ๆ ชอบหรือสนใจเรื่องไหนเป็นพิเศษ ท่านสามารถสร้างโอกาสให้เขาได้เรียนรู้ให้มากที่สุดอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น หากสนใจเรื่องศิลปะ การพาเด็ก ๆ ไป Workshop งานศิลปะก็เป็นการสร้างโอกาสในการเรียนรู้ของเขา หรืออาจแนะนำสื่อที่น่าสนใจให้เขาได้ลองทำ สนับสนุนอุปกรณ์ให้เขาได้ทดลองออกแบบผลงานศิลปะของตัวเอง หากผู้ปกครองสนับสนุนและอำนวยความสะดวกการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ได้ดี จะยิ่งทำให้เขากล้าที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองได้มากขึ้น
จากที่กล่าวมาเชื่อมั่นได้เลยว่า ไม่ว่าวัยไหนก็สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จะต้องใช้กลวิธีที่เหมาะสม รวมไปถึงการสนับสนุน การช่วยเหลือ และร่วมมือกันของคนรอบตัวที่อำนวยความสะดวกการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนมากที่สุด เชื่อเลยว่าไม่ว่าจะในห้องเรียนหรือนอกห้องเรียน ถ้าผู้เรียนมีแรงจูงใจและมีอิสระในการเรียนรู้ รู้สึกว่าการเรียนรู้เป็นเรื่องสนุก ไม่ว่าวัยไหนก็เรียนรู้ด้วยตนเอง ได้อย่างแน่นอน
อ้างอิง
Boldenow, A. (2016, March 9). Encouraging Self-Directed Learning in Kids. TLC Development Manager & Parent. https://www.learningwithtlc.org/blog/selfdirectedlearning
Edutopia. (2021, November 18). Making self-paced learning work for younger kids.https://www.edutopia.org/video/making-self-paced-learning-work-younger-kids
Farah, K. (2020, November 8). How to create a self-paced classroom. Cult of Pedagogy. https://www.cultofpedagogy.com/self-paced-how-to/
modernclassrooms. (n.d.). Approach — Modern Classrooms Project. https://www.modernclassrooms.org/approach
Prangchit Sensuk. (2564, 13 สิงหาคม). 1 Day Alone. Inskru. https://inskru.com/idea/-MgzGrUXRq5OWzsIV7mP
Suvin, C. (2021, April 2). Top 10 benefits of self-paced learning that you were not aware of. Creatrixcampus. https://www.creatrixcampus.com/blog/top-10-benefits-self-paced-learning-you-were-not-aware