Knowledge

แค่ไม่เก่งเลข หรือมีปัญหาด้านการคำนวณ  ครูจะสังเกตและคัดกรองเด็กได้อย่างไร

แค่ไม่เก่งเลข หรือมีปัญหาด้านการคำนวณ ครูจะสังเกตและคัดกรองเด็กได้อย่างไร

 5 years ago 8905

          ทำไมบางครั้งโจทย์เลขข้อเดียวกัน สำหรับเด็กคนหนึ่งถึงเป็นเรื่องง่าย แต่กับเด็กอีกคนกลับกลายเป็นเรื่องยาก จนครูต้องปวดหัว ไม่รู้จะใช้วิธีไหนมาอธิบายให้เด็กเข้าใจ บางทีก็เผลอคิดไปเองว่า นี่เราสอนไม่ดีเอง หรือเด็กอาจไม่ถนัดทางด้านนี้จริงๆ
          ส่วนหนึ่งของเด็กที่ครูพบว่ามีปัญหานี้อาจเป็นเด็ก MLD หรือ Math Learning Disabilities คือเด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ด้านคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นประเภทหนึ่งของโรคบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD) ที่จะมีความบกพร่องด้านการอ่าน การเขียน หรือการคิดคำนวณ ด้านใดด้านหนึ่งหรือทุกด้านเลยก็ได้ แต่เด็กยังคงมีสติปัญญาในระดับปกติ
          โดยส่วนมาก เด็ก LD ที่พบจะมีปัญหาด้านการอ่านและการเขียนถึง 70-80 % ส่วนน้อยเท่านั้นที่จะพบว่าเป็น MLD แล้วครูจะรู้ได้อย่างไรว่า เด็กของเราแค่ไม่เก่งเลข หรือมีปัญหาทางการเรียนรู้ด้านคณิตศาสตร์จริงๆ เรามีวิธีสังเกตให้ง่ายๆ ดังนี้

  1. เด็กจะใช้กระบวนการคิดคำนวณที่ต่ำกว่าวัย เช่น อยู่ ป.3 แต่คิดเลขได้เท่า ป.1
  2. ใช้ขั้นตอนการคำนวณที่ไม่ถูกต้อง หรือผิดพลาดบ่อย
  3. ไม่เข้าใจกระบวนการที่ใช้ในการคำนวณ
  4. มีความยากลำบากในการคำนวณปัญหาที่มีหลายขั้นตอน

         ไม่เก่งเลข หรือมีปัญหาด้านการคำนวณ

          หากครูพบว่าเด็กมีลักษณะตามที่ว่ามา อาจใช้แบบคัดกรองเข้าช่วย เพื่อเช็กว่าเด็กมีปัญหาทางการเรียนรู้ด้านคณิตศาสตร์ในเรื่องอะไร

  1. การจำแนกตัวเลข เด็กมีปัญหาเรื่องนี้ไม่ค่อยเยอะ เมื่อเทียบกับการอ่านเขียน เด็กที่มีปัญหาด้านนี้ อาจไม่สามารถแยกความต่างของเลขที่มีลักษณะคล้ายกันเหล่านี้ได้ เช่น 8 กับ 3 / 2 กับ 5 / 36 กับ 39 
  2. กระบวนการนับ ใช้หุ่นมือเป็นตัวนับ แล้วให้เด็กตอบว่า หุ่นมือนับถูกหรือผิด
    กฎของการนับ
    • หนึ่งเสียงเท่ากับหนึ่งจำนวน
    • เสียงสุดท้ายของการนับเป็นค่าของจำนวนที่นับ เด็กที่บกพร่องทางสติปัญหาจะไม่เข้าใจกฎข้อนี้
    • เมื่อสิ่งของเรียงกันหรือไม่เรียงกัน เราจะนับอย่างไรก็ได้ ถ้าเราไม่นับซ้ำ เราจะได้ค่าของจำนวนที่เรานับ
  3. การแทนค่าประจำหลัก เด็กสามารถบอกค่าประจำหลักของเลข และวงกลมภาพเท่ากับจำนวนของค่าประจำหลักได้
  4. กระบวนการบวก ทดสอบวิธีที่เด็กใช้บวกเลขและความถูกต้องของคำตอบ โดยใช้บัตรโจทย์เลข เช่น เด็กใช้การนับนิ้วหรือการนับปากเปล่า ถ้านับนิ้ว นับแบบไหน นับทั้งหมด นับต่อ หรือยกนิ้ว
  5. การแก้โจทย์ปัญหา ให้เด็กแก้โจทย์บวก ลบ โดยครูแสดงบัตรโจทย์ปัญหา พร้อมอ่านโจทย์ให้เด็กฟัง เด็กสามารถใช้เหรียญที่จัดไว้ให้ เพื่อช่วยในการคำนวณได้
  6. การบวกและลบตามแนวตั้งและแนวนอน ให้เด็กแก้โจทย์ปัญหา แล้วเขียนคำตอบลงกระดาษ ควรให้เด็กแสดงวิธีทำลงในกระดาษด้วย เพื่อที่ครูจะได้เห็นกระบวนการคิดของเขา

 

ไม่เก่งเลข หรือมีปัญหาด้านการคำนวณ

          ในชั้นเรียนจริง ครูอาจพบเด็กที่มีปัญหาด้านการเรียนรู้คณิตศาสตร์ที่แตกต่างกันไป เด็กบางคนอาจบวกเลขโดยการนับนิ้วหรือนับปากเปล่าได้ แต่เมื่อทำโจทย์ที่ต้องเขียนคำตอบลงกระดาษจริง เด็กกลับลืมทด ทำให้ได้คำตอบที่ผิด การใช้แบบคัดกรองนี้เข้าช่วยจะทำให้ครูรู้ว่า เด็กของเรากำลังมีปัญหาทางการเรียนรู้ด้านคณิตศาสตร์ในเรื่องไหนกันแน่ จะได้หาวิธีช่วยเหลือเด็กต่อไป

          สิ่งสำคัญของการสอนคณิตศาสตร์สำหรับเด็กคือ ครูต้องทำให้เด็กเห็นภาพชัดเจน สิ่งของที่เด็กสามารถหยิบจับได้จริง เช่น เหรียญ Base ten blocks ยังคงจำเป็นและควรนำมาใช้เป็นตัวช่วย ให้เด็กเห็นภาพในการคิดคำนวณชัดขึ้น

การคัดกรองเด็กที่มีปัญหาการเรียนรู้ด้านคณิตศาสตร์ (Math Learning Disabilities)
โดย ดร. สิริลักษณ์ โปร่งสันเทียะ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา  ในงาน EDUCA 2019
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ


TAG: #Math Learning Disabilities #Mld #ปัญหาด้านการคำนวณ #คณิตศาสตร์