Knowledge

ชวนรู้จัก Digital Mindset – ของดีที่ครูต้องมี

ชวนรู้จัก Digital Mindset – ของดีที่ครูต้องมี

 1 year ago 4936

เอกปวีร์ สีฟ้า

          เมื่อพูดถึงทักษะที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลที่ครูต้องมี หลายคนอาจคุ้นกับคำว่า ทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) แต่ในยุคปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีพัฒนาและก้าวหน้าอยู่ตลอด หากเรามีแค่ Digital Literacy อาจจะไม่เพียงพอแล้ว ครูต้องมี Digital Mindset ด้วย

Digital Mindset VS Digital Literacy
          ทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) หมายถึงทักษะในการนำเครื่องมือ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอยู่ในปัจจุบันมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการทำงานร่วมกัน หรือใช้เพื่อพัฒนากระบวนการทำงานในองค์กรให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพ ภายใต้ความสามารถ 4 มิติ ได้แก่ การใช้ ความเข้าใจ การสร้าง และการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
          ขณะที่ชุดความคิดแบบดิจิทัล (Digital Mindset) คือ ชุดของทัศนคติและพฤติกรรมที่ช่วยให้คนคนนั้นเห็นว่า ข้อมูล อัลกอริทึม และ AI เปิดโอกาสใหม่ๆ ได้อย่างไร ส่วนที่ทำให้ Digital Mindset เหนือกว่า Digital Literacy นั่นก็คือ การมองเห็นถึงประโยชน์และตระหนักในการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพราะตระหนักได้ว่า เทคโนโลยีช่วยทำให้วิธีการทำงานแบบเดิม ๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้
          การพัฒนาทักษะให้กลายเป็น Digital Mindset นั้นสามารถทำได้อย่างไรบ้าง ในบทความนี้เราจะมาเรียนรู้กัน

แนวทางการเสริมสร้าง Digital Mindset
          1. กำหนดเป้าหมายก่อนใช้
          ขั้นแรกก่อนจะนำเทคโนโลยีมาใช้ เราต้องรู้ว่าจะใช้มันเพื่ออะไร และอย่างไรให้เหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ยกตัวอย่างเช่น หากเราต้องการใช้เทคโนโลยีเพื่อนำมาจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ จะต้องเข้าใจในสิ่งที่จะจัดการเรียนรู้ให้ดีก่อน จากนั้นจึงมองหาโปรแกรมหรือแอปพลิเคชันที่จะเข้ามาสนับสนุนและส่งเสริมให้นักเรียนได้คิดและฝึกฝนทักษะตามต้องการได้
          2. สร้างชุมชนการเรียนรู้ของครูที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลร่วมกัน
          เช่นเดียวกับข้อแรก สิ่งแรกในการสร้างชุมชน คือครูต้องมีเป้าหมายร่วมกันเสียก่อน หากคุณครูในโรงเรียนเห็นว่าเทคโนโลยีมีประโยชน์ต่อการจัดการเรียนการสอน และนำเทคโนโลยีเข้าไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของห้องเรียน การสร้างพื้นที่ให้ครูที่มีความสนใจคล้ายกันมาแลกเปลี่ยนกัน จะทำให้มองเห็นแนวทางการใช้ใหม่ ๆ ในห้องเรียน และเมื่อเกิดปัญหาหรืออุปสรรคจากการใช้ก็สามารถนำมาพูดคุย และหาทางแก้ไขร่วมกันได้ เกิดเป็นการพัฒนาและเติบโตไปด้วยกัน
          3. เรียนรู้ที่จะ Unlearn
          การส่งเสริมให้ครูมีความรู้ในการใช้เทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็มีอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นก็คือ การเลิกเรียนรู้ทักษะ ความเชื่อ หรือค่านิยมที่ล้าสมัย แล้วเปิดใจเรียนรู้ทักษะที่สำคัญในปัจจุบันแทน ยกตัวอย่างเช่น โปรแกรม Paint ซึ่งเป็นโปรแกรมวาดภาพระบายสีในคอมพิวเตอร์ ซึ่งในปัจจุบันอาจไม่นิยมใช้ทำงานกัน แต่ก็ยังพบว่าเป็นเนื้อหาที่ผู้เรียนต้องเรียนและครูซึ่งเป็นผู้สอนก็ต้องฝึกใช้งานโปรแกรม Paint เพื่อนำไปสอนผู้เรียน เนื่องจากในปัจจุบันมีแอปพลิเคชัน Goodnotes หรือ Procreate ที่ทันสมัย สามารถผลิตผลงานออกมาได้ดีและมีประสิทธิภาพมากกว่า ดังนั้น หากครูต้องการวาดรูปเพื่อนำมาทำสื่อการสอน สองแอปพลิเคชันข้างต้นก็เป็นตัวเลือกที่ดีที่ครูควรจะเริ่มศึกษาและเรียนรู้
          4. สร้างห้องเรียนเทคโนโลยี
          ครูมีบทบาทสำคัญในการสร้าง Digital Mindset ผ่านเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ลองใช้เทคโนโลยีในการค้นคว้าหาความรู้ให้เป็น และสร้างโอกาสให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับผู้เรียนบนแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น เช่น Padlet ClassDojo หรือ Kahoot ที่ครูคุ้นเคย หรือใช้แหล่งเรียนรู้จากคลังบทเรียนออนไลน์แบบเปิด (MOOC)
          นอกจากนี้ครูยังมีบทบาทเป็นผู้สังเกต ชี้แนะ สนับสนุนให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามที่คาดหวัง เนื่องจากปัจจุบันความรู้ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ภายในห้องเรียน ผู้เรียนสามารถใช้เทคโนโลยีในการเรียนรู้เนื้อหาที่พวกเขาสนใจหรือต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมได้ จึงควรใช้โอกาสนี้เปลี่ยนจากการมอบหมายงานที่ใช้ความรู้ในหนังสือมาตอบ เป็นการให้ผู้เรียนค้นคว้าข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตมาสรุปเป็นองค์ความรู้ของตนเอง

          ในการสร้าง Digital Mindset ซึ่งถือเป็นทักษะที่สำคัญเป็นอย่างมากกับทั้งตัวครูและผู้เรียน ให้เกิดขึ้นในห้องเรียนแห่งการเรียนรู้ จำเป็นต้องอาศัยครูเป็นผู้เริ่มและปลูกฝังแนวคิดนี้ให้แก่ผู้เรียน เพราะในปัจจุบันเริ่มมีการพูดถึง Metaverse หรือเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน ซึ่งเป็นอีกขั้นของยุคดิจิทัลที่ใกล้ตัวครูขึ้นทุกที ฉะนั้นหากเตรียมตัวให้พร้อม ย่อมเป็นทางเลือกที่ชาญฉลาด

แหล่งอ้างอิง
Burns, M. (n.d.). Developing a digital mindset: 5 strategies to help educators get the most out of education technology. jp.group. https://www.jpik.com/developing-a-digital-mindset-

Tuemaster Admin. (2563, 23 มิถุนายน). ประเภทของเทคโนโลยี. https://tuemaster.com/blog/ประเภทของเทคโนโลยี/

ปัณณทัต จำปากุล. (2565). ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ: วิถีแห่งการพัฒนาครูยุคดิจิทัล. วารสารการ จัดการและพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม, 2(2), 57-73. https://so06.tci-thaijo.org/index.php/jclmd_psru/article/download/259255/175585

สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน. (ม.ป.ป.). Digital Literacy Project. https://www.ocsc.go.th/DLProject/mean-dlp

อภิญรัตน์ สุนทรพรพันธ์. (2565, 1 เมษายน). Digital Mindset สิ่งที่ท้าทายครูไทย. มติชนออนไลน์. https://www.matichon.co.th/columnists/news_3264744


TAG: #เทคโนโลยีการสอน #Digital Mindset #Digital Literacy #กระบวนการทำงาน #การจัดการเรียนรู้ #ชุมชนการเรียนรู้ #การใช้สื่อและเทคโนโลยี #การใช้สื่อและเทคโนโลยีในการจัดการเรียนรู้ม เทคโนโลยี