Video
EDUCA Cafe Podcast: ปรัขญาการสอนสไตล์ครูๆ
4 years ago 3516การปรับแก่นความคิด ปรัชญาการสอนของครูภายใต้สถานการณ์ วิกฤตการณ์โควิด 19 ครูมีความเชื่อในเรื่องการสอน และการเรียนรู้ของเด็กๆอย่างไร สำหรับครูหลายคน แล้วความเชื่อในงานการสอนของพวกเขา ไม่ได้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานจริงของตัวเองเลย
อ้างอิง:
Tombrella, A. (2020, May 18). Revising Your Teaching Philosophy for This Crisis. Retrieved June 4, 2020, from https://www.edutopia.org/article/revising-your-teaching-philosophy-crisis
Script
สวัสดีค่ะ ยินดีต้อนรับครูผู้ฟังทุกท่านเข้าสู่ EDUCA CAFÉ PODCAST คุยกันภาษาครู...COOL กับดิฉัน นิภาพร กุลสมบูรณ์ หรือครูนินะคะ วันนี้เราจะมาพูดคุยกันถึงเรื่องการปรับปรัชญาการสอนของครูภายใต้สถานการณ์วิกฤตการณ์ COVID-19 ค่ะ เนื้อหาในวันนี้ EDUCA เรียบเรียงจากบทความ “Revising Your Teaching Philosophy for Distance Learning" จากเว็บไซต์ Edutopia.org ซึ่งเขียนโดยคุณครู Aaron Tombrella ซึ่งมีเนื้อหาที่น่าสนใจมากค่ะ แล้วก็ทีม EDUCA เรียบเรียงมาเล่าให้ท่านฟังในวันนี้ค่ะ
คุณครูคะ คุณครูมีปรัชญาความเชื่อในเรื่องการสอน และการเรียนรู้ของเด็กๆ อย่างไรคะ ถ้าให้คุณครูลองกล่าวสั้น ๆ สักประโยค คุณครูพอจะพูดได้ไหมคะ
ครูทราบไหมคะ ว่าครูหลายคน มีความเชื่อ มีความคิด และมีปรัชญาการสอนของพวกเขา แต่ในการทำงานจริงเนี่ย สิ่งที่เขาคิดและเชื่อไม่ได้สอดคล้องกับสิ่งที่เขาทำเลยค่ะ เช่น คุณครูหลายคนเชื่อว่านักเรียนจะเรียนรู้ได้ดีเมื่อพวกเขาได้ลงมือทำ แต่ในการจัดการเรียนรู้หรือว่าการสอนของคุณครู คุณครูก็ยังสอนแบบบอกเล่าเรื่องราว chalk and talk หรือว่าบรรยายให้ฟังอยู่ มีครูท่านไหนเป็นแบบนี้ไหมคะ
ในช่วงวิกฤตการณ์การระบาดของโรค COVID-19 นะคะ ทำให้เราได้กลับมาทบทวนกันอีกครั้งหนึ่งค่ะ เพราะบริบทการเรียนรู้ของเด็ก ๆ เปลี่ยนแปลงไป เด็ก ๆ ต้องเรียนรู้จากทางไกล หรือที่เราเรียกว่า distance learning ตรงนี้ วิกฤตน่าจะเป็นโอกาสดีค่ะ ที่ครูอย่างเราจะได้มาทบทวนปรัชญาการสอนของเราอีกครั้งหนึ่ง ทำให้เราวางจุดหมายได้ชัดเจน และทำให้เราออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมและก้าวผ่านวิกฤตการณ์นี้ไปด้วยกันค่ะ
วันนี้มีบทเรียนจากคุณครู Aaron ค่ะ คุณครู Aaron ก็เหมือนกับพวกเรานะคะ ต้องปรับการเรียนการสอน จากการที่ได้พบหน้ากันในชั้นเรียน มาเป็นการสอนแบบออนไลน์โดยมีเวลาในการเตรียมความพร้อมน้อยมาก คุณครู Aaron พยายามจะสอนแบบออนไลน์โดยครูใช้วิธีการลอกเลียนแบบกระบวนการการจัดการเรียนรู้ที่เคยใช้อยู่ในห้องเรียนตามปกติมาใช้ผ่านเครื่องไม้เครื่องมือ โปรแกรมต่าง ๆ และทำทั้งหมดให้เป็นทั้งหมดในแบบออนไลน์ แล้วก็สอนกับเด็ก ๆ เหล่านั้นค่ะ ทำไปได้สักพัก คุณครู Aaron ก็เริ่มฉุกคิดค่ะ ว่าตัวเองอาจจะคิดผิด เพราะคุณครูสังเกตว่า มีปัญหาที่เกิดขึ้น ก็คือ นักเรียนในชั้นเรียนของคุณครู Aaron เนี่ยไม่ได้รู้สึกผูกพันหรือสนใจการเรียนรู้เหมือนกับในห้องเรียน ทั้งที่ก็ใช้กระบวนการที่เหมือนกันเลย มีใครเป็นแบบนี้บ้างไหมคะ
คุณครู Aaron จึงสงสัยมาก ๆ นะคะ และเขาก็อยากจะเรียนรู้ว่าเป็นเพราะอะไรหรือว่าบริบทการเรียรู้ทีเ่ปลี่ยนแปลงไป เด็ก ๆ อยู่ในสถานที่ที่แตกต่าง ไม่ได้มาอยู่รวมกัน พวกเขาอยู่ที่บ้าน คุณครูพยายามคิดค่ะ ว่ามันเป็นเพราะอะไรได้บ้าง และสิ่งที่สำคัญก็คือคุณครู Aaron รู้สึกว่าทิศทางที่เขาเดินมาน่าจะผิด ควรจะกลับไปทบทวนเรื่องปรัชญาการสอน กำหนดเป้าหมายใหม่อีกครั้ง ครูใช้เวลาทั้งสัปดาห์เลยค่ะ ในการทบทวนความคิดของตัวเอง แล้วก็รู้สึกว่าเขาต้องทำให้ได้ เพราะว่าถ้าเกิดช่วงนี้เขาสิ้นหวังเนี่ย ลูกศิษย์ของเขาก็คงจะรู้สึกสิ้นหวังตามกันไปอย่างแน่นอน ครู Aaron กลับมาทบทวนความเชื่อเกี่ยวกับปรัชญาการสอนของเขาค่ะ แล้วก็ประยุกต์ใช้ปรัชญานั้นกับสถานการณ์ใหม่นี้
ปรัชญาการสอนคืออะไร ปรัชญาการสอนก็คือความเชื่อและความคิดในเรื่องการสอนและการเรียนรู้ ซึ่งบ่อยครั้งถ้าคุณครูได้ลองเรียบเรียงหรือเขียนออกมา สิ่งที่เราคิดอยู่ในใจว่าเป็นความคิดและความเชื่อสำคัญสัก 1 หน้ากระดาษ เพื่อที่จะอธิบายว่า การสอนที่ดี การจัดการเรียนรู้ที่ดี มันจะมีวิธีการอย่างไร และเราเนี่ยคิดว่ามันเป็นเพราะอะไร ทำไมเราถึงต้องจัดการเรียนการสอนแบบนี้ นั่นแหละค่ะ คือปรัชญาการสอน และปรัชญาการสอนนี้จะอยู่เหนือทุกการตัดสินใจของเรา มันจะชี้นำแนวทางในการปฏิบัติ ในการออกแบบการเรียนรู้ของเราค่ะ
ยกตัวอย่างเช่น เราเชื่อว่า เรามีปรัชญาการสอนว่า “ความแตกต่างในชั้นเรียนเป็นสิ่งสำคัญ และหน้าที่ของครูคือการช่วยให้นักเรียนทุกคนประสบความสำเร็จ” หรือเราเชื่อว่า “จังหวะของบทเรียนเป็นสิ่งสำคัญ ครูต้องสังเกต และสิ่งเหล่านี้จะช่วยลดปัญหาพฤติกรรมของเด็กในการเรียนรู้ได้”
ถ้าครูเชื่ออย่างนี้นะคะ ในการออกแบบการเรียนการสอน ครูก็จะต้องทำให้เกิดความต่อเนื่องแล้วก็สอดคล้องกับสิ่งที่ครูเชื่อ ออกมาเป็นแบบรูปธรรมค่ะ แต่เมื่อต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์เนี่ย มันจะเป็นไปได้ไหมคะ ว่าคุณครูจะต้องทำอย่างไร เรื่องนี้คุณครูจะต้องคิดทบทวนนะคะ
เรื่องจึงเริ่มต้นว่า คุณครู Aaron กลับมาทบทวนเขียนปรัชญาการสอนของตัวเองอีกครั้งหนึ่งค่ะ ครั้งแรกเขาเขียนออกมายาวถึง 5 ย่อหน้าเชียวนะคะ แล้วหลังจากนั้นเขาก็มาสรุปเป็นประเด็นสำคัญ เช่น ประเด็นแรกเขาเขียนยาว ๆ ว่า “ความสามารถในการสร้างบางสิ่งบางอย่างนั้นสำคัญ แต่ก็ทบทวนว่ามันมีความจำเป็นต่อการเรียนรู้ของนักเรียนไหม และสร้างความสำเร็จในการเรียนรู้ได้หรือเปล่า” เขียนแบบนี้ เขาเองก็ยังงง ๆ นะคะ เขาคิดทบทวนสักครู่ค่ะ แล้วก็สรุปเป็นสาระสำคัญว่า “มโนทัศน์ (concept) เป็นสิ่งสำคัญในการเรียนรู้”
ประเด็นที่ 2 ค่ะ คุณครูเขาเขียนว่า “วิธีที่จะนำนักเรียนไปสู่ผลลัพธ์ต่าง ๆ มีความสำคัญ แต่ก็ไม่น้อยไปกว่าตัวผลลัพธ์เอง” ก็คือทั้งวิธีและก็กระบวนการมีความสำคัญ จากนั้นครู Aaron ก็ย่อใจความประโยคนี้ว่า “กระบวนการสำคัญเหนือกว่าผลลัพธ์”
ในประเด็นที่ 3 ครูเขาเขียนบรรยายไว้ว่า “แม้ว่าเราจะมีความตั้งใจอย่างดีที่สุดขนาดไหน หากนักเรียนของเราเชื่อมโยงเข้าหาบทเรียน โรงเรียน เพื่อน ๆ และก็ครูของพวกเขา นักเรียนของเราก็อาจจะต้องเผชิญกับความยากลำบากในการเรียนรู้” พอเขียนจบครู Aaron ก็สรุปค่ะว่า “กฎของความสัมพันธ์นั้นสำคัญมากในการเรียนรู้”
และนี่คุณครูเขาก็สรุปออกมานะคะว่า ปรัชญาการสอนของครู Aaron ประกอบด้วย 3 ข้อความสำคัญ คือ มโนทัศน์เป็นเรื่องสำคัญ กระบวนการเหนือกว่าผลผลิต และกฎของความสัมพันธ์มีความสำคัญยิ่ง ซึ่งถ้าเป็นประโยคภาษาอังกฤษก็มี 3 ประเด็นนะคะ คือ Concepts are crucial. Process over product. Relationships is really important. เพราะฉะนั้นครูก็สรุปออกมาเป็นหลักว่า CPR ตามความสำคัญและเพื่อให้เข้าใจง่าย ๆ ค่ะ
นี่ก็เป็นปรัชญาการสอนที่คุณครู Aaron เชื่อแบบนี้นะคะ เดี๋ยวในตอนต่อไป เราจะมาฟังกันว่าแล้วเขาจะสร้างให้เกิดการสอนที่เป็นรูปธรรม เป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ได้อย่างไรท่ามกลาววิฤตการณ์โรคระบาดนี้ ติดตามต่อไปนะคะ
และสำหรับครูผู้สนใจอยากจะฟัง podcast ของ EDUCA ต่อเนื่อง ท่านสามารถฟังได้ที่ podbean หรือติดตามใน Youtube เฟซบุ๊ก และ Line@ ของ EDUCA นะคะ หรือจะเข้าไปตามที่ www.educathai.com ได้ค่ะ แล้วพบกันใหม่ในครั้งต่อไป สวัสดีค่ะ