Knowledge

สร้างนักวิทยาศาสตร์ตัวจิ๋วได้ตั้งแต่ปฐมวัย ด้วยการจัดการเรียนรู้แบบสืบสอบ (Inquiry-based Learning)

สร้างนักวิทยาศาสตร์ตัวจิ๋วได้ตั้งแต่ปฐมวัย ด้วยการจัดการเรียนรู้แบบสืบสอบ (Inquiry-based Learning)

 4 years ago 5377

แปลและเรียบเรียง: ภรณี ลัคนาภิเศรษฐ์
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

          “โตขึ้นอยากเป็นอะไร” คำถามยอดฮิตที่ครูทุกคนน่าจะเคยถามนักเรียนกันมาไม่รู้กี่รุ่นต่อกี่รุ่น เช่นเดียวกับที่นักเรียนทุกคนล้วนเคยตอบคำถามนี้มาแล้วทั้งสิ้น คำตอบของนักเรียนล้วนหลากหลาย เต็มไปด้วยไอเดียสร้างสรรค์ บางคนก็อยากเป็นหมอ ทหาร ครู นักวิทยาศาสตร์ หลังๆ มานี้มีไม่น้อยเลยที่อยากเป็นยูทูปเบอร์ หรือไม่ก็นักแคสเกมตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

          อาชีพเหล่านี้เราอาจมองว่าเป็นเรื่องเร็วเกินไปที่ผู้ใหญ่จะปลูกฝังทักษะบางอย่างที่จำเป็น เช่น หมอหรือนักวิทยาศาสตร์ แต่การศึกษาจากต่างประเทศยืนยันว่า เราสามารถฝึกฝนทักษะการคิดแบบนักวิทยาศาสตร์ได้กับเด็กเล็กๆ อย่างเด็กปฐมวัยได้ไม่ต่างจากเด็กวัยอื่น ซึ่งทักษะนี้พัฒนาได้จาก การจัดการเรียนรู้แบบสืบสอบ (Inquiry-based Learning)

          ในสหรัฐอเมริกา Emma Näslund-Hadley และ Rosangela นักเศรษฐศาสตร์การศึกษาจาก Inter-American Development Bank และ Paul Gertler จาก University of California, Berkeley ได้ทำการทดลองจำนวน 10 ครั้ง กับนักเรียนกว่า 17,000 คน ใน 4 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา เบลิซ ปารากวัย และเปรู เพื่อดูว่าการจัดการเรียนรู้แบบสืบสอบจะช่วยพัฒนานักเรียนในวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ได้จริงหรือไม่

          ในการศึกษานี้นักวิจัยกำหนดแบบสุ่มให้โรงเรียนเลือกว่าจะใช้การจัดการเรียนรู้เแบบใดในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ระหว่างการจัดการเรียนรู้แบบสืบสอบหรือแบบมาตรฐาน โดยนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการนี้เป็นนักเรียนจาก 3 ระดับชั้นคือ ปฐมวัย ป.3 และ ป.4 National Bureau of Economic Research รายงานผลการศึกษาว่า นี่คือการทดลองแบบสุ่มที่ใหญ่ที่สุดที่มีเด็กปฐมวัยเข้าร่วมด้วยเป็นครั้งแรก เช่นเดียวกับระดับชั้นประถมศึกษา

          โดยปกติเมื่อเราเรียนวิทยาศาสตร์ที่ต้องทำการทดลองในชั้นเรียน บางครั้งครูมักจะทำการทดลองหน้าห้อง โดยที่นักเรียนไม่ได้มีโอกาสลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง นี่คือความแตกต่างของบทเรียนในห้องเรียนทั่วไปกับห้องเรียนที่จัดการเรียนรู้แบบสืบสอบ ที่ประเทศเบลิซ หากครูจะสอนเรื่องอัตราส่วน ครูมักจะอธิบายให้นักเรียนฟังถึงนิยามของคำนี้ก่อน แล้วยกตัวอย่างโจทย์พื้นฐานให้ดู จากนั้นนักเรียนก็จะใช้เวลาที่เหลือไปกับการแก้โจทย์ปัญหา ก่อนที่จะทำแบบทดสอบกันต่อไป แต่ในชั้นเรียนที่ใช้การจัดการเรียนรู้แบบสืบสอบ สิ่งที่เกิดขึ้นจะตรงกันข้าม บทเรียนจะมาจากชีวิตประจำวันของนักเรียน ในเมื่อห้องเรียนมีทั้งนักเรียนที่ใส่เสื้อแขนสั้น และแขนยาวอยู่แล้ว ครูจึงเปรียบเทียบจำนวนนักเรียนที่ใส่เสื้อแต่ละแบบ จากนั้นให้นักเรียนจับคู่กัน แล้วบอกว่านิยามของคำว่าอัตราส่วนของคู่ตัวเองคืออะไร

          ในการศึกษานี้นักวิจัยได้เปรียบเทียบช่วงคะแนนของข้อสอบมาตรฐานวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ของนักเรียนแต่ละกลุ่มก่อนที่จะเริ่มใช้การจัดการเรียนรู้แบบสืบสอบ แล้วเปรียบเทียบอีกครั้งในอีก 7 เดือนถัดมา พวกเขาพบว่า นักเรียนในชั้นเรียนที่จัดการเรียนรู้แบบสืบสอบอย่างน้อย 4 วันต่อสัปดาห์ จะมีพัฒนาการในวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์มากกว่านักเรียนในชั้นเรียนปกติ นักเรียนหลายระดับชั้นจากทั่วโลกล้วนได้ประโยชน์ไม่ต่างกันจากการจัดการเรียนรู้รูปแบบนี้ ไม่เว้นแม้แต่เด็กปฐมวัย การคิดเชิงวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้สำหรับเด็กที่อายุยังน้อยมากๆ โดยไม่จำเป็นต้องท่องจำแต่อย่างใด

          สำหรับครูที่สนใจจะจัดการการเรียนรู้แบบสืบสอบ เพื่อพัฒนากระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ให้แก่นักเรียน เราสามารถใช้หลักจำง่ายๆ ที่เรียกว่า CER ซึ่งมาจาก Claim (คำกล่าวอ้าง) + Evidence (หลักฐาน) + Reasoning (การใช้เหตุผล) = Explanation (คำอธิบาย) จากโมเดลนี้ การอธิบายประกอบไปด้วย
- คำกล่าวอ้างที่ตอบคำถามที่เราตั้งไว้
- หลักฐานจากข้อมูลของนักเรียน
- การใช้เหตุผลที่เกี่ยวข้องกับหลักการทางวิทยาศาสตร์

          สำหรับนักเรียนในระดับที่สูงกว่าปฐมวัย ครูอาจให้นักเรียนอ่านข่าวจีนส่งจรวด “ลองมาร์ช-5” ไปดาวอังคาร คลิก https://www.thairath.co.th/news/foreign/1895819 แล้วตอบคำถามเหล่านี้
1. นักวิทยาศาสตร์อยากรู้เรื่องอะไร
2. พวกเขาจะเก็บข้อมูลอะไรบ้าง
3. ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยนักวิทยาศาสตร์ตอบคำถามของพวกเขาได้อย่างไร

          นอกเหนือจากการฝึกฝนนักเรียนวันละเล็กวันละน้อยด้วยการจัดการเรียนรู้แบบสืบสอบ เพื่อสร้างทักษะการคิดเชิงวิทยาศาสตร์แล้ว สิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การจุดประกายความสงสัยใคร่รู้ของนักเรียน โดยไม่ต้องกังวลว่าเขาจะเด็กเกินไปที่จะเรียนรู้หรือไม่ เพราะนี่เองคือแรงผลักดันที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนวงการวิทยาศาสตร์โลกให้ก้าวไปอย่างไม่มีวันหยุดนิ่ง

อ้างอิง:
Sparks, S. (2020, April 27). Students Learn More From Inquiry-Based Teaching, International Study Finds. Retrieved August 07, 2020, from https://www.edweek.org/ew/articles/2019/10/09/students-learn-more-from-inquiry-based-teaching-international.html

Brunsell, E. (2012, September 25). Designing Science Inquiry: Claim + Evidence + Reasoning = Explanation. Retrieved August 10, 2020, from https://www.edutopia.org/blog/science-inquiry-claim-evidence-reasoning-eric-brunsell


TAG: #การเรียนรู้แบบสืบสอบ #Inquiry-based Learning #IBL #วิทยาศาสตร์ #คณิตศาสตร์ #การจัดการเรียนรู้แบบสืบสอบ