Knowledge
MIDL เด็กต้องรู้เท่าทัน ครูนั้น(ยิ่ง)ต้องเข้าใจ
2 years ago 11386สุรศักดิ์ แซ่ลิ้ม
ปัจจุบันสื่อสารสนเทศและสื่อดิจิทัลมีจำนวนมาก และยิ่งมากขึ้นเมื่อใครก็สร้างและเข้าถึงสื่อสารสนเทศบนโลกออนไลน์ได้ จากการสำรวจของกลุ่ม We Are Social และ Hootsuite ใน Digital 2021 Global Overview Report ที่รายงานการใช้อินเทอร์เน็ตและการเข้าถึงสื่อระดับโลก พบว่า ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2563 ประชากรไทยอายุ 16 ถึง 64 ปีใช้งานอินเทอร์เน็ตมากสุดเป็นอันดับ 9 ของโลก เฉลี่ย 8 ชั่วโมง 44 นาทีต่อวัน มากกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งโลกถึงเกือบ 2 ชั่วโมง โดยใช้งาน Social Media เฉลี่ย 2 ชั่วโมง 25 นาทีต่อวัน และอ่านข่าวเฉลี่ยประมาณ 2 ชั่วโมง 2 นาทีต่อวัน
ปริมาณเวลาดังกล่าวเมื่อเทียบกับสัดส่วนต่อวันอาจดูเหมือนยังไม่มากนัก แต่เมื่อเทียบกับข่าวสารในอินเทอร์เน็ตที่เน้นความกระชับ สั้น เข้าใจง่าย เราสามารถรับสื่อสารทนเทศบนโลกออนไลน์ได้เป็นจำนวนมากภายใน 2 ชั่วโมง เนื้อหาเพียงหัวข้อเดียวมีแหล่งข้อมูลมากเป็นร้อยเป็นพันให้เราเข้าถึง แต่ไม่ใช่ทุกแหล่งข้อมูลที่นำเสนออย่างถูกต้อง เราทุกคนในฐานะผู้เข้าถึงสื่อจึงต้องใช้วิจารณญาณเพื่อวิเคราะห์ว่าสื่อใดนำเสนอข่าวจริงและน่าเชื่อถือ สื่อใดนำเสนอข่าวเท็จและควรหลีกเลี่ยง ตัววิจารณญาณนั้นก็คือทักษะ MIDL นั่นเอง
MIDL ย่อมาจากอะไร
MIDL (Media Information and Digital Literacy) เป็นทักษะการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและสื่อดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนเกิดความรอบรู้ และมีวิจารณญาณวิเคราะห์สื่อ รับสื่อ และผลิตสื่ออย่างสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อสังคม แบ่งเป็น 3 ทักษะย่อยคือ
1. Media Literacy คือ การรู้เท่าทันสื่อ เช่น การผลิตสื่อที่เป็นประโยชน์ต่อคนในสังคม
2. Information Literacy คือ การรู้เท่าทันสารสนเทศ เช่น การเลือกรับเฉพาะข้อมูลที่ถูกต้อง การไม่ให้ร้ายผู้อื่นด้วยการสร้างข้อมูลเท็จ
3. Digital Literacy คือ การรู้เท่าทันดิจิทัล เช่น การผลิตและส่งต่อสื่อที่นำเสนอข้อมูลอย่างสร้างสรรค์บนโลกดิจิทัล
ตัวอย่างกิจกรรม MIDL ไม่ได้มีแค่ในวิชาสังคมศึกษาหรือคอมพิวเตอร์
การรู้เท่าทันทั้ง 3 ทักษะย่อยนี้ นักเรียนเรียนรู้ได้ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ในห้องเรียนที่จำลองสถานการณ์ให้นักเรียนได้รับข่าวสารหรือข้อมูลจากแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือแตกต่างกัน หรือการให้นักเรียนวิเคราะห์ว่าเว็บไซต์ที่มีรูปร่างหน้าตาแบบนี้มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ และแหล่งข้อมูลแบบไหนที่นักเรียนควรจะหลีกเลี่ยง พร้อมทั้งอาจร่วมกันอภิปรายในชั้นเรียนถึงประเด็นข่าวปลอม กิจกรรมเหล่านี้ช่วยให้นักเรียนได้รับประสบการณ์การตัดสินใจเลือกรับสื่อ เพื่อปลูกฝังให้นักเรียนมีทักษะ MIDL และนำไปใช้ในชีวิตจริงได้
ทักษะ MIDL นี้มิได้จำกัดเพียงเฉพาะรายวิชาสังคมศึกษา หรือหน้าที่พลเมืองเพียงเท่านั้น ครูสามารถสอดแทรกทักษะ MIDL ผ่านกระบวนการสืบค้นข้อมูลได้ทุกรายวิชา เช่น ตัวอย่างกิจกรรมในรายวิชาภาษาอังกฤษ ระดับประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ครูเปิดโอกาสให้นักเรียนวางแผนสืบค้นข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เพื่อนำไปตอบคำถามหลักของชั้นเรียน แล้วให้นักเรียนทำความเข้าใจข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ และพิจารณาความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล เสริมทักษะให้นักเรียนหัดตีความเนื้อหาข้อมูล และสรุปความรู้จากการสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อหาในชั้นเรียน และสะท้อนคิดอุปสรรคและข้อสังเกตจากกระบวนการสืบค้นข้อมูลภายในชั้นเรียน
ครูเองในฐานะเป็นผู้รับสารก่อนนำมาสอนในห้องเรียน ยิ่งต้องมี MIDL โดยเฉพาะ Information Literacy เพราะครูจะต้องกรองเนื้อหาและข้อมูลในระดับหนึ่ง ก่อนนำมาสอนในห้องเรียน เพื่อให้นักเรียนได้รับสารและเนื้อหาที่ถูกต้อง เช่น ครูอาจกรองเนื้อหาจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือหลายแหล่ง แล้วสังเคราะห์ออกมาเป็นความคิดรวบยอด เพื่อให้นักเรียนได้รับสารที่ถูกต้อง ครบถ้วน และเข้าใจง่าย นอกจากในฐานะครูแล้ว ครูยังต้องมีทักษะ MIDL ในฐานะพลเมืองด้วย ครูต้องมีกรอบความคิดอยู่บนพื้นฐานของ MIDL เพื่อดำรงตนเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ต่อข้อมูลข่าวสาร และเท่าทันต่อสื่อสังคม เมื่อครูมีกรอบความคิด MIDL นี้ในฐานะพลเมืองแล้วครูจะสามารถถ่ายทอดให้กับนักเรียนและคนรอบข้างได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้นอีกด้วย
ครูมีบทบาทสำคัญมากในชั้นเรียนเกี่ยวกับ MIDL ทั้งเป็นปราการด่านสำคัญที่คัดกรองข้อมูลก่อนนำมาสอนในชั้นเรียน และเป็นผู้ปลูกฝังนักเรียนผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ ในชั้นเรียน ไม่ว่าในรายวิชาใดก็สามารถสอดแทรก MIDL ลงในกิจกรรมได้ ดังนั้น ครูจึงควรเป็นผู้ที่ยิ่งต้องเข้าใจ MIDL เพื่อปลูกฝังให้นักเรียนเข้าใจ MIDL และในท้ายที่สุดทั้งครูและนักเรียนก็จะกลายเป็นประชาชนที่รู้เท่าทันสื่อ ข้อมูล และดิจิทัลในสังคมประชาธิปไตยต่อไป
แหล่งอ้างอิง
Kemp, S. (2021, January 27). Digital 2021: Local country headlines. DataReportal – Global Digital Insights. https://datareportal.com/reports/digital-2021-local-country-headlines
Kemp, S. (2021, February 11). Digital in Thailand: All the statistics you need in 2021. DataReportal – Global Digital Insights. https://datareportal.com/reports/digital-2021-thailand
มูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน. (2564, 29 สิงหาคม). คู่มือแนวทางการพัฒนาสมรรถนะการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศและดิจิทัล เพื่อสร้างความเป็นพลเมืองของผู้เรียน. http://cclickthailand.com/wp- content/uploads/2021/08/คู่มือ-MIDL.pdf
สื่อเด็กสร้างสุข. (2560, 31 มีนาคม). พลเมืองเท่าทันสื่อ ต้องมี MIDL. ศูนย์ข้อมูลสื่อสร้างสรรค์เพื่อสุข ภาวะ. https://www.healthymediahub.com/media/detail/พลเมืองเท่าทันสื่อ-ต้องมี-MIDL