Knowledge
Trick คุณครู : สอนอย่างไร ให้รู้เท่าทัน Fake News
2 years ago 2058สื่อมัลติมีเดียกลายเป็นส่วนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อชีวิตมนุษย์ สื่อนั้นได้ปรากฏอยู่รายล้อมการใช้ชีวิตของเราในแทบทุกวัน เราสามารถเข้าถึงสื่อเหล่านั้นได้อย่างรวดเร็วและตอบสนองกับสื่อนั้นอย่างหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นตอบสนองทางด้านอารมณ์ หรือเกิดความเชื่อ ตลอดจนการส่งต่อข้อมูลนั้นต่อไปเรื่อย ๆ ทว่าหากข้อมูลที่แพร่กระจายไปนั้นเป็นข่าวปลอม (Fake News) และมีผู้เชื่อถือจำนวนมากก็ย่อมก่อให้เกิดปัญหาด้านการรับรู้ข่าวสารในวงกว้างต่อผู้ใช้งาน อันถือว่าเป็นปัญหาที่เป็นวิกฤตการณ์อีกอย่างหนึ่งในโลกยุคใหม่ที่เทคโนโลยีเคลื่อนไปอย่างไม่มีสิ้นสุดนี้
ศาสตราจารย์ Linda Jean Kenix ผู้เชี่ยวชาญจาก University of Canterbury ได้ศึกษาว่าในโลกที่สื่อมัลติมีเดียมีผลต่อชีวิตมนุษย์มากเพียงนี้ เราในฐานะผู้ใหญ่ในสังคม โดยเฉพาะครู จะมีวิธีการสอนผู้เรียนให้รู้เท่าทันข่าวปล่อมได้อย่างไร ตลอดจนสอนให้เกิดความคิดเชิงวิพากษ์และมีวิจารณญาณมากพอที่จะใช้ชีวิตได้อย่างฉลาด ซึ่งในวันนี้ EDUCA ขอเชิญคุณครูทุกท่านเรียนรู้วิธีการดังกล่าวนี้เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาการสอนให้นักเรียนเป็นคนที่คิดเป็นและใช้ชีวิตในโลกแห่งเทคโนโลยีนี้ต่อไปได้อย่างชาญฉลาด
ข่าวปลอมถึงแม้จะไม่ใช่ข้อเท็จจริง หรือบางครั้งอาจมีเนื้อหาที่เกินความจริง กระนั้นกระบวนการถ่ายทอดข่าวปลอมก็ยังมีมาอยู่เสมอไม่ว่าจะในยุคสมัยใด อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามความเจริญของเทคโนโลยี ซึ่งสอดคล้องกับคำกล่าวของ John Adams ที่เคยกล่าวไว้ว่า
“จำนวนข่าวปลอมที่ถูกปล่อยออกมาจากสื่อฯ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้นมีมากกว่าข่าวปลอมในอดีตเมื่อ 100 ปีที่แล้วเสียอีก”
คำว่า “สื่อ” อาจสามารถตีความได้หลากหลายรูปแบบ แต่ในที่นี้จะหมายถึงสื่อที่ถูกแพร่กระจายไปตามสื่อ Social Media เพราะข่าวสารต่าง ๆ ไม่ว่าจะจริงหรือเท็จสามารถสื่อผ่านช่องทางดังกล่าวนี้ได้รวดเร็ว และคำพูดเชิงหลอกลวงในสื่อที่ปรากฏอยู่นั้นเมื่อเมื่อมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็มีแนวโน้มที่จะไปแทนที่การส่งต่อความจริง ตลอดจนสามารถทำให้ผู้รับข่าวสารเข้าใจว่า “ข่าวปลอม” คือ “เรื่องจริง” ได้ในที่สุด เพราะตามหลักการแล้ว แม้จะมีการเล่าเรื่องราวที่เป็นความจริงอยู่บ้าง แต่ถ้าความจริงนั้นมีการเล่าขานสืบต่อกับในจำนวนที่น้อยกว่าข่าวปลอม ความจริงนั้นก็ไม่อาจสามารถหักล้างและทดแทนข่าวปลอมได้ในที่สุด
แม้ว่าเทคโนโลยีมีส่วนทำให้เกิดวิกฤตของการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนไปได้ อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีก็ไม่ใช่สาเหตุหลักของปัญหานี้เพียงทีเดียว แต่ยังมีสาเหตุทางด้านจิตวิทยาที่สำคัญร่วมด้วยนั่นคือปัจจัยที่เรียกว่า “ความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและต้องการมีส่วนร่วมทางอารมณ์” กล่าวคือเนื้อหาใดก็ตามที่ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นอารมณ์ (Emotional content) ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์กลัว โกรธ หรือแม้แต่ความรู้สึกสมัครสมานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับผู้ใช้งานคนอื่นในสังคมออนไลน์ สภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นร่วมกันในวงกว้างดังกล่าวมีส่วนขับเคลื่อนให้เกิดการรับรู้และส่งต่อข่าวปลอมที่ทรงพลังยิ่งขึ้น โดยที่ผู้รับสารอาจไม่ทันได้พิจารณาข้อเท็จจริงและความน่าเชื่อถือของข่าวนั้น ดังที่การวิจัยพบว่าค่าเฉลี่ยช่วงเวลาที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตใช้ในการอ่านและพิจารณาความน่าเชื่อถือของข่าว คือ 30 นาทีเท่านั้น
นอกจากเหตุผลด้านจิตวิทยาแล้ว อัลกอริธึม (Algorithm) ก็เป็นอีกสาเหตุสำคัญของปรากฏการณ์นี้ โดยเฉพาะอัลกอริธึมที่ควบคุมโดยบริษัทผลิตสื่อที่สามารถทำให้ผู้ใช้บริการรับรู้ข้อมูลเพียงด้านเดียวและในระยะยาวนั้นก็อาจจะส่งผลให้ผู้ใช้งานเกิดอคติ (Bias) ให้ “เลือกที่จะเชื่อ” ในสิ่งที่ตรงตามจริตและสัญชาตญาณส่วนตน แต่กลับไม่เชื่อในความจริง (Truthiness) และแล้วก็อาจทำให้คนในสังคมขาดวิจารณญาณ (Critical Thinking) ได้
เมื่อทราบกระบวนการส่งต่อข่าวปลอมและปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาการรับรู้ข่าวสารซึ่งส่งผลให้วิจารณญาณของคนถดถอยลงแล้ว การสอนผู้เรียนให้รู้เท่าทันว่าข่าวใดคือข่าวปลอม ข่าวใดคือข่าวจริงนั้นจึงเป็นประเด็นแรกที่ครูควรจะต้องสอน ซึ่งมีวิธีการขั้นแรกคือ การยืนยันข้อมูลว่ามีแหล่งที่มาจากบุคคลใด หรือจากเว็บไซต์ใด และพิจารณาว่าแหล่งข้อมูลดังกล่าวนั้นน่าเชื่อถือเพียงใด ดังเช่นข้อมูลจากเว็บไซต์
ของสำนักข่าวหรือเว็บไซต์หน่วยงานรัฐที่สามารถเชื่อถือได้ในระดับหนึ่ง
วิธีการต่อมาคือการประเมินบริบทที่เกี่ยวข้องกับข่าวหรือข้อมูลที่ได้รับการส่งต่อมา
เนื่องจาก “ข้อเท็จจริงนั้นสามารถปิดบังความจริงได้ เราจึงต้องอาศัยบริบทในการประเมินความน่าเชื่อถือ” (กล่าวโดย Maya Angelou) ยกตัวอย่างเช่น หากมีข่าวประกาศเตือนเรื่องพายุ เราอาจจะต้องหาข้อมูลเกี่ยวกับสภาพอากาศของพื้นที่ที่ระบุในข่าวประกอบการตัดสินใจร่วมด้วย กระบวนการนี้เสมือนกับการรวบรวมชิ้นส่วนเล็ก ๆ ของข้อเท็จจริงให้กลายเป็นจิ๊กซอว์ภาพความจริงที่สมบูรณ์ขึ้น และเมื่อเรามั่นใจแล้วว่าข้อมูลเสริมนั้นสนับสนุนข่าวสารที่มาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ จึงจะสามารถส่งต่อข้อมูลนั้นสู่สื่อสังคมออนไลน์ได้
นอกจากกระบวนการพิจารณาความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล และการค้นหาข้อมูลที่น่าเชื่อถือมาประกอบก่อนการตัดสินใจส่งต่อข่าวสารแล้วนั้น ยังมีข้อเสนอสำหรับการสร้างสังคมที่มีวิจารณญาณต่อการส่งต่อข่าวปลอมและข้อมูลที่บิดเบือน นั่นคือการสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ใช้ เจ้าของแพลตฟอร์มและสื่อ ที่ต้องมีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงอยู่เสมอ โดยเป็นความร่วมมือกันภายใต้การควบคุมของรัฐบาลที่จะต้องสร้างกฎหมายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบิดเบือนและนำเข้าข้อมูลเท็จร่วมด้วย
การสร้างความเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นที่ตัวเราทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณครูที่มีส่วนสำคัญในการสร้างและพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ เพื่อให้ในท้ายที่สุดนักเรียนของเราจะมีทักษะในการสืบเสาะหาความจริง สามารถใช้ชีวิตร่วมกับสื่อในปัจจุบันได้ ตลอดกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในการสร้างการเปลี่ยนแปลงกับวิกฤตการณ์นี้ได้
ที่มา : บรรยาย Workshop หัวข้อ Teaching Critical Thinking In the Era of Fake News โดย Prof. Linda Jean Kenix - University of Canterbury