Knowledge

เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง...ทำไมการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กเล็กจึงเป็นสิ่งสำคัญ

เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง...ทำไมการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กเล็กจึงเป็นสิ่งสำคัญ

 3 years ago 2891

เรียบเรียง: นางสาวกนกวรรณ สุภาราญ
ภาพ: พิพัฒน์ ยุติธรรม

          รากฐานที่แข็งแกร่งคือสิ่งสำคัญของการเรียนรู้...การเริ่มต้นที่ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง โรงเรียนอนุบาลหรือการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กเล็กนั้นมีอิทธิพลกับการเจริญเติบโตทางร่างกาย ภูมิคุ้มกันด้านจิตใจ และพัฒนาการความสามารถด้านการเรียนรู้ของเด็กเป็นอย่างมาก หากระบบการศึกษาสามารถจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กเล็กได้อย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ สามารถสนับสนุนพัฒนาการของเด็กอย่างเต็มที่แล้วนั้นเด็กก็มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จทั้งด้านการเรียน และการดำรงชีวิตในอนาคต ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึงสาเหตุสำคัญที่อธิบายว่าทำไมการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กเล็ก และการสนับสนุนพัฒนาการของช่วงวัยเด็กอย่างเต็มที่จึงมีความสำคัญอยางยิ่งต่อความสำเร็จในอนาคตของเด็ก

“เหตุผล 10 ประการ...ว่าด้วยความสำคัญของการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กเล็ก”
          การพัฒนาที่มีประสิทธิภาพสำหรับเด็กเล็กประกอบกับการสั่งสมทักษะ ความสามารถและความพร้อมด้านทรัพยากรถือเป็นสิ่งสำคัญและมีความจำเป็นอย่างยิ่งเสมือนพื้นฐานของการเรียนรู้ตลอดจนการใช้ชีวิตและการมีสุขภาพจิตที่ดี จากการรวบรวมข้อมูลจากบทความต่าง ๆ พบเหตุผลที่สนับสนุนระบบการศึกษาว่าทำไมควรให้ความสำคัญกับการจัดการเรียนรู้และส่งเสริมพัฒนาการให้แก่เด็กเล็กอย่างเต็มที่ ดังนี้
1. ช่วงวัยเด็กเล็กเป็นช่วงที่สมองมีการพัฒนาการมากที่สุดและเร็วที่สุด สมองมีการเจริญเติบโตและปรับตัวต่อให้มีกลไกการทำงานที่ซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะการรับรู้สถานการณ์ การแสดงออกทางอารมณ์ และการปรับตัวทางสังคมได้อย่างเหมาะสมตามสิ่งแวดล้อมที่เด็กคุ้นชิน ซึ่งพัฒนาการดังกล่าวล้วนเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญ และส่งผลต่อความสำเร็จของเด็กในอนาคต
2. ช่วงวัยเด็กเล็กเป็นช่วงวัยของการเริ่มเรียนรู้สังคมที่มีความหลากหลาย ประสบการณ์ที่เด็กได้เรียนรู้ในช่วงวัยนี้ส่งผลต่อพัฒนาการทางด้านอารมณ์ และสมองของเด็กในระยะยาว เด็กที่ผ่านประสบการณ์การใช้ความรุนแรงหรือได้รับการปลูกฝังพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในช่วงวัยนี้ ส่วนมากจะกลายเป็นเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการด้านอารมณ์ ส่งผลให้เกิดปัญหาพฤติกรรม และการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา การเข้าสังคม และการเรียนรู้ในระยะยาว เป็นต้น
3. ความแตกต่างด้านพัฒนาการระหว่างเด็กที่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาการอย่างเต็มที่ ตั้งแต่เล็กกับเด็กเล็กที่ไม่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาการเท่าที่ควร พบว่าหนึ่งในสี่ของเด็กที่ไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควรนั้นประสบกับปัญหาด้านการเจริญเติบโตของร่างกาย ทักษะ และพัฒนาการด้านการรับรู้บกพร่อง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อผลการเรียนรู้ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน
4. สภาพแวดล้อมและสังคมรอบตัวเด็กมีผลต่อการปรับเปลี่ยนหรือปลูกฝังลักษณะนิสัย ความคิดและความเชื่อในศักยภาพของเด็กเล็กซึ่งส่งผลต่อตัวเด็กจนกระทั่งเติบโต โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม การเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี รวมทั้งการเลี้ยงดู หรืออบรมสั่งสอนที่ไม่เหมาะสมล้วนส่งผลต่อการแสดงออกทางอารมณ์ และพฤติกรรมของเด็กทั้งสิ้น เมื่อเด็กซึมซับพฤติกรรมที่ไม่ดีจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมเหล่านั้นเป็นเวลานาน เด็กก็จะเรียนรู้จะประพฤติพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงจนกลายเป็นนิสัยได้
5. การพัฒนาเด็กเล็กอย่างมีคุณภาพคือปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เด็กประสบความสำเร็จในชีวิต จากการศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการสมองของเด็ก เมื่อทำการเปรียบเทียบอัตราการเรียนรู้และจดจำคำศัพท์ระหว่างเด็กในกลุ่มที่ผ่านการจัดการเรียนรู้และเด็กกลุ่มที่ไม่ได้ผ่านการจัดการเรียนรู้ทางด้านภาษาในวัยเด็กอย่างเหมาะสมนั้น พบว่า เด็กในกลุ่มที่ผ่านการจัดการเรียนรู้ด้านภาษาที่เหมาะสมนั้นมีศักยภาพในการใช้ภาษา และสามารถจดจำภาษาได้มากกว่าเด็กกลุ่มที่ไม่ได้ผ่านการจัดการเรียนรู้ 2-3 เท่า เป็นต้น
6. การจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กเล็กช่วยป้องกันพฤติกรรมเสี่ยง และลดอุปสรรคที่อาจส่งผลต่อระดับของพัฒนาการที่ล่าช้าหรือผิดปกติได้ ซึ่งอุปสรรคหรือปัจจัยที่มีผลต่อพัฒนาการของเด็ก ได้แก่ ความยากจน สภาพจิตใจ และพฤติกรรมของผู้ดูแล ครอบครัว คนรอบข้าง การอบรมเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม ไม่ส่งเสริมสนับสนุนเด็กอย่างถูกวิธี รวมทั้ง ความรู้และทักษะการอ่านออกเขียนได้ของมารดาเด็กที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ยิ่งเด็กประสบกับปัจจัยเสี่ยงมากแค่ไหน พัฒนาการความสามารถของเด็กก็มีแนวโน้มที่จะผิดปกติมากขึ้นตามไปด้วย
7. การเสริมสร้างเด็กให้มีคุณภาพคือรากฐานสำคัญในการลดความไม่เท่าเทียม และความยากจนของสังคมในอนาคต การสนับสนุนให้เด็กเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ เท่าเทียมกัน รวมทั้งได้รับการอบรมเลี้ยงดูอย่างเหมาะสมนั้น ถือเป็นการสร้างพื้นฐานชีวิตที่เข้มแข็งซึ่งไม่เพียงแต่เด็กเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์ หากแต่ในระยะยาวเด็กที่เติบโตอย่างมีคุณภาพเหล่านั้นจะกลายเป็นพลเมืองที่มีศักยภาพ มีความสามารถในการขับเคลื่อน และสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมโดยรวมอย่างมหาศาล
8. เด็กช่วงอายุ 1-3 ปีมักได้รับการดูแลที่ไม่เหมาะสมและผิดวิธีการมากที่สุด การดูแลที่ไม่เหมาะสมนั้นประกอบไปด้วย ขาดความรู้ด้านการดูแลสุขลักษณะที่ถูกวิธี ขาดความเข้าใจเรื่องการคุกคามทางร่างกาย จิตใจและการคุกคามทางเพศ ซึ่งการกระทำข้างต้นนั้นล้วนส่งผลให้เด็กมีปัญหาด้านการควบคุมอารมณ์ ขาดความเชื่อมั่นหรือไม่กล้าแสดงออกในสิ่งที่ถูกต้อง ประสบปัญหาในการเข้าสังคมและการเรียนรู้ในชั้นเรียน
9. การดูแลเด็กเล็กอย่างผิดวิธีนั้นส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพของเด็กในระยะยาว เช่น การละเลยเรื่องโภชนาการของเด็กส่งผลให้เด็กเป็นโรคร้ายแรงก่อนวัยอันควร การใช้ความรุนแรงในครอบครัวส่งผลให้เด็กเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ มีปัญหาทางจิตใจและการจัดการอารมณ์ได้ แม้แต่การให้เด็กใช้เทคโนโลยีที่มากเกินไปโดยขาดการดูแล และให้คำแนะนำจากผู้ใหญ่ ส่งผลให้เด็กประสบปัญหาทางด้านการรับรู้ และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม เป็นต้น
10. พัฒนาเด็กให้มีคุณภาพ สังคมได้คนคุณภาพ ประเทศก็เต็มไปด้วยคนคุณภาพ การส่งเสริมงบประมาณด้านการดูแลสร้างเสริมให้เด็กได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างเหมาะสมทั้งด้านความรู้และการดำรงชีวิตนั้น จะทำให้เด็กเติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ และสามารถสร้างการพัฒนากลับคืนสู่สังคมได้มากกว่ามูลค่าการลงทุนในตอนต้น ตัวอย่างเช่น การเพิ่มขึ้นของรายได้ประชากร อัตราของประชากรที่ได้รับการศึกษา และการพัฒนาสังคมโดยรวม

          ดังนั้นการจัดการเรียนรู้ และการพัฒนาศักยภาพของเด็กเล็กจึงถือเป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญต่อการที่เด็กจะค้นพบศักยภาพและความถนัดของตนเอง หลุดพ้นจากอุปสรรค และข้อจำกัดทางการเรียนรู้ที่ตนเองไม่ได้เป็นผู้เลือก นำไปสู่ความสำเร็จในอนาคตได้ การจัดสรรงบประมาณ และบุคลากรที่มีความสามารถ เล็งเห็นความสำคัญกับการส่งเสริมพัฒนาการให้แก่เด็กเล็กอย่างสร้างสรรค์ และมีประสิทธิภาพ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้การศึกษา และการส่งเสริมเด็กอย่างเต็มที่นั้นจะสร้างผลประโยชน์ และสร้างการพัฒนาให้แก่สังคมโดยรวมในท้ายที่สุด

ที่มา
Wheelock College. (2017). What Is Early Childhood Education? 7 Things to Know About the Field Forming Future Generations. วันที่เข้าถึงแหล่งข้อมูล 10 กันยายน 2563 จาก https://blog.wheelock.edu/what-is-early-childhood-education/

Wheelock College. (2017). 10 Reasons Why Early Childhood Development is More Critical Than Ever. วันที่เข้าถึงแหล่งข้อมูล 10 กันยายน 2563 จาก https://blog.wheelock.edu/10-reasons-early-childhood/


TAG: #ปฐมวัย #การจัดการเรียนการสอน #การจัดการเรียนรู้