Knowledge

5 วิธีช่วยครูเปลี่ยนความคิดเด็กเกี่ยวกับคณิตศาสตร์

5 วิธีช่วยครูเปลี่ยนความคิดเด็กเกี่ยวกับคณิตศาสตร์

 2 years ago 4989

เอกปวีร์ สีฟ้า

          เมื่อพูดถึงวิชาที่ยากหรือวิชาที่เด็กไม่ชอบ คณิตศาสตร์ก็น่าจะเป็นหนึ่งในคำตอบที่เด็ก ๆ ตอบกันเยอะ สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าไม่รู้ประโยชน์ของการเรียนคณิตศาสตร์ บางครั้งก็เป็นนามธรรมสูง และมองเป็นเรื่องไกลตัว ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว วิชานี้ไม่ได้สอนแค่การคำนวณตัวเลข แต่ยังช่วยส่งเสริมการใช้เหตุผลเชิงตรรกะ การคิดเชิงวิพากษ์ ความสามารถในการแก้ปัญหา และยังเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในชีวิตประจำวันอีกด้วย

1. สร้างความรู้สึกเชิงบวกต่อวิชาคณิตศาสตร์ให้นักเรียน
          เมื่อนักเรียนเกิดอาการท้อใจจากการทำโจทย์ไม่ได้ ครูควรจะให้กำลังใจและพยายามช่วยค้นหาสาเหตุ จากนั้นผลักดันให้นักเรียนแก้ไขจุดบกพร่องนั้น พร้อมเสนอความช่วยเหลือให้นักเรียนมาถามได้ หากพยายามใช้ความสามารถของตนเองอย่างเต็มที่แล้ว เพื่อให้นักเรียนมองเห็นแนวทางในการพัฒนาและไม่ยอมแพ้ที่จะก้าวข้ามโจทย์ต่าง ๆ ที่ท้าทายความสามารถของตน

2. สอนโดยเน้นการทำความเข้าใจมากกว่าท่องจำ
          ครูสามารถเปลี่ยนจุดเน้นของบทเรียนจากการเน้นย้ำให้นักเรียนท่องจำสูตร บทนิยาม หรือทฤษฎีบทต่าง ๆ ด้วยการหาโจทย์ปัญหาที่หลากหลายมาให้นักเรียนฝึกคิด จากนั้นร่วมกันพูดคุยเกี่ยวกับหลักการสำคัญที่ใช้ในการแก้โจทย์ข้อนั้น ๆ ยิ่งนักเรียนเจอโจทย์ประยุกต์ที่มีการพลิกแพลงจากแบบฝึกในหนังสือเรียนแล้วสามารถทำได้มากเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้นักเรียนเข้าใจถึงหลักการหรือแนวคิดเบื้องหลังของสูตรคณิตศาสตร์นั้นได้มากขึ้น

สอนยังไงให้เด็กชอบเรียนเลข

3. ตั้งคำถามกระตุ้นให้นักเรียนฝึกคิด
          ครูสามารถตั้งคำถามให้นักเรียนคิดเกี่ยวกับความรู้และสูตรทางคณิตศาสตร์ที่เด็ก ๆ มักท่องจำ เพื่อกระตุ้นให้เด็ก ๆ ได้ฝึกคิดและตั้งคำถาม เกิดเป็นการเรียนรู้และสร้างวิธีใช้ความรู้ของตนเอง ตัวอย่างคำถาม เช่น “รูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนเป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านขนานหรือไม่ เพราะเหตุใด” “ทําไมเราจึงไม่สามารถระบุได้ว่าจํานวนอตรรกยะที่มากที่สุดคือจํานวนใด” “ทําไมเราวัดความยาวของเส้นตรงไม่ได้ แต่วัดความยาวของส่วนของเส้นตรงได้” “เราจะเขียนจํานวนอตรรกยะซึ่งเป็นทศนิยมไม่รู้จบบนเส้นจํานวนได้หรือไม่ ถ้าได้มีวิธีการเขียนอย่างไร” “ในการคูณทศนิยมด้วยทศนิยม ทําไมผลลัพธ์ที่ได้จึงมีจํานวนตําแหน่งทศนิยมเท่ากับผลรวมของตําแหน่งทศนิยมของตัวตั้งและตัวคูณ” เป้าหมายปลายทางอาจไม่ใช่การบอกที่มาหรือคำตอบของคำถามเหล่านั้น แต่เป็นการมีพื้นที่ให้พวกเขาได้ลองใช้ความคิดของตนอย่างอิสระ

4. ชวนนักเรียนคิดโดยใช้สถานการณ์ในชีวิตประจำวัน
          ครูสามารถออกแบบโจทย์ที่มีการเรียงลำดับความยากจากง่ายไปยาก โดยพิจารณาจากความรู้พื้นฐานของเด็กนักเรียนห้องนั้น แล้วค่อยปรับเปลี่ยนเงื่อนไขของปัญหาให้ท้าทายขึ้น พยายามถามที่มาและเหตุผลกับนักเรียนบ่อย ๆ ตัวอย่างเช่น โจทย์ : หากเราทราบว่าแก้วทรงกระบอกที่ใช้อยู่มีปริมาตร 200 มิลลิลิตร และต้องการใช้แก้วใบนี้ตวงน้ำปริมาตร 100 มิลลิลิตร เพื่อนำไปผสมเครื่องปรุงหมูแดงผงสำเร็จรูป สามารถทำได้โดยวิธีใดบ้าง ตัวอย่างการแก้ปัญหา : หากไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใด ๆ ให้ นักเรียนอาจตอบว่าใช้กระดาษหรือเชือกวัดความสูงจากฐานแก้วถึงระดับน้ำในแก้ว หรือทำขีดระดับน้ำที่แก้วไว้ แล้วหาวัสดุที่เป็นระนาบและน้ำไม่สามารถไหลผ่านได้มาวางปิดปากแก้ว แล้วคว่ำแก้วลง หากนักเรียนสามารถตอบวิธีแก้ปัญหานี้ได้ อาจจะเพิ่มความซับซ้อนโดยการกำหนดเงื่อนไขไปว่าไม่ให้มีการใช้อุปกรณ์ใดเลย จากนั้นค่อยแนะวิธีคิดเพื่อให้นักเรียนเชื่อมโยงความรู้เรื่องปริมาตรของทรงกระบอกไปสู่การหาปริมาตรครึ่งหนึ่งของทรงกระบอก สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายของคำตอบ ของโจทย์คำถามข้อเดียว

สอนยังไงให้เด็กชอบเรียนเลข

5. เชื่อมโยงคณิตศาสตร์เข้ากับสิ่งที่นักเรียนสนใจ
เกมกับเด็กถือว่าเป็นของคู่กัน โดยเฉพาะในนักเรียนระดับประถมศึกษา การจัดกิจกรรมสนุก ๆ เกี่ยวกับคณิตศาสตร์จึงถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจมาก ตัวอย่างเกม เช่น Dice Jumping กิจกรรมนี้มีไว้สำหรับปัญหาทางคณิตศาสตร์อย่างง่ายที่ให้นักเรียนฝึกทักษะการบวกเลขและทำให้เป็นรูปธรรมชัดเจน วิธีการเล่นเริ่มจากการให้นักเรียนทุกคนยืนเป็นวงกลมปล่อยให้มีพื้นที่ว่างตรงกลาง แล้วให้นักเรียนคนหนึ่งไปอยู่ตรงกลางวงกลม จากนั้นทอยลูกเต๋าจำนวน 2 ลูก แล้วหาผลรวมของแต้มจากหน้าลูกเต๋าที่ทอยได้ จากนั้นตะโกนคำตอบเพื่อให้เด็กทุกคนกระโดดอยู่กับที่ตามจำนวนครั้งของผลรวมของลูกเต๋า เล่นต่อไปจนกว่านักเรียนทุกคนจะได้ออกมาทอยลูกเต๋าครบ

          หากเป็นนักเรียนที่โตขึ้นมาหน่อย การให้นักเรียนค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพที่พวกเขาสนใจว่าใช้ทักษะทางคณิตศาสตร์อย่างไรบ้าง จะช่วยให้มองเห็นถึงเป้าหมายในการเรียนคณิตศาสตร์มากขึ้น และไม่รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว

          การพัฒนาทักษะทางคณิตศาสตร์ให้เด็ก สิ่งแรกที่ครูควรทำคือการสร้างความรู้สึกเชิงบวกให้เด็ก ทำให้เด็กตระหนักถึงความสำคัญของวิชาคณิตศาสตร์จนเกิดเป็นแรงจูงใจที่จะเรียนรู้ เมื่อพวกเขาเปิดใจแล้วก็คอยกระตุ้นให้คิด ฝึกฝน และเชื่อมโยงคณิตศาสตร์เข้าไปในชีวิตประจำวันของพวกเขา โดยการตั้งต้นคำถามก่อนจะบูรณาการเรียนรู้ว่า ในชีวิตจริงเราจะใช้ทักษะทางคณิตศาสตร์นี้อย่างไร หากครูสามารถช่วยให้เด็กสนุกกับการเรียนรู้คณิตศาสตร์ได้ ก็เท่ากับว่าได้เปิดประตูแห่งการเรียนรู้บานใหญ่ให้กับพวกเขาแล้ว

แหล่งอ้างอิง
Nemeth, K. (2017, October). Make Math Meaningful for Diverse Learners. Teaching Young Children. https://www.naeyc.org/resources/pubs/tyc/oct2017/make-math-meaningful-diverse-learners

Walkington, C. (2019, August 16). Five Ways to Make Math More Meaningful. Insidesources. https://insidesources.com/five-ways-to-make-math-more-meaningful/

Your Therapy Source. (2016, August 4). Movement Activities and Math Skills. https://www.yourtherapysource.com/blog1/2016/08/04/movement-math/

ณัฐดนัย เนียมทอง. (2561, 12 กันยายน). คณิตศาสตร์กับกระบวนการการเรียนรู้ด้วยตนเอง. SciMath. https://www.scimath.org/article-mathematics/item/8403-2018-06-01-02-56-04

นิวัฒน์ สาระขันธ์. (2564). สอนอย่างไรให้นักเรียนเกิดทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์. Journal of Roi Kaensarn Academi, 6(4), 202-218. https://so02.tci-thaijo.org/index.php/JRKSA/article/view/247700


TAG: #คณิตศาสตร์ #กิจกรรมการเรียนรู้ #การแก้โจทย์ปัญหา #ไอเดียการสอน #สูตรคณิตศาสตร์ #คณิตในชีวิตประจำวัน #การคำนวณ #เกมคณิตศาสตร์ #สื่อการสอนคณิตศาสตร์ #ทักษะทางคณิตศาสตร์ #เรียนเลขให้สนุก