Video
EDUCA Cafe Podcast: เปิดโลก SkillsFuture พัฒนาครูสิงคโปร์ (2)
4 years ago 3924นาย Ong Ye Kung รมต.ศึกษาธิการของสิงคโปร์ ที่พูดถึง Skillsfuture for Educator ทักษะในอนาคตที่จำเป็นสำหรับนักการศึกษาของประเทศ ต้องการสนับสนุนให้ครูมีสมรรถนะที่สำคัญ SkillsFuture เพื่อตอบโจทย์การเรียนรู้ในปัจจุบัน และอนาคต โดยมี 6 หัวข้อที่ครูสิงคโปร์ต้องการพัฒนา มาเจาะลึก 3 หัวข้อแรกกันก่อน 1. Assessment Literacy การเรียนรู้เรื่องการประเมินผล อีกไม่นานสิงคโปร์จะยกเลิกการสอบ แล้วการประเมินผลต่อไปจะเป็นอย่างไร 2. Differentiated Instruction การจัดการเรียนรู้ให้เด็กที่มีความแตกต่างหลากหลาย เพื่อตอบสนองให้ครบทุกคน 3. Inquiry-Based Learning การเรียนรู้บนฐานการสืบสอบ ออกแบบการเรียนรู้อย่างไร ให้เด็กเป็น Active Learner
Script
สวัสดีค่ะ ยินดีต้อนรับครูผู้ฟังทุกท่าน เข้าสู่ EDUCA CAFÉ PODCAST คุยกันตามภาษา COOL...ครู กับดิฉัน นิภาพร กุลสมบูรณ์ หรือครูนิค่ะ คราวที่แล้วถ้าจำกันได้ เราพูดถึง SkillsFuture for Educator ทักษะสำหรับครูสิงคโปร์ ซึ่งกำลังเป็นเรื่องใหม่ของสิงคโปร์ตอนนี้ เรื่องนี้นะคะเกิดขึ้นจากการที่สิงคโปร์ทำการสำรวจความคิดเห็นของครูว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของภูมิทัศน์การศึกษาทั่วโลก ทักษะและความรู้ประเภทไหนที่ครูสิงคโปร์ต้องการพัฒนามากที่สุด ซึ่งนิได้พูดถึง 6 ตัวสำคัญนะคะ เรื่องที่หนึ่ง เป็นเรื่อง Assessment Literacy หรือความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการประเมิน เรื่องที่สอง Differentiated Instruction การสอนโดยคำนึงถึงความแตกต่างของนักเรียน เรื่องที่สาม Inquiry-Based Learning การเรียนรู้บนพื้นฐานการสืบสอบ เรื่องที่สี่ E-Pedagogy การใช้ศาสตร์การสอนโดยคำนึงถึงเทคโนโลยีดิจิทัลที่นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เรื่องที่ห้า CCE หรือ Character and Citizenship Education การศึกษาเพื่อสร้างคุณลักษณะการเป็นพลเมือง และเรื่องที่หก ก็คือการสนับสนุนเด็กที่มีความต้องการพิเศษ หรือ Support for Student with Special Educational Needs 6 เรื่องสำคัญนะคะ เดี๋ยวนิจะขออธิบายทีละตัว
เรามาเริ่มกันที่ตัวแรกกันเลยค่ะ Assessment Literacy หรือความรู้ทักษะในเรื่องการประเมิน ครูสิงคโปร์มีความต้องการในเรื่องนี้มาก เพราะครูรู้ว่าทักษะการประเมินเป็นเรื่องสำคัญค่ะ เนื่องจากนโยบายการศึกษาของสิงคโปร์กำลังลดทอนการสอบจำนวนมากที่สร้างความตึงเครียดให้กับเด็กๆ เพราะฉะนั้นครูสิงคโปร์จึงอยากจะรู้ว่า ถ้าไม่ใช้เรื่องการประเมินในเรื่องการสอบแล้ว จะใช้การประเมินในรูปแบบใดได้อีกบ้าง และจะรู้ได้อย่างไรว่าการประเมินนั้นมีประสิทธิภาพ ติดตามความก้าวหน้าของนักเรียนได้ เช่นการประเมินโดยใช้โครงงาน ชิ้นงาน การทำ quiz ทดสอบย่อย การให้เด็กๆ นำเสนอ และคุณครูจะใช้เกณฑ์อะไรได้บ้างในการตัดสิน ครูสิงคโปร์ต้องการความรู้ในเรื่องนี้มากค่ะ และก็เห็นพ้องว่าไม่ต้องการให้เด็กๆ มุ่งเรื่องผลการเรียนทางวิชาการ แต่เด็กๆ ควรจะได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะอื่นๆ อีกด้วย ซึ่งในการนำไปใช้นั้น คุณครูจะต้องเข้าใจเป้าหมายของการออกแบบการประเมินที่ชัดเจน และก็จะต้องเสริมสร้างสมรรถนะของตนเองในการที่จะต้องวินิจฉัยให้ได้ว่า เด็กของเราอยู่ในระดับไหน และเป้าหมายของการเรียนรู้ในเรื่องนี้จะเป็นเรื่องใดสำคัญ และค่อยๆ พัฒนาเด็กไปนะคะ
เรื่องที่สอง หรือที่เราเรียกว่า Differentiated Instruction การสอนโดยคำนึงถึงความแตกต่าง เหตุผลที่ครูสิงคโปร์ต้องการ เพราะว่าครูเข้าใจดีว่า ไม่มีนักเรียนคนใดที่เหมือนกันไปซะหมด หรือว่าเรียนรู้ในแบบเดียวกัน สิ่งที่คุณครูจะต้องให้ความสำคัญคือ การอำนวยความสะดวก และช่วยให้เด็กแต่ละคนพัฒนาได้เต็มตามศักยภาพของพวกเขาเหล่านั้นนะคะ เพราะฉะนั้นในการนำไปใช้ คุณครูจะต้องเข้าใจความแตกต่าง ความหลากหลายของเด็ก และออกแบบกลยุทธ์การสอนให้หลากหลายตอบสนองกลยุทธ์การสอนเหล่านั้นได้จริงภายในชั้นเรียนของตน ครูก็เลยสงสัยว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง ซึ่งเรื่องนี้นิคิดว่าครูไทยเองก็มีความสนใจเช่นเดียวกันนะคะ
เรื่องที่สาม Inquiry-Based Learning หรือการเรียนรู้บนพื้นฐานการสืบสอบ เรื่องนี้ถ้าเป็นครูวิทยาศาสตร์คงได้ยินกันบ่อยๆ นะคะ สำหรับคำว่า “สืบสอบ” สำหรับครูสิงคโปร์เหตุผลที่เขาต้องการในเรื่องนี้ก็เพราะว่า เขาอยากจะเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่า ในวิชาอื่นๆ รวมทั้งวิทยาศาสตร์ด้วยนี้ การจัดการเรียนรู้ให้เด็กบนพื้นฐานของการสืบสอบ หรือเราเรียกว่า inquiry-based นี่ทำได้อย่างไร จะมาประยุกต์ใช้ในสาระวิชาของตัวเองได้อย่างไร และครูก็อยากเด็กๆ ของตัวเองนี่สามารถที่จะตั้งคำถามที่มีความหมายในการเรียนรู้ และก็สามารถหาหลักฐานมาช่วยในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ หรือปัญหาที่ซับซ้อน ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นมาก ดังนั้น ครูสิงคโปร์ก็เลยมีความสนใจในเรื่องนี้มากๆ เลย เขาอยากจะรู้ว่านอกจากวิทยาศาสตร์แล้ว สาระอื่นๆ เขาจะเอาไปใช้ได้อย่างไร เพื่อที่จะสร้างการอยากจะเรียนรู้เหล่านี้ให้กับเด็กๆ นะคะ
อันนี้เป็น 3 ตัวแรกที่นิอยากจะนำเสนอ ถ้าท่านสนใจนะคะ เรายังมีอีก 3 เรื่องก็คือ เรื่องศาสตร์การสอน เรื่องการส่งเสริมให้เด็กมีความเป็นพลเมือง และการที่ครูจะช่วยสนับสนุนเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เรามาติดตามกันในตอนต่อไปนะคะ
สำหรับวันนี้เรื่อง SkillsFuture for Educator คงจะทิ้งท้ายให้คุณครูเราได้ทบทวนว่า มีเรื่องไหนล่ะที่ตรงกับความต้องการของครูไทยบ้าง ติดตาม EDUCA ได้ที่ www.educathai.com เรามี เฟซบุ๊กและไลน์@ ด้วยนะคะ และตอนต่อไปจะกลับมาพบกับอีก 3 ประเด็นที่ครูสิงคโปร์ต้องการจะพัฒนาค่ะ วันนี้ สวัสดีค่ะ