Knowledge
เทคนิค SIFT เพื่อสกัดข่าวปลอมในโลกโซเชียล
6 months ago 1627วรเชษฐ แซ่เจีย
รู้หรือไม่ว่าข่าวปลอมหรือข่าวสารที่บิดเบือนนั้นเดินทางไปยังผู้ใช้โซเชียลมีเดียได้เร็วกว่าข้อมูลที่ถูกต้อง เหตุผลหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าข่าวปลอมนั้นยืนยันความเชื่อเดิมของคนอ่าน จึงเลือกที่จะกดแชร์ไปก่อนโดยอาจยังไม่ได้ตรวจสอบโดยถี่ถ้วน ซึ่งเทรนด์ในลักษณะนี้เริ่มเห็นเด่นชัดตั้งแต่ยุคการแพร่ระบาดของ COVID-19 และพฤติกรรมของชาวเน็ตก็ยังไม่เปลี่ยนไปโดยง่ายมาจนถึงปัจจุบัน
หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในช่วงที่ผ่านมา (หรือผู้อ่านอาจเห็นมาบ้าง) คือ ภาพของเด็กน้อยเนื้อตัวมอมแมมที่ทำสิ่งประดิษฐ์จากขวดน้ำอัดลมที่ทำออกมาได้อย่างน่าทึ่งและน่ารักในเวลาเดียวกัน สร้างความรู้สึกที่ดีให้กับผู้พบเห็นจนมีคนกดไลก์ คอมเมนต์ชื่นชม และกดส่งต่อเป็นจำนวนมาก โดยที่ไม่ได้ตรวจสอบเลยว่าภาพดังกล่าวนั้นถูกสร้างขึ้นจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่แนบเนียนในระดับที่คนทั่วไปไม่ทันสังเกตเห็น
วันนี้ EDUCA จึงขอแชร์เทคนิคการคัดกรองข่าวสารง่าย ๆ ที่เรียกว่า SIFT หรือตะแกรงร่อนข่าว หนึ่งในเครื่องมือเสริมสร้างสมรรถนะดิจิทัลที่พัฒนาโดย Mike Caulfield ผู้เชี่ยวชาญด้าน Digital Literacy ที่ผู้อ่านสามารถลองใช้ และแนะนำให้กับนักเรียนและบุตรหลานต่อไป
- S - Stop = เมื่อเห็นข่าว ยังไม่ต้องแชร์ ยังไม่ต้องคอมเมนต์ใด ๆ ขอให้หยุดก่อน จากนั้นจึง...
- I - Investigate = สืบเสาะหาต้นตอและที่มาว่ามาจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และตรวจสอบความถูกต้องได้ ผู้เขียนมีจุดประสงค์อะไร มีจุดยืนต่อเรื่องนั้นอย่างไร ก่อนจะสรุปด้วยคำถามว่า "เราสามารถเชื่อถือของผู้เขียนหรือแหล่งข้อมูลที่อ้างถึงนี้ได้หรือไม่ถ้าเขาไม่ได้พูดในสิ่งที่เราเชื่อหรือเห็นด้วย"
- F - Find better coverage = ถ้าผ่านขั้นตอนด้านบนมาแล้วยังรู้สึกติดใจกับการรายงานข่าวชิ้นนั้นอยู่ ก็ขอให้เริ่มมองหาการทำข่าวของสำนักข่าวอื่นในเรื่องเดียวกันว่าเหมือนหรือต่างกันอย่างไร หรือหากสิ่งที่เราอยากตรวจสอบนั้นเป็นรูปภาพ ก็สามารถใช้เทคนิคการค้นหาด้วยภาพจาก search engine ที่ใช้อยู่ก็ได้เช่นกัน
- T - Trace the original = หากโชคดี ระหว่างการทำขั้นตอนที่สามก็อาจจะนำพาเราไปสู่ที่มาหรือจุดเริ่มต้นของแหล่งข่าวเลยก็เป็นได้ แต่ทั้งนี้เป้าหมายของขั้นตอนที่สี่คือพิสูจน์ไปจนถึงที่มาและความน่าเชื่อถือของ "แหล่งข่าว" นั้นโดยตรง เพราะข่าวจำนวนไม่น้อยมักมีการอ้างถึงกันเป็นทอด ๆ จนไม่อาจไปถึงข้อเท็จจริงต้นทางได้
ผู้อ่านอาจรู้สึกว่า กว่าจะทำครบทั้งสี่ขั้นตอนนี้ก่อนแชร์หรือให้ความเห็นในโลกออนไลน์ อาจเสียเวลาไปไม่น้อยเลยทีเดียว แต่มั่นใจได้ว่า นอกจากจะป้องกันการหน้าแตกแล้ว การตรวจสอบและคิดไตร่ตรองก่อนแชร์ยังเป็นการป้องกันการส่งต่อข้อมูลเท็จไปยังผู้อื่นโดยที่ไม่ตั้งใจได้ด้วยเช่นกัน เพราะทุกการกดไลก์ กดแชร์ และคอมเมนต์ เป็นหนึ่งในความรับผิดชอบของเราในฐานะพลเมืองดิจิทัล
ที่มา
Ruggeri, A. (2024, 9 May). The 'Sift' strategy: A four-step method for spotting misinformation. BBC. https://www.bbc.com/future/article/20240509-the-sift-strategy-a-four-step-method-for-spotting-misinformation