Knowledge
สนุกยกห้องด้วยโจทย์เลขข้อเดียว
4 years ago 4909แปลและเรียบเรียง: ภรณี ลัคนาภิเศรษฐ์
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ
ถ้าถามนักเรียนว่าไม่ชอบวิชาอะไรมากที่สุด เชื่อได้ว่านักเรียนหลายคนรีบยกมือโหวตให้กับวิชาคณิตศาสตร์อย่างแน่นอน อะไรทำให้นักเรียนมองว่าคณิตศาสตร์คือยาขม เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะพวกเขาเรียนแล้วไม่เข้าใจ เลยไม่รู้สึกว่าสนุก และมองไม่เห็นว่าบางเรื่องจะนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร แต่อีกเหตุผลหนึ่งที่น่าสนใจ และเกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดการเรียนรู้โดยตรงคือ โจทย์ที่ครูให้ในชั้นเรียนมีความท้าทายเพียงพอสำหรับนักเรียนทุกคนแล้วหรือยัง ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนที่เก่ง ปานกลางหรืออ่อน เพราะหากโจทย์นั้นมีได้แค่คำตอบเดียว คนที่ตอบได้คนแรกก็มักจะเป็นนักเรียนที่เก่ง ส่วนนักเรียนที่เหลือก็อาจรอให้เพื่อนที่เก่งกว่าคิดหาคำตอบไป
เข้าใจนักเรียนผ่านวิธีคิดของพวกเขา
ไม่ใช่เรื่องผิดหากครูให้นักเรียนแก้โจทย์เลขที่มีคำตอบได้เพียงคำตอบเดียว ที่จริงแล้ววิธีนี้ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีทำให้ครูเข้าใจนักเรียนแต่ละคนได้มากขึ้น คำตอบที่ถูกต้องอาจไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดเท่ากับวิธีคิดของพวกเขา เพราะนี่คือตัวสะท้อนความรู้ความเข้าใจ และการใช้ตรรกะในการแก้ปัญหา
ตัวอย่างโจทย์สำหรับนักเรียน ป.3
พ่อมีหน้าต่างบานใหญ่ 3 บานที่ต้องทำความสะอาดในห้องรับแขก
หน้าต่างแต่ละบานมีกระจกอยู่ 3 แถว แถวละ 4 บาน
มีกระจกที่ต้องทำความสะอาดทั้งหมดกี่บาน
ครูลองบันทึกดูว่า นักเรียนจะมีวิธีคิดออกมาได้กี่วิธี นักเรียนมีความรู้คณิตศาสตร์ และประสบการณ์อย่างไรในการแก้โจทย์ข้อนี้
สิ่งที่อาจเกิดขึ้นในชั้นเรียน
A รอให้ครูอธิบายเพิ่มเติม
B วาดรูปหน้าต่าง 1 บาน แล้วนับบานกระจก
C วาดรูปหน้าต่าง 3 บาน แล้วนับหน้าต่าง ไมได้นับบานกระจก
D ใช้เครื่องหมายบวก 4 + 4 + 4 + 4 + 4 + 4 + 4 + 4 + 4
E ใช้เครื่องหมายบวก 4 + 4 + 4 = 12; 12 + 12 + 12 = 36
F ใช้เครื่องหมายคูณและบวก 3 x 4 = 12 และ 12 + 12 + 12 = 36
คำตอบของนักเรียนสะท้อนอะไร
ครูต้องเข้าใจคำตอบที่แตกต่างกันของนักเรียน และมองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างคณิตศาสตร์กับการแก้โจทย์ปัญหา ในกรณีนี้นักเรียนบางคนอาจคิดว่าหน้าต่างคือวัตถุที่ต้องนับแทนที่จะเป็นบานกระจก บางคนใช้เครื่องหมายบวกซ้ำๆ แทนที่จะใช้เครื่องหมายคูณ ส่วนบางคนก็ใช้เครื่องหมายบวกร่วมกับเครื่องหมายคูณ คำตอบของนักเรียนทำให้เห็นว่า การจัดกระบวนการเรียนรู้ และปฏิสัมพันธ์ที่ครูมีต่อนักเรียนต้องได้รับการตอบสนองให้เข้ากับความคิดและการสื่อสารของนักเรียนด้วย
A ควรพึ่งพาตัวเองให้มากขึ้น เพื่อที่ครูจะได้ถามต่อว่า “โจทย์นี้ให้นักเรียนทำอะไร” เราใช้หลักคิดอะไร 2 อย่างในการแก้โจทย์นี้ได้บ้าง
A B C ควรทำโจทย์ที่เหมาะกับความรู้ทางคณิตศาสตร์ของตัวเอง เช่น หน้าต่าง 1 บาน มีกระจก 2x6 แผ่น และหน้าต่างอีกบานมีกระจก 3x4 แผ่น หน้าต่างบานไหนมีกระจกเยอะกว่า
E ควรปรับมาใช้เครื่องหมายคูณ ครูควรให้ตัวเลขที่มีค่ามากขึ้น ที่ทำให้หากใช้การบวกแทนการคูณแล้ว จะมีความยุ่งยากมากกว่า
D และ E ควรเรียนรู้การใช้เครื่องหมายคูณ ซึ่งช่วยให้คิดคำนวณได้ง่ายขึ้น แต่ครูต้องย้ำว่าคำตอบที่นักเรียนตอบมาครั้งแรกนั้นถูกต้องแล้ว
F ต้องดูว่าสิ่งที่นักเรียนรู้อยู่แล้วคืออะไร เพื่อที่สุดท้ายแล้วจะได้ปรับมาใช้การคูณแทนการบวก
โจทย์ที่ท้าทายคือโจทย์ที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้
ห้องเรียนที่นักเรียนทุกคนมีส่วนร่วมกับบทเรียน คือห้องเรียนในฝันสำหรับครูอย่างแท้จริง หัวใจของการเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง และสร้างการมีส่วนร่วมได้ดีคือ ครูต้องหาโจทย์ที่ท้าทาย เป็นโจทย์ที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นโจทย์ที่ไม่ได้มีคำตอบเพียงหนึ่งเดียว หากครูโยนโจทย์ลักษณะนี้ให้นักเรียนได้ทำทุกวันสัก 10-15 นาที เป็นเวลา 1 สัปดาห์ แม้แต่ในห้องเรียนออนไลน์ก็พบว่าโจทย์ลักษณะนี้ช่วยสร้างการมีส่วนร่วมให้นักเรียนได้เช่นเดียวกัน นักเรียนจะพัฒนาการคิดอย่างลึกซึ้ง และการยืดหยุ่นความคิดได้มากขึ้น
ยกตัวอย่าง ครูให้ตัวเลข 1-4 นักเรียนจะทำอย่างไรก็ได้ให้คำตอบเท่ากับ 5 โดยมีกฎว่าต้องใช้ตัวเลขให้ครบทุกตัว วิธีที่นักเรียนคิดมีความเป็นไปได้หลากหลาย เช่น
(3 + 4 – 2) ÷ 1
12 – 4 – 3
23 – 4 + 1
นักเรียนบางคนอาจจะคิดนอกกรอบสุดๆ ด้วยการนำตัวเลข 1 และ 2 มาต่อกันกลายเป็น 12 แบบนี้ก็ทำได้เช่นเดียวกัน เพราะเกมนี้มีกฎข้อเดียวคือต้องใช้ตัวเลขให้ครบทุกตัว ขณะที่นักเรียนกำลังนั่งคิดอยู่นั้น ครูก็จะเรียกนักเรียนที่คิดออกแล้วมาเขียนวิธีการของตัวเองลงบนกระดาน วิธีนี้จะส่งเสริมให้เกิดการสนทนากันว่าแต่ละวิธีเป็นอย่างไร ขณะเดียวกันนักเรียนที่ยังคิดไม่ออกก็รู้ว่าตัวเองยังมีโอกาสค้นพบวิธีอื่นที่ไม่ซ้ำกับเพื่อนอยู่ และมองเห็นความเป็นไปได้ต่างๆ มากมายจากแนวคิดของเพื่อน
เมื่อนักเรียนทุกคนล้วนแตกต่างกันในชั้นเรียน ครูควรเปิดโอกาสในนักเรียนที่ไม่ได้โดดเด่นมากได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ต่อหน้าเพื่อนๆ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีในการสร้างแรงจูงใจที่ดีในการเรียนรู้ พวกเขาจะได้รับการยอมรับจากเพื่อนผ่านโจทย์ปัญหาปลายเปิดที่ครูมอบให้ โจทย์ท้าทายที่เหมาะสมกับความสามารถของนักเรียนจะช่วยต่อยอดความคิดจากฐานความรู้เดิมของพวกเขา เป็นการเปลี่ยนวิชาที่ดูเหมือนจะเป็นยาขมของนักเรียนจำนวนมากให้กลายเป็นสิ่งที่พวกเขาเล่นสนุกด้วยได้
อ้างอิง
Telfer-Radzat, K. (2020, June 08). A Simple Math Activity That Engages All Students. Retrieved July 07, 2020, from https://www.edutopia.org/article/simple-math-activity-engages-all-students
SECRETARIAT.(2008, September). Differentiating Mathematics Instruction. Retrieved July 07, 2020, from http://www.edu.gov.on.ca/eng/literacynumeracy/inspire/research/different_math.pdf