Video
EDUCA Cafe Podcast: แผนการกลับมาเปิดโรงเรียนอีกครั้ง: แนวโน้มจากหลายพื้นที่
4 years ago 3919ตัวอย่างจากต่างประเทศในการจัดการวางแผนการเปิดโรงเรียนอีกครั้ง ที่สหรัฐอเมริกามีคำสั่งให้โรงเรียนในทุกๆ รัฐ ปิดทำการ หยุดการเรียนการสอน จนกว่าจะเปิดเทอมใหญ่ครั้งต่อไป แต่ละพื้นที่ทั่วโลกก็มีวิธีจัดการแตกต่างกัน ขึ้นกับ 3 ปัจจัยดังนี้การแพร่กระจายของเชื้อโรคในพื้นที่รุนแรงมากน้อยแค่ไหน โครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข การกำหนดตารางเรียนประจำปีของเขตพื้นที่และประเทศต่างๆ
แนวโน้มทั่วโลก ที่แต่ละประเทศเลือกใช้อย่างกลยุทธ์แรก คือจัดความสำคัญของนักเรียน แบ่งนักเรียนเป็น 3 กลุ่มหลัก ในการเริ่มกลับมาเรียนก่อน บางพื้นที่เริ่มเปิดโรงเรียนโดยนักเรียนประถมศึกษา และมัธยมต้นกลับมาเรียนก่อน เพราะช่วงวัยนี้จะได้รับประโยชน์มากที่สุดจากการเรียนในห้องเรียน และการเข้าสังคมถือเป็นเรื่องสำคัญของช่วงวัยนี้ กลยุทธ์ที่ 2 บางประเทศให้ความสำคัญกับนักเรียนในปีสุดท้าย หรือนักเรียนที่ต้องเปลี่ยนระดับชั้น เพื่อเตรียมความพร้อมให้นักเรียน ส่วนนักเรียนที่ต้องสอบระดับประเทศ ก็ยังจัดให้มีการสอบ แต่ต้องมีการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) กลยุทธ์ที่ 3 ให้นักเรียนระดับใกล้เคียงมาเรียนร่วม และบางที่ก็ให้ความสำคัญกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ที่มีปัญหากับการเรียนทางไกล กลยุทธ์ต่อไปคือการปรับตารางเรียน เพื่อรักษาระยะห่างทางสังคม โดยคำนึงถึงบริบทของสังคม วัฒนธรรม ความพร้อมของแต่ละครอบครัวด้วย
อ้างอิง: Pfister, M. (2020). Top performers’ plans to reopen schools: Key trends. Retrieved May 27, 2020, from http://ncee.org/2020/05/top-performers-plans-to-reopen-schools-key-trends/
Script
สวัสดีค่ะ ยินดีต้อนรับคุณครูผู้ฟังทุกท่าน เข้าสู่ EDUCA CAFÉ PODCAST คุยกันภาษา Cool...ครู กับ ดิฉัน นิภาพร กุลสมบูรณ์ หรือครูนิค่ะ วันนี้เราจะกลับมาพูดคุยกันอีกครั้งนึง ของการกลับมาเปิดโรงเรียนของประเทศชั้นนำทางด้านการศึกษา จากบทความของ NCEE (National Center on Education and Economy) ในบทความที่มีชื่อเรื่องว่า "Top Performers’ Plans to Reopen Schools: Key Trends" เรื่องราวมีดังต่อไปนี้ค่ะ
ในขณะที่ทุกๆ รัฐในสหรัฐอเมริกากำลังสั่งให้โรงเรียนปิดทำการและหยุดการเรียนการสอนจนกว่าจะมีการเปิดเทอมใหญ่อีกครั้ง ในประเทศอื่น ๆ เขตพื้นที่การศึกษาอื่น ๆ ก็เริ่มมีการตัดสินใจให้มีการเปิดโรงเรียนอีกครั้งนึงกันแล้วนะคะ แล้วก็ในการเปิดเรียนในหลาย ๆ ประเทศเนี่ยมีสิ่งที่จะต้องคำนึงถึงเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องอยู่สามประการค่ะ ประการแรกก็คือ ความแตกต่างของสถานการณ์การแพร่เชื้อ ว่ามีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน ประการที่สองนะคะก็คือเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางด้านสาธารณสุข ประเทศหรือเขตพื้นที่ที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ค่อนข้างเข้มแข็งนะคะ ก็อาจจะมีโอกาสที่จะกลับมาเปิดโรงเรียนได้เร็วกว่า และประการที่สามก็คือการกำหนดตารางเรียนประจำปีของเขตพื้นที่หรือประเทศต่าง ๆ
ตอนนี้นะคะ เราจะมาดูกันว่าแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลกเป็นอย่างไรบ้าง โดยทั่วไปแล้วนะคะ ในหลายประเทศจะมีการจัดลำดับความสำคัญโดยการแบ่งนักเรียนออกเป็นสามกลุ่มหลักให้เริ่มกลับมาเรียนกันก่อน ส่วนหลากหลายประเทศจะเริ่มกลับมาเปิดเรียนอีกครั้ง โดยเริ่มจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก่อนนะคะ โดยในบางประเทศก็อาจจะรวมเด็กหลาย ๆ กลุ่มไว้ด้วยกัน แต่บางประเทศก็เลือกเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เรามาดูกันค่ะ
กลยุทธ์ที่ 1 นะคะ ก็คือการเริ่มเปิดเรียนโดยให้นักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมต้น กลับมาเรียนก่อน เพราะเขาคิดว่าเด็กที่อยู่ในช่วงเด็กเล็กแต่พอยังช่วยเหลือตัวเองได้อย่างวัยประถมศึกษาและมัธยมเนี่ย จะได้รับประโยชน์ที่สุดจากการเรียนในห้องเรียน เพราะฉะนั้นก็จำเป็นที่จะต้องกลับมาเรียนก่อน ที่สำคัญคือนอกจากเรื่องวิชาการแล้ว การเข้าสังคมก็เป็นสิ่งที่เด็กในวัยประถมศึกษาและก็มัธยมตอนต้นเนี่ย จำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดนะคะ ยิ่งเมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองเนี่ยต้องกลับไปทำงานตามปกติแล้ว เด็กกลุ่มนี้ก็จำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลค่ะ
กลยุทธ์ที่ 2 นะคะ ในบางประเทศเนี่ย เขาก็ให้ความสำคัญกับนักเรียนในปีสุดท้าย นั่นก็คือนักเรียนในระดับมัธยมปลายนะคะ หรือว่านักเรียนที่จะต้องมีการเปลี่ยนชั้น เพราะนักเรียนเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อที่จะสำหรับการศึกษาในระดับนั้น ๆ และเข้าสู่การเรียนในระดับชั้นต่อไปนะคะ และในบางประเทศที่นักเรียนจะต้องเตรียมตัวการสอบระดับประเทศเนี่ย ก็จำเป็นที่จะต้องมีการสอบเกิดขึ้นนะคะ แต่ว่าก็ยังต้องมีระยะห่างทางสังคม และสิ่งเหล่านี้เด็กที่โตกว่าก็จะทำได้ดีกว่าเด็กเล็ก ก็เลยเปิดให้กับกลุ่มนักเรียนระดับที่มีการเปลี่ยนแปลงระดับชั้นนะคะ
กลยุทธ์ที่ 3 ก็คือมีการนำนักเรียนที่อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันมารวมกันนะคะ หรือในบางพื้นที่ก็จะให้ความสำคัญมาก ๆ กับเด็กที่มีความต้องการเฉพาะ เพื่อการสนับสนุนเด็กเป็นรายบุคคล ในที่นี้ก็หมายถึงเด็กที่มีความต้องการพิเศษนะคะ เด็กเหล่านี้จะมีปัญหากับการเรียนรู้ทางไกลมากที่สุดค่ะ รวมทั้งพวกนักเรียนอาชีวะด้วยที่ต้องฝึกภาคปฏิบัติ หรือที่เราเรียกว่า hands-on นะคะ ก็มีการปรับให้เด็กกลุ่มที่มีความต้องการพิเศษและก็เด็กอาชีวะเหล่านี้กลับมาเรียนก่อนค่ะ
นอกจากนั้นนะคะ สิ่งที่สำคัญที่ทุกคนจะต้องตระหนักถึงก็คือการรักษาระยะห่างทางสังคมและทางกายภาพ แล้วก็ต้องจัดการเรียนรู้ หลาย ๆ พื้นที่ก็มีการปรับการเรียนการสอนแบบตารางเต็มวัน ให้เป็นตารางเรียนครึ่งวันนะคะ เพื่อคงไว้ซึ่งระยะห่างทางสังคม แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า แต่ละพื้นที่ต้องคำนึงถึงบริบทของครอบครัวด้วยนะคะ เพราะว่าแต่ละครอบครัวเองก็มีความรู้สึกสบายใจในระดับที่ต่างกัน บางครอบครัวอาจต้องการให้เด็กกลับเข้าสู่โรงเรียน เพราะว่าพ่อแม่มีความจำเป็นต้องกลับเข้าไปทำงานตามปกติ แต่ในบางครอบครัวก็อยากจะมีความปลอดภัย หรือว่ายังกังวลใจที่จะให้เด็กเข้ามาที่โรงเรียนนะคะ เพราะฉะนั้นควรคำนึงถึงบริบทของสังคม วัฒนธรรม แล้วก็ความพร้อมและสมัครใจของครอบครัวค่ะ ซึ่งความแตกต่างกันในเรื่องนี้ ทำให้เกิดผลลัพธ์ก็คือในหลาย ๆ พื้นที่ มีการจัดการเรียนรู้ทางไกลดำเนินควบคู่ไปกับการเรียนการสอนในห้องเรียนปกติ กล่าวคือ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ครอบครัวไหนอยากจะให้เด็ก ๆ กลับเข้ามาเรียนในห้องเรียน โรงเรียนก็พร้อม แต่ถ้าครอบครัวไหนยังไม่สบายใจ อยากจะเรียนที่บ้าน ก็สามารถจัดการศึกษาทางไกล โดยคุณพ่อคุณแม่ช่วยดูแลได้
เหล่านี้คือแผนการกลับมาเปิดเรียนอีกครั้งของประเทศที่เป็นประเทศชั้นนำด้านการศึกษานะคะ บทความนี้ทำให้เกิดคำถามขึ้นมากมาย เช่น ในเมื่อมีการจัดการได้อย่างหลากหลาย พวกเราจะสนับสนุนคุณครูอย่างไรให้สามารถจัดการนักเรียนหรือว่าจัดการเรียนรู้ที่มีความหมายได้ ในเมื่อนักเรียนบางคนของคุณครู ก็กลับเข้าสู่ห้องเรียน ในขณะที่นักเรียนอีกส่วนหนึ่งก็อยากจะเรียนรู้ทางไกลกับที่บ้าน คุณครูจะต้องเผชิญกับปัญหาการจัดการเรียนรู้ที่ไม่คุ้นเคยนะคะ ภาครัฐ หรือว่าผู้อำนวยการโรงเรียนหรือฝ่ายวิชาการจะช่วยสนับสนุนคุณครูอย่างไร เหล่านี้ยังเป็นคำถามที่เราจะต้องร่วมกันหาคำตอบ สร้างตัวอย่างแนวการปฏิบัติที่ดีและมีคุณค่า เพื่อที่จะช่วยเหลือทุก ๆ ฝ่ายในช่วงวิกฤตการณ์นี้ค่ะ
ตอนท้ายนะคะ Key Takeaways สำคัญก็คือ เราจะแบ่งกลยุทธ์ได้เป็น 3 อย่าง กลุ่มที่ 1 ก็คือการกลับมาเปิดที่ละระยะ ให้ความสำคัญกับกลุ่มที่มีความต้องการพิเศษก่อน เช่น เด็กเล็ก หรือเด็กที่อยู่ในช่วงรอยต่อของปีการศึกษาหรือระดับชั้นนะคะ กลุ่มที่ 2 คือการสลับตารางเวลาเรียน เพื่อที่จะลดจำนวนนักเรียนในแต่ละชั้นลง อาจจะมาแบบแค่ครึ่งวันหรือว่าเต็มวันแต่มาเป็นบางวัน และกลุ่มที่ 3 ก็คือการให้มาโรงเรียนตามความสมัครใจ เพื่อให้เป็นทางเลือกของครอบครัวนะคะ บางครอบครัวอาจจะส่งเด็กมาโรงเรียน ในขณะที่บางครอบครัวถ้าสะดวกก็ช่วยจัดการเรียนรู้ทางไกลกับเด็ก ๆ ได้
เหล่านี้คือกลยุทธ์ที่ EDUCA นำมาฝากคุณครูและผู้บริหารทุกท่านนะคะ สำหรับวันนี้คงจะอัปเดตข่าวคราวกันแค่นี้ ยังคงเป็นกำลังใจให้กับทุกคนในการเตรียมพร้อมสำหรับเปิดเทอมนี้ ถ้าท่านสนใจที่จะอัปเดตความรู้และติดตามความรู้ใหม่ ๆ เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของคุณครูนะคะ สามารถติดตาม podcast ของ EDUCA ได้ใน podbean หรือว่า YouTube ด้วยนะคะ EDUCA ยังมีเฟซบุ๊ก และ Line@ สามารถเข้าไปติดตาม EDUCA ได้ใน www.educathai.com แล้วพบกันใหม่ในตอนต่อไปนะคะ สวัสดีค่ะ